สกว.จัดเวทีเสนองานวิจัย แก้เหลื่อมล้ำ 'คนพิการและผู้สูงอายุ'

4 พันธมิตรด้านการวิจัย จัดเสวนา "การวิจัยเพื่อฝ่าข้ามความเหลื่อมล้ำ : คนพิการและผู้สูงอายุ" เพื่อขับเคลื่อนพลวัตในการแสวงหาทางออกสำหรับกำหนดนโยบายของประเทศ

4 พันธมิตรด้านการวิจัย จัดเสวนา "การวิจัยเพื่อฝ่าข้ามความเหลื่อมล้ำ : คนพิการและผู้สูงอายุ" เพื่อขับเคลื่อนพลวัตในการแสวงหาทางออกสำหรับกำหนดนโยบายของประเทศ

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.60 - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประเทศไทย (TRIP) และ สมาคมวิจัยเชิงคุณภาพแห่งประเทศไทย จัดเสวนา “การวิจัยเพื่อฝ่าข้ามความเหลื่อมล้ำ : คนพิการและผู้สูงอายุ” ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ เพื่อเปิดพื้นที่การพิจารณาความเหลื่อมล้ำในบริบทความรู้ของสังคมและความเข้าใจของประเทศไทยผ่านผลงานวิจัย ของกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ ของภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และบุคคลที่สนใจ

โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. , ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง รองผู้อำนวยการ สกว.ด้านชุมชน-พื้นที่, ศ.สุทธิชัย หวังแก้ว ผู้ประสารงานโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว., ศ.ดร.อุทัย ดุลยเกษม นายกสมาคมวิจัยเชิงคุณภาพแห่งประเทศไทย และอาจารย์มณเฑียร บุญตัน คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ พร้อมด้วยนักวิจัยในโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ร่วมเสวนา และบรรยายพิเศษในหัวข้อต่างๆ

โอกาสนี้ รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ได้รับความสนใจอย่างสูงสุดในระดับนโยบายระดับโลกดังปรากฏในฉันทามติของโลกเรื่อง เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals, 2030 หรือ SDGs) ที่ถือเป็นธงนำการพัฒนาของประชาคมโลกในทศวรรษหน้า โดยมีการลดความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ (Goal 10: Reduce inequality within and among countries) เป็นหนึ่งในสิบเจ็ดเป้าหมายที่จะต้องบรรลุ รวมถึงประเทศไทย โดยรัฐบาลและสาธารณชนต่างยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้จะมีความพยายามหาวิธีการแก้ไขกันมานาน แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างและสำคัญที่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อได้ตระหนักถึงและเอาใจใส่กันมากขึ้น

ในส่วนนี้ สกว. ในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัย ได้สนับสนุนชุดโครงการวิจัย ทั้งในประเด็นความเหลื่อมล้ำคนพิการและผู้สูงอายุ ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มุ่งเน้นตัวชี้วัดทางเศรษฐศาสตร์เพียงด้านเดียว เพราะอย่างที่ทราบว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในโลกขณะนี้มีจำนวนมากกว่าที่ผ่านมา และไม่ควรถูกเข้าใจว่ามีเฉพาะด้านรายได้และความมั่งคั่ง หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม พื้นที่ และความรู้ สำหรับการนำเสนองานวิจัย และการแลกเปลี่ยนความเห็นในครั้งนี้ จะนำไปสู่การขยายพรมแดนของการแลกเปลี่ยนระหว่างวงวิชาการ วงการวิจัยและวงการนโยบายเพื่อขับเคลื่อนพลวัตในการแสวงหาทางออกสำหรับกำหนดนโยบายของประเทศต่อไปในอนาคต

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว ปาฐกถา inclusion คนพิการกับโอกาสการพัฒนาที่ยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ประเทศไทยพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ และรายได้ของประชากร แต่หากเจาะลึกลงไปทางสถิติ จะพบว่า สัดส่วนรายได้ของกลุ่มคนมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และช่องว่างของรายได้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เช่น เรื่องของโอกาส และการเข้าสิทธิต่างๆที่รัฐรองรับ ยกตัวอย่าง คนที่ประกอบอาชีพค่าขาย หากมีทุน (เงิน) จะมีโอกาสที่จะขายสินค้าและบริการได้มากกว่า คนทั่วไปในอาชีพเดียวกัน ทั้งการขยายร้าน สถานที่ตั้งและการบริการซึ่งนี่ไม่ใช่แค่โอกาสแต่รวมถึงการหยิบฉวยโอกาสด้วย

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การพัฒนาที่ยังยืนจะเป็นส่วนสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำลงได้ แต่หากมองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ต้อง ถือว่าเป็นความท้าทาย เพราะนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า การพัฒนาที่จะต้องนำพาทุกภาคส่วนในสังคมก้าวไปพร้อมกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้นเป็นเรื่องยากส่วนแนวทางการแกปัญหาความเหลื่อมล้ำคนพิการและผู้สูงอายุ

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า แม้รัฐบาลจะเป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณในการดูแลคนพิการและผู้สูงอายุ แต่จะให้รัฐดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่จะต้องร่วมกันทุกภาคส่วน 5 ประสาน ทั้งรัฐบาล ผู้ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ดูแล และ สวัสดิการให้แก่ประชาชน รวมถึงภาคเอกชนที่จะต้องให้การสนับสนุนการจ้างงานที่มีลักษณะที่เหมะสมกับคนพิการและผู้สูงอายุมากขึ้น และที่สำคัญ คือ ตนเอง ที่จะต้องมีการออม เพื่อการดำรงชีพในอนาคต หรือ เกษียณ อย่างประเทศพัฒนาแล้วทำให้ได้ และสุดท้าย คือ ครอบครับที่จะต้องช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน ในส่วนนี้รัฐอาจจะต้องกำหนดนโยบายเพิ่มแรงจูงใจ เช่น การให้สิทธิพิเศษเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับบุคคลที่ดูแลพ่อแม่ หรือ คนพิการ

ขอบคุณ... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/766274

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 26 ก.ค.60
วันที่โพสต์: 27/07/2560 เวลา 10:43:15 ดูภาพสไลด์โชว์ สกว.จัดเวทีเสนองานวิจัย แก้เหลื่อมล้ำ 'คนพิการและผู้สูงอายุ'