เมื่อผู้ป่วยจิตเวชมาปลูกผัก
หลังจากคุณญาดา จำนงทอง หรือหมอจิ๊บ อดีตพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลอ่าวอุดม และทีมงานจิตอาสา [b]ได้ทดลองนำเรื่องการปลูกผักไปเยียวยาผู้ป่วยจิตเวช และผู้ติดยาเสพติด และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ[/b] จนตอนนี้ทั้งหมอจิ๊บและทีมงานจิตอาสา ต่างก็ร่วมมือร่วมใจกันมา[b]ทำสวนผักคนเมือง ที่ศรีราชาอย่างจริงจัง และเปิดเป็นพื้นที่ที่ช่วยบำบัดเยียวยาผู้ป่วยจิตเวชขึ้น[/b]
มาตอนนี้ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เราเห็นทางสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ และจิตเวชศาสตร์มาเป็นเวลานานนับร้อยปี เริ่มหันมาสนใจเรื่องการทำสวนผัก และเปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสลงมาเรียนรู้ และทำกิจกรรมในแปลงผัก เพื่อ[b]ช่วยฟื้นฟูศักยภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคน ให้มีทักษะทางสังคมมากยิ่งขึ้น[/b]
คุณกรรณิกา ไชยชนะ นักสังคมสงเคราะห์ประจำสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เล่าให้ฟังว่า[b]หนึ่งในปัญหาที่คนไข้ที่นี่ต้องเผชิญคือ เมื่อได้รับการบำบัดรักษาแล้ว แต่ไม่สามารถส่งกลับไปบ้านได้ เนื่องจากครอบครัว ญาติพี่น้องไม่ยอมรับ[/b] ทางโรงพยาบาลจึงคิดเรื่องการฝึกอาชีพให้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการฝึกอาชีวะบำบัด เช่นให้ทำผ้าบาติก ทำหัตถกรรม ฝึกปอกสายไฟ ฝึกทำงานศิลปะต่างๆ หรือบางครั้งก็ให้มาช่วยดูแลสวน คือให้รดน้ำ ตัดหญ้าเท่านั้น จนมีคนไข้รายหนึ่งเสนอว่าอยากหัดปลูกผัก เผื่อว่าจะได้ออกไปปลูกผักขายเป็นอาชีพได้ ทางทีมฟื้นฟูศักยภาพ ฝ่ายงานอาคารสถานที่ และตึกราชาวดี ของสถาบันจึงได้ปรึกษาหารือกัน และตกลงขอใช้พื้นที่ที่เคยรกร้างของฝ่ายอาคารสถานที่มาทำเป็นแปลง ให้คนไข้ได้เรียนรู้ ฝึกฝนเรื่องการปลูกผัก จนสามารถนำผลผลิตบางส่วนไปจำหน่ายให้ตามตึกต่างๆของสถาบันได้แล้ว
กลุ่มผู้ป่วยนั่งอบรมก่อนลงมือปลูกผัก