ธรรมะ-พระจริยาของสมเด็จพระสังฆราช
“หลังจากที่พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วได้มีพระดำริ ในการสร้างวัดในจังหวัดต่างๆ เช่น ชลบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย และอาตมาได้รับมอบหมายให้ดูการสร้างวัด พระองค์ได้ประทานนโยบายว่า การจะสร้างวัดในที่ใดๆ จะต้องมีชาวบ้านในที่นั้นๆ และต้องไม่ไปเรี่ยไรหรือบอกบุญ เพราะจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ถ้าชาวบ้านอยากร่วมบุญก็ไม่ขัดข้อง”
อดีตพระเลขานุการฯ เล่าต่อว่า สมเด็จฯ จะรับสั่งเสมอว่าต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปตามระเบียบของการสร้าง วัด ไม่ให้ข้ามขั้นตอน เช่น ที่ที่จะสร้างวัดต้องมีเนื้อที่ตามกฎหมายกำหนด 6 ไร่ขึ้นไป ไม่เป็นป่าอนุรักษ์ เป็นต้น และทรงย้ำว่าอย่าถือว่าเป็นวัดที่สังฆราชไปสร้าง เพราะถ้าไปทำในส่วนที่ผิดก็จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่วัดทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่อยากจะสร้างวัดในอนาคตที่มักจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
[b]ทรงพระเมตตาต่อคนและสัตว์[/b]
พระธรรมบัณฑิต กล่าวต่อว่า พระเกียรติคุณหนึ่งที่เห็นตลอดเวลาที่ถวายงาน คือ ทรงมีพระเมตตาสูงทั้งต่อคนและสัตว์ ทุกครั้งที่เสด็จไปต่างจังหวัด เมื่อเห็นญาติโยมจะทรงสนทนาพูดคุยแบบเป็นกันเอง เพื่อให้สร้างความคุ้นเคย โดยครั้งหนึ่งไปเจอคนแก่นั่งกินหมากก็เข้าไปทักทายและมีรับสั่งถามว่า กินหมากมานานหรือยัง โยมแม่ของอาตมาก็กินเหมือนกัน แต่เหตุการณ์ที่เห็นแล้วประทับใจ ก็คือครั้งที่ทรงเผชิญหน้ากับควายขณะออกบิณฑบาตผ่านทุ่งนา
“ครั้งหนึ่งสมเด็จฯ เสด็จไปสกลนคร วัดท่านอาจารย์วัน (ปกติจะทรงบิณฑบาตทุกวัน) ตอนเช้าจึงเสด็จออกบิณฑบาตผ่านทุ่งนา โดยอาตมาเดินตามและพระอีกจำนวนหนึ่ง พอเดินไปได้ 2 กิโลเมตร ก็ไปเจอควาย ซึ่งควายจะไม่ถูกกับพระอยู่แล้ว เพราะสีจีวรมันขัดกับตาของมัน พอมันเห็นก็ไม่พอใจ จะวิ่งเข้าใส่ สมเด็จฯ ไม่หยุด เดินไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 เมตรก็หยุด ทรงยืนนิ่ง 34 นาที อาตมาอยู่ด้านหลังใจเต้นตุบๆ แต่สักพักควายก็ยกหัวขึ้นแล้ววิ่งหนีไป พอควายไปแล้ว ก็ทูลถามว่าทรงว่าคาถาอะไร ก็รับสั่งว่าแผ่เมตตาให้เขา ต่างคนต่างมีหน้าที่ปฏิบัติทางใครทางมัน”
อดีตพระเลขานุการฯ เล่าต่อว่า ช่วงที่ควายวิ่งเข้ามานั้นพระองค์ไม่ได้รับสั่งกับพระที่ติดตามว่าให้ระวัง ทั้งที่โดยทั่วไปถ้าใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็จะต้องบอกทุกคนให้ระวัง แต่วันนั้นไม่รับสั่งอะไร กลับทรงยืนนิ่งประจันหน้ากับควาย
[b]แสดงธรรมเข้าใจง่าย ไม่อ้างอาจารย์[/b]
อดีตพระเลขานุการฯ เล่าพระจริยาอย่างหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชว่า ทุกครั้งที่แสดงธรรมจะทรงแสดงธรรมแบบง่ายๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจและไม่ทรงอ้างเรื่องอภินิหาร แต่สิ่งหนึ่งที่แปลกกว่าอาจารย์ทั้งหลายและน่าจะเป็นแบบอย่างสำหรับพระสงฆ์ ทั้งหลายในการที่จะเทศน์สอนชาวบ้านในปัจจุบัน คือ จะทรงอ้างพระพุทธเจ้าตลอด ไม่อ้างธรรมของพระอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก