ปฏิรูปการเมือง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
[/p]
[b]ปฏิรูปการเมือง หรือบางครั้งก็เลยไปถึงปฏิรูปประเทศ กำลังกลายเป็นประเด็นสำหรับการ "เลือกข้าง" ทางการเมือง เพราะทุกฝ่ายทุกสีเห็นพ้องกันมานานแล้วว่า ต้องปรับเปลี่ยนกลไกและกติกาทางการเมืองของประเทศ[/b] ไม่เฉพาะแต่ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญเท่านั้น (เช่น ข้อเสนอ 70:30 หรือวุฒิสมาชิกทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้ง) แต่รวมความเป็นจริงในทางปฏิบัติด้วย เช่น อำนาจของกองทัพ, การตรวจสอบตุลาการจากภายนอก, การศึกษา และสวัสดิการของรัฐอื่นๆ แม้ว่าบางฝ่ายไม่ได้ใช้คำว่า "ปฏิรูป" เลยก็ตาม
[b]คุณสุเทพจึงไม่ใช่คนแรกที่เรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง[/b] เสียงเรียกร้องนี้ดังมานานจนกระทั่งคุณสุเทพมองเห็นว่า มีเสน่ห์ที่จะหาการสนับสนุนทางการเมืองได้ง่ายต่างหาก จริงที่ว่า ปฏิรูปการเมืองกับปฏิรูปประเทศเป็นสองอย่างที่แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะในความจริง [b]"การเมือง" ที่หมายถึงรูปแบบภายนอกของการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ[/b] มิได้ลอยอยู่ในสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นจากความเป็นจริงที่อยู่เบื้องล่าง ของอำนาจจริง และความสัมพันธ์เชิงอำนาจจริงที่มีอยู่ในสังคม
[b]อำนาจนี้มาจากไหน คำตอบก็คือมาจากเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อนของสังคมนั้นเอง[/b] ซึ่งอย่างไรเสียก็ต้องเกิดระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจขึ้นในเงื่อนไขนั้นๆ หรือเรียกว่า "การเมือง" ในความหมายที่เป็นจริงกว่าความสัมพันธ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น "เจ้าพ่อ" ย่อมสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นในหลายลักษณะที่ไม่มีกฎหมายใดกำหนดไว้ แต่อำนาจของ "เจ้าพ่อ" นั้นมีจริง และทำงานได้จริงจนกระทบต่อ "การเมือง" ที่เป็นทางการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ [b]เราไม่อาจจัดการกับ "การเมือง" ที่เป็นทางการ โดยไม่จัดการอะไรเลยกับ "การเมือง"[/b] ที่เป็นจริงในชีวิตของผู้คนได้
[b]ภาษา ทางวิชาการเรียก "การเมือง" ที่เป็นทางการว่าโครงสร้างส่วนบน (superstructure) ตั้งอยู่ได้ก็เพราะมีโครงสร้างส่วนล่างที่เป็นจริงด้านต่างๆ คอยหนุนอยู่[/b] เมื่อส่วนที่เป็นจริงเบื้องล่างเปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้การเมืองที่เป็นโครงสร้างส่วนบนเปลี่ยนไปด้วย ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในการเมืองระดับโครงสร้างส่วนบน สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างส่วนล่างที่ยังไม่ลงตัว
นิธิ เอียวศรีวงศ์