ถ้าไม่มีกีฬา คนพิการจะเป็นแบบไหน? ภาระสังคม หรือผู้น่าเวทนา

ถ้าไม่มีกีฬา คนพิการจะเป็นแบบไหน? ภาระสังคม หรือผู้น่าเวทนา

ชีวิตคนเราไม่เท่ากัน เรื่องนี้เป็นความจริงไม่ต้องพิสูจน์ บางคนเกิดมาพร้อมความทุกยาก บางวัน บางมื้อไม่มีของกิน บางคนเกิดมาพร้อมทุกอย่าง อยากได้อะไร อยากกินอะไร มีพร้อมสรรพ

แต่นั่นคือชีวิตของคนปกติ อาจจะหาเช้า กินค่ำ หาวันนี้ กินพรุ่งนี้ เป็นสิ่งที่ต้องดิ้นรนขนขวาย เชื่อว่าคนที่พบเจอสิ่งเหล่านี้ต่างออกปากเหมือนกันว่าชีวิตนี้ช่างลำบากเหลือเกิน ฟ้า พระเจ้า ประทานอะไรมาให้ หรือชาติก่อนเราทำอะไรเป็นเหตุให้ต้องทนทุกข์ นี่คือเรื่องของคนธรรมดา

ถ้าไม่มีกีฬา คนพิการจะเป็นแบบไหน? ภาระสังคม หรือผู้น่าเวทนา

ความจริงแล้วบนโลกใบนี้ยังมีอะไรมากกว่านั้น นั่นคือผู้ที่เกิดมาไม่ครบ 32 ประการ หรือเรียกง่ายๆ ให้เข้าใจตรงกันว่า “คนพิการ” คนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อย เอาแค่ในประเทศไทยถือว่ามากโข

รู้หรือไม่ว่าจากการสำรวจผู้พิการจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระบุว่าเมื่อเดือนก.ค.61 มีผู้ลงทะเบียนเป็นคนพิการมากถึง 1,916,828 คน แบ่งเป็นเพศชาย 1,006,657 คน และเพศหญิง 910,171 คน นี่ยังไม่นับรวมกับคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่รู้ว่าต้องแจ้งให้ทราบว่าตนเองพิการ ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมากน้อยเท่าแค่ไหน โดยกลุ่มที่พบมากที่สุดคือพิการทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว 942,658 คน แน่นอนทั้งหมดไม่ได้มีความพิการตั้งแต่กำเนิด หลายคนอาจเพิ่งประสบเหตุทำให้ต้องกลายเป็นคนพิการ

ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่ปัญหาที่แท้จริงคือไทยจะช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างไร หรืออย่างน้อยที่สุดจะอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาได้แค่ไหน

ถ้าไม่มีกีฬา คนพิการจะเป็นแบบไหน? ภาระสังคม หรือผู้น่าเวทนา

ชุติมา แสนหล้า นักกีฬายิงปืนคนพิการทีมชาติไทย ซึ่งพิการขาเดินไม่ได้ กล่าวว่า กว่าจะมาถึงการเป็นทีมชาติในฐานะนักกีฬาคนพิการ ต้องใช้ชีวิตยากลำบากว่า 20 ปี เมื่อก่อนทำอะไรไม่ได้นอกจากขายลอตเตอรี่ บางคนขายของ เพื่อนคนพิการด้วยกันต้องอยู่กับบ้านออกไปไหนลำบากเพราะเป็นภาระคนอื่น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นเมื่อลอตเตอรี่ ที่ได้มาขายไม่หมด หรือกว่าจะขายหมดต้องใช้เวลานาน เรื่องการกินอยู่ต้องควักเงินซื้อข้าวเอง สุดท้ายแทบไม่เหลืออะไรเลย ยิ่งมีคนปกติสามารถปั่นจักรยานขายได้ทุกที่ยิ่งทำให้ลำบาก จนท้ายที่สุดคนพิการเหล่านี้ต้องเลิกขาย เนื่องจากได้ไม่คุ้มเสีย

ขณะที่ “ตู่” ดุษรา ทองดี ที่พิการทั้งแขนและขา นักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย เผยว่าด้วยการที่เกิดมาเป็นแบบนี้ ทำให้สามารถปรับตัวได้ใช้ชีวิตกับสังคมตามปกติ เพียงแค่ไม่เหมือนคนอื่น แต่ความจริงแล้วถ้าอยู่ในบ้านตัวเองเธอใช้ชีวิตปกติ เดินด้วยเท้า (เหนือเข่า) ในบ้านตลอด ช่วยคนที่บ้านทำอะไรมากมาย ทั้งที่แขนไม่มีนิ้ว

ถ้าไม่มีกีฬา คนพิการจะเป็นแบบไหน? ภาระสังคม หรือผู้น่าเวทนา

เช่นเดียวกับ “รุต”พีระพล หวาดบก นักกรีฑาตาบอดเจ้าของเหรียญทองวิ่ง 100 ม. เอเชียนพาราเกมส์ 2018 แม้จะเพิ่งตาบอดเมื่ออายุ 11 ปี แต่ใช้ชีวิตลำบากเหลือกำลัง โดนเพื่อนล้อเลียนต่างๆ นานา อย่างไรก็ดีด้วยความสามารถและมุมานะทำให้ก้าวมาถึงตัวแทนทีมชาติไทยสู้ศึกกีฬาคนพิการ มีพื้นที่ให้ยืนในสังคม ที่สำคัญอาจจะเป็นฮีโร่คนต่อไปในพาราลิมปิกเกมส์ด้วยใครจะรู้

ถึงทุกวันนี้ประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายมาตรา 35 เปิดให้ภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐฯ รับคนพิการเข้าทำงานเพื่อใช้รายจ่ายตรงนี้ในการลดหย่อนภาษี แต่สุดท้ายคนพิการไม่ได้รับเงินจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตอย่างที่เป็นข่าวครึกโครมก่อนหน้านี้

ถ้าไม่มีกีฬา คนพิการจะเป็นแบบไหน? ภาระสังคม หรือผู้น่าเวทนา

ชุติมา แจงว่า การที่ตนเป็นนักกีฬาทีมชาติทำให้มีโอกาสเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน แต่เป็นการจ้างชั่วคราว รับเงินเดือนราว 8-9 พันบาทต่อเดือน ถือว่ายังดีกว่าต้องไปขายของ ขายสลากกินแบ่งที่ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่

ส่วน ดุษรา สะท้อนให้เห็นว่าการที่เธอเกิดมาไม่พร้อมด้านร่างกาย ทำให้ต้องดิ้นรนจนเอาตัวเองรอด แต่ปัญหาคือแล้วคนพิการอื่นๆ สามารถอยู่ได้อย่างคนทั่วไปแค่ไหน ปัจจุบันนี้ ดุษรา สามารถไปเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลงได้ตามปกแม้ว่าจะลำบากในการเดินทาง แล้วคนที่เพิ่งประสบพบเจอเรื่องไม่คาดฝันจะปรับชีวิตอย่างไร

“เมื่อก่อนยอมรับว่าลำบากมาก เราไม่อยากออกไปไหนนอกบ้าน แม้จะนั่งวีลแชร์เพราะถนนไม่มีที่ให้ไปได้ ยิ่งบนทางเท้ายิ่งยากไปอีก ไม่มีทางลาดให้เข็นรถขึ้นไปได้ ถ้าขึ้นไปได้ไม่เจอกับฝาท่อระบายน้ำ ต้นไม้ เสาไฟฟ้า ก็คือไม่มีทางลง เพราะฟุตปาทไทยน้อยมากจะมีทางขึ้นลงสำหรับคนพิการที่ใช้วีลแชร์ นี่ยังไม่นับรวมผู้พิการด้านอื่นไม่ว่าเป็นทางสมอง หรือกล้ามเนื่ออ่อนแรง ถ้าคนเหล่านี้ไม่เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ครอบครัวยากจนและไม่มีหนทางอยู่แล้วจะลำบากแค่ไหน”

ด้าน พีระพล กล่าวว่า กีฬาถือเป็นทางเลือกสำหรับคนพิการ ก่อนหน้านี้หลายคนตราหน้าว่าตาบอดจะทำอะไรได้ สมัครงานยังโดนปฏิเสธเพราะไม่เหมือนคนทั่วไป ทั้งที่ไม่ดูความสามารถที่แท้จริงของผู้สมัครด้วยซ้ำ

“ตอนผมมองไม่เห็นไม่รู้เหมือนกันว่าชีวิตจะไปทางไหน เคยคิดว่าไม่ขายลอตเตอรี่คงเป็นหมอนวดแผนไทย แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาเป็นนักกีฬาทีมชาติทำให้ความคิดเราเปลี่ยนไป ผมอยากบอกกับทุกคนให้รู้ว่าคนพิการไม่ได้หมายความว่าเราด้อยกว่าคนทั่วไป เพียงแค่เรามีร่างกายไม่ครบเท่าคนอื่นแค่นั้น เราอาจมีความคิด ความมุ่งมั่นกว่าคนปกติธรรมดาด้วยซ้ำ ต้องเปิดใจให้กว้างและพร้อมให้โอกาสกับทุกคน”

ถึงตอนนี้ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่สนับสนุนคนพิการให้อยู่ในสังคมไม่ด้อยกว่าคนธรรมดาทั่วไป แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีอะไรบ้าง

สิ่งที่อยากจะย้ำคือกีฬาไม่มีพิษภัย กีฬาส่งเสริมทุกคน และแน่นอนกีฬามีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างพื้นที่คนพิการ ไม่ได้บอกว่ากีฬาคือทุกอย่างของผู้แตกต่างจากคนปกติ แต่สิ่งที่กีฬาทำได้คือแสดงศักยภาพของคนเหล่านี้ออกมาให้คนทั่วไปได้เห็น

ถ้าไม่มีกีฬาคนพิการ สังคมไทยจะรับรู้เรื่องราวคนเหล่านี้แค่ไหน จะหันมาใส่ใจกับคนที่ด้อยกว่าคนอื่นทั่วไปด้านร่างกายมากน้อยเท่าใด แต่คนด้อยโอกาสเหล่านี้ยืนยันไม่อยากเป็นภาระใคร เพียงแค่ขอสิ่งอำนวยความสะดวกให้พวกเขาใช้ชีวิตของตัวเองเท่านั้นพอ

ขอบคุณ... https://www.khaosod.co.th/sports/news_1672924

ที่มา: khaosod.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 11 ต.ค.61
วันที่โพสต์: 19/10/2561 เวลา 10:22:36 ดูภาพสไลด์โชว์ ถ้าไม่มีกีฬา คนพิการจะเป็นแบบไหน? ภาระสังคม หรือผู้น่าเวทนา