‘โซเชียลมีเดีย’ต้นตอ‘ภาวะซึมเศร้า’
[/p]
[b]“ภาวะซึมเศร้า” ในทางจิตเวชถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย[/b] โดยจากข้อมูลล่าสุดของกรมสุขภาพจิตได้ออกมาเปิดสถิติผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันแล้วว่าเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 500,000 คน แต่ก็ยังเชื่อว่ามีอีกมากที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา
นอกจากความกดดันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้ว [b]พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกว่า “ดราม่า” บนโลกโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น[/b] โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ต้องการสร้างตัวตน ต้องการการยอมรับ เมื่อไม่เป็นไปตามที่คาดหวังความเครียดจะเป็นจุดเริ่มต้นและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในที่สุด
ทั้งนี้ [b]ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมาจะพบความนิยมใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงความเป็นตัวตนหลักๆ เริ่มมาตั้งแต่ “ไฮไฟว์” ตลอดจน “เฟซบุ๊ก” “อินสตาแกรม” รวมไปถึงห้องสนทนาผ่านเว็บไซต์ต่างๆ[/b] ที่ได้รับความนิยมมากไม่ว่าจะเป็นในหมู่คนเดินดินกินข้าวแกง ยันดารานักแสดง และคนที่มีชื่อเสียงของประเทศ และก็มีดราม่าให้เห็นกันทุกวัน
ยิ่งตอนนี้[b]เด็กเจนเนอเรชั่นใหม่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยี และแอพพลิเคชั่นมากมายที่มีทั้งดีและไม่ดี หากใช้อย่างไม่ระวัง ไม่เหมาะสม ไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง อนาคตจึงน่ากังวลปัญหาสุขภาพจิตมากในหลาย ๆ เรื่อง[/b]ตั้งแต่ความรุนแรง ความเครียด ภาวะซึมเศร้า นี่ยังไม่นับรวมปัญหาอาชญากรรมที่อาศัยข้อมูลบนโซเชียลมีเดียอีกมากมาย
แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เองก็เพิ่งจะโดนโซเชียลมีเดียทำร้ายมาไม่นานนี่เอง “ทั้งนี้ [b]ถ้าหากผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้วการเล่นโซเชียลมีเดียก็ค่อนข้างจะเป็นอันตราย อาจกระตุ้นให้แสดงออกถึงอารมณ์ได้[/b] เพราะทำให้เกิดการรับสารมากเกินไป และคนกลุ่มนี้จะจิตใจเปราะบาง อ่อนไหว ทำให้อาการของโรคแย่ลง” พญ.มธุรดา กล่าว
สอดคล้องกับ [b]พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า[/b] อาการของโรคซึมเศร้า แต่ละคนจะแสดงอาการไม่เหมือนกัน แต่หลักๆ คือ [b]มีลักษณะพฤติกรรมที่แปลกไปอย่างชัดเจนจนคนรอบข้างรู้สึกได้ อาการโดยทั่วไป คือ[/b] มองตนเองในแง่ลบ หรือมองโลกในแง่ร้าย เบื่อหน่าย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่อยากทำอะไร [b]ซึ่งบางคนอาจแสดงออกในทางตรงกันข้าม คือ[/b] ไม่มีสมาธิ ลุกลี้ลุกลน กินจนหยุดไม่ได้ อยากนอนตลอดเวลา ทำเรื่องเสี่ยง ๆ เป็นต้น
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และพญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์