กัญจนา ศิลปอาชา...กับวันสบายใต้ดวงตา “แม่” ของลูกที่ต้องนั่งรถเข็น
[b]คุณนาดูแลน้องแคทมานานหรือยัง[/b] - นาดูแลน้องมาตั้งแต่ ๓ ขวบ ตอนนี้น้องอายุ ๑๘ ขวบ แล้ว วันแรกที่เจอน้อง คือวันที่น้องลงข่าวหน้า ๑ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เป็นเด็กเล็กที่ถูกทารุณอย่างรุนแรงที่สุด สภาพยับเยิน หนังกำพร้าหลุดทั้งแผ่นหลัง โดนมีดกรีด บุหรี่จี้ ใช้ดัมเบลทุบ หัวกระแทกพื้น ทั้งที่จริงน้องแคทเกิดมาเป็นเด็กปกติทุกประการ แต่โดนพ่อเลี้ยงกระทำตั้งแต่น้องอายุได้ ๒ ขวบครึ่ง จนถึง ๓ ขวบ
วันแรกที่เป็นข่าว นาชวนคุณแม่ไปดู แล้วพาลูกไปรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ ๒ เดือน จนถึงวันที่หมอบอกว่าอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์แล้ว นาจึงคิดว่าจะเอาลูกไปไว้ที่ไหนดี เพราะยังไม่ได้บอกคุณพ่อ จึงตัดสินใจพาไปฝากแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ที่เสถียรธรรมสถาน เพราะแม่ชีมีบ้านสายสัมพันธ์ ที่ดูแลทั้งแม่และเด็กที่มีปัญหา แล้วจ้างยายน้องแคทมาเลี้ยงหลานตัวเอง ตั้งแต่วันที่น้องอยู่โรงพยาบาลจนมาที่เสถียรธรรมสถาน นาหิ้วปิ่นโตไปหาลูกทุกวัน อยู่กับเขาตั้งแต่เย็นถึงห้าทุ่ม ไม่ขาดแม้แต่วันเดียว ทำอยู่ปีกว่า จนสบโอกาสที่คุณพ่อจะสร้างบ้านให้น้องชายและน้องสาว [b]จึงขอให้พ่อสร้างห้องให้น้องแคทด้วย พ่อก็แสนใจดียินดีสร้างห้องให้น้อง และปรับทางเดินในบ้านให้เป็นทางลาดทั้งหมด แล้วรับน้องเข้ามาอยู่ตั้งแต่บัดนั้น[/b]
[b]น้องแคทเป็นแรงบันดาลใจให้คุณนาตั้งมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทยหรือเปล่า[/b] -ไม่ใช่ค่ะ ที่จริงมูลนิธิฯ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ สมัยที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ หรือกีฬาคนพิการโซนอาเซียน หรือเดี๋ยวนี้เรียกอาเซียนพาราเกมส์ ตอนนั้นหน่วยงานที่จัดงานยังไม่มีความพร้อม ซึ่งเหลือเวลาอีก ๘ เดือนจะถึงการแข่งขัน ทุกคนกังวล เพราะถือว่าเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ จึงเดินทางมาขอให้คุณพ่อช่วยเป็นพ่องาน ร่วมระดมทุกสรรพกำลัง จนงานประสบความสำเร็จ การแข่งขันกีฬาครั้งนั้นทำให้คนเข้าใจคนพิการมากขึ้น มองว่าเขามีความสามารถ ขอเพียงแต่มีโอกาสและมีพื้นที่ให้แสดงออก
พอเสร็จงานกีฬามีเงินเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง และอยากทำอะไรให้คนพิการต่อเนื่อง [b]จึงจัดตั้งมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทยขึ้น โดยมีตัวเองเป็นประธาน[/b] มีหน่วยงานคนพิการ คนพิการเอง และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประกอบเป็นคณะกรรมการ ดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของคนพิการในทุกมิติ ทั้งการศึกษา กีฬา อาชีพ นันทนาการ เป็นตัวเชื่อมส่งความทุกข์ร้อนของคนพิการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และถ้าวันหนึ่งไม่มีมูลนิธิฯ ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตามหลักการที่มูลนิธิฯ ตั้งไว้
[b]ในด้านมิติการการท่องเที่ยวล่ะคะ มูลนิธิฯ มีบทบาทอย่างไร[/b] – ทางมูลนิธิฯ จะประสานกับ ททท. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตลอดว่า [u]หากมีการจัดโครงการหรือกิจกรรมใด ให้คำนึงถึงการเข้าถึงของคนพิการทั้งเรื่องแหล่งท่องเที่ยว บริการ และสวัสดิภาพ เป็นพิเศษ อย่าละเลย นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ www.tddf.or.th ที่มีห้องกระทู้ให้คนพิการเข้ามาร้องเรียน บอกข่าวเล่าเรื่อง ว่าประสบปัญหาหรือได้รับความไม่สะดวกตรงไหนบ้าง ทางเราจะเป็นคนประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้[/u]
[b]นอกจากนี้ทราบว่าคุณนาชอบไปเชียงใหม่ เพื่อไปนั่งมองหลินปิง[/b] - (หัวเราะ) นาติดตามหลินปิงมาตั้งแต่แรกเกิด ตัวเท่าลูกหนู ตอนนี้น้ำหนัก ๑๐๔ กิโลกรัมแล้ว และอายุครบ ๔ ปีไปเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม รักมาก [b]หลินปิงทำให้นารักสัตว์ทุกชนิด[/b] ช้าง หมา แมว รักหมด แต่ข่าวจะออกเฉพาะหลินปิง นาชอบมองลึกลงไปในตาของพวกเขา ทำให้เรารู้สึกว่าเขาเองคือเพื่อน คือลูก คือญาติ และมีสิทธิ์อยู่ร่วมโลกใบนี้เหมือนกับพวกเรา มนุษย์เราเองไม่ได้เป็นเจ้าของทุกอย่างของโลก
กัญจนา ศิลปอาชา เข้าเที่ยวชมหมีแพนด้า 'หลินปิง' เพื่อให้อาหารที่เชียงใหม่