'อุกฤษ'หนุน'เหลือง-แดง'ถกนิรโทษกรรม

'อุกฤษ'หนุน'เหลือง-แดง'ถกนิรโทษกรรม

คมชัดลึกออนไลน์ 9 ก.พ.56

'คอ.นธ. - สว. - สส.พท.' หนุนตัวแทนสี 'เหลือง - แดง' หารือออก กม.นิรโทษกรรม แนะนิรโทษฯ ปชช.ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อน ป้องกันเหตุโยงช่วย 'ทักษิณ'

8 ก.พ. 56 หลังจากกรณีทีตัวแทนกลุ่มคนเสื้อเหลือง และคนเสื้อแดงร่วมหารือถึงแนวทางการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยกรนิรโทษกรรม ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะมีการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จำนวน 2 ฉบับ ให้กับประชาชน และแกนนำผู้ชุมนุม

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) กล่าวว่า เป็นแนวทางที่ตนเห็นด้วย เพราะหากให้กลุ่มที่มีความขัดแย้งได้มาหารือร่วมกันก่อน จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้ รวมถึงถ้านำตัวแทนของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลมาหารือร่วมกันอาจจะลดเงื่อนไขที่นำไปสู่การถกเถียงที่ก่อให้เกิดการเสียเวลาที่จะออกกฎหมายเพื่อช่วยประชาชน ซึ่งทำผิดพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่าตนเข้าใจว่าคนที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมหารือนั้น เป็นในส่วนของตัวแทนกลุ่มที่มีพลังมวลชนอยู่นอกสภา ซึ่งแนวทางการหารือนอกรอบเป็นสิ่งที่ดี ส่วนแนวคิดที่สรุปได้เบื้องต่นว่าจะออก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จำนวน 2 ฉบับนั้น ตนมองว่ามีประเด็นที่หลายฝ่ายตกผลึกร่วมกันคือ นิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ทำผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหรือ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.มั่นคง) ดังนั้นตนเห็นว่าหากออกกฎหมายในประเด็นที่ทุกฝ่ายตกผลึกร่วมกันก่อนจะสามารถทำได้ ส่วนการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ให้แกนนำถือเป็นประเด็นที่ต้องหารือกัน

"ผมมองว่าขณะนี้มีประเด็นที่เป็นปัญหาคือ การนิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุม , พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา ดังนั้นรัฐบาลควรต้องแสดงความชัดเจนว่าสิ่งที่ทุกฝ่ายตกผลึกร่วมกันขอให้เดินหน้าโดยไม่ต้องรอพิจารณาทีเดียวพร้อมกัน เพราะนั่นอาจถูกโยงให้เป็นเรื่องที่เข้าข่ายช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ เช่นว่า ที่รอเวลาออกกฎหมายเพื่อใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน ว่าต้องพ่วงนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย"

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางที่เสนอให้ตั้งกรรมการกลางพิจารณาว่าบุคคลที่มีความผิดใดจะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ตนเชื่อว่าจะกลายเป็นประเด็นที่ต้องคุยกันยาว เพราะเมื่อกฎหมายต้องการไม่ให้นิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุม การเขียนถ้อยคำไว้ในร่างกฎหมายต้องเขียนนิยามไว้ ทั้งนี้แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ใช่องค์กรตามกฎหมาย และไม่กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ชัดเจน ดังนั้นต้องเกิดการตีความ และหากให้กรรมการกลางเป็นผู้พิจารณา อาจเกิดความระแวงของกลุ่มการเมือง

ขณะที่นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนสนับสนุนในการหารือ แต่ต้องยึดหลักที่ว่าการนิรโทษกรรมคือการให้อภัย การกระทำที่เกิดขึ้นจากแรงจูงใจทางการเมือง ส่วนการพูดเรื่องนิรโทษกรรมที่ปัจจุบันไม่สามารถสรุปได้ เพราะมันมีการสูญเสีย จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะนิรโทษกรรมคนสั่งการหรือไม่ หากคนสั่งการถูกนิรโทษกรรมแล้วอาจเป็นเหตุให้มีการกระทำที่นำไปสู่ความสูญเสียอีก

"ผมเห็นด้วยที่จะมีการหารือกัน แต่ท้ายสุดแล้วผลในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะเป็นผู้ที่กุมเสียงข้างมากในสภา”

ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
วันที่โพสต์: 9/02/2556 เวลา 03:04:24

ห้องการเมือง