วิถีพุทธนอกตำรา "เด็กปัญญา"ครูโต้ง
คอลัมน์ : สดจากเยาวชน [b]กว่า 3 ปี ที่ครูหนุ่ม โต้ง พรมกุล หรือ ครูโต้ง ของเด็กๆ ครูโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล วัย 32 ปี เป็นตัวหลักสำคัญในการริเริ่มกิจกรรมโครงการวิถีชีวิตไตรสิกขา เด็กปัญญาทำได้ ที่พัฒนาแนวคิดสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กที่ผิดปกติด้านการเรียนรู้ตามแบบวิถีพุทธของเครือข่ายพุทธิกา[/b]
ครูโต้งมองว่า แม้เด็กพิการทางสติปัญญาจะมีอุปสรรคทางกายภาพ มีขีดจำกัดการเข้าถึงทักษะการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเด็กปกติ [b]หากแต่การพัฒนาวิธีคิด การสร้างความสุขที่มาจากการให้-การตั้งสติ และการบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวมไม่มีอะไรที่นักเรียนของที่นี่จะทำไม่ได้[/b]
ด้วยเหตุนี้ครูโต้งและทีมจึงผสานองค์ความรู้ที่มี [b]ออกแบบกิจกรรมและสร้างเครื่องมือ หวังให้กลุ่มนักเรียนเหล่านี้เข้าถึงการมีสุขภาวะในแบบที่ควรจะเป็น สามารถอยู่ในสังคมได้[/b] นั่นหมายถึงการช่วยเหลือตนเองลดการพึ่งพิงจากผู้อื่นมีจิตใจที่สงบเยือกเย็นลง
การที่ครูหนุ่มคนนี้มุ่งมั่น ให้ความรู้กับเด็ก โดยให้ความสำคัญกับสติ เหมือนคำกล่าวที่ว่า [b]"สติมา ปัญญามี" เป็นเพราะเขาร่ำเรียนมาทางนี้โดยตรง[/b] ครูโต้งเป็น ชาวอุดรธานี หลังจบชั้นป.6 มีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม ประจำจังหวัดขอนแก่น เมื่อเรียนได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และจบการศึกษา จึงมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ จนได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตแล้วไปทำงานด้านสังคมสงเคราะห์สังกัดกรุงเทพมหานคร1ปี
พอมีเปิดรับสมัครสอบครู เขามุ่งมั่นตั้งใจมาสมัคร เมื่อสอบติดก็ไปร่วมอบรมครูการศึกษาพิเศษ กระทั่งได้มาสอนที่โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล [b]"เมื่อเราเป็นครู เราก็อยากให้ลูกศิษย์เราได้รับสิ่งที่ดี"[/b] ครู โต้งบอก [b]ดังนั้นเขาจึงคิดโครงการใหม่ๆ ในการสอนขึ้นมาหลายโครงการ บางโครงการก็ใช้ทุนจากภายนอก[/b] เช่น โครงการวิถีชีวิตไตรสิกขา เด็กปัญญาทำได้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการสุขแท้ด้วยปัญญาที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)สนับสนุน
"แนวคิดสุขแท้ด้วยปัญญานั้น เป็นการสร้างความสุขที่แท้จริง เพราะความสุขไม่จำเป็นต้องมาจากความพร้อมในทุกอย่าง หรือมั่งมีเงินทอง แต่[b]เป็นการมีความสุขที่ผ่านการใช้สติปัญญา ทั้งการคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง เชื่อมั่นในความเพียรพยายาม คิดอย่างมีเหตุผล[/b]และเป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่ยึดติดกับวัตถุ เราจึงเขียนใบสมัครเสนอโครงการไป และช่วยกันออกแบบกิจกรรม
อย่างเด็กคนไหนไม่นิ่งผมจับเขามาวิ่งก่อนเลย วิ่งบนเครื่องวิ่งเพื่อลดพลังงาน ลดความฟุ้งซ่านที่มากเกินไป จากนั้นอาจจะ[b]ฝึกสมาธิด้วยการเดินหรือนั่งสักพัก เปิดเสียงคำสอนคลอเบาๆ ให้เขาได้พักผ่อนสติตัวเอง ฝึกนั่งสมาธิในวิธีการต่างๆ[/b] เพราะห้องธรรมานุบาลแท้จริงคือการสร้างแรงจูงใจให้เด็กนักเรียนเข้าถึงศาสนา ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ หรือในบรรยากาศที่เงียบ เย็นสบาย ที่ง่ายต่อการรับฟังหลักธรรมคำสอนดีกว่าบรรยากาศปกติ"
เด็กนักเรียนกำลังนั่งสมาธิและครูโต้ง พรมกุล หรือ ครูโต้ง กำลังนั่งสมาธิ