ร่างกายไม่เป็นอุปสรรค “ขลุ่ย” สังคีต ศรีพระราม นักกีฬาวีลแชร์หนึ่งเดียวใน

ร่างกายไม่เป็นอุปสรรค “ขลุ่ย” สังคีต ศรีพระราม นักกีฬาวีลแชร์หนึ่งเดียวใน “บุรีรัมย์ มาราธอน 2018” ขับรถกว่า 400 กม.เพื่อลงแข่งวิ่งมาราธอน

ร่างกายไม่เป็นอุปสรรค “ขลุ่ย” สังคีต ศรีพระราม นักกีฬาวีลแชร์หนึ่งเดียวใน “บุรีรัมย์ มาราธอน 2018” ขับรถกว่า 400 กม.เพื่อลงแข่งวิ่งมาราธอน

ชีวิตคนเรา ไม่มีอะไรที่แน่นอน เช่นเดียวกับชีวิตของ “ขลุ่ย” สังคีต ศรีพระราม นักกีฬาวีลแชร์หนึ่งเดียวใน “บุรีรัมย์ มาราธอน 2018”ร่างกายไม่เป็นอุปสรรคกับใจรักในด้านกีฬา

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกใช้ชีวิต และเลือกที่จะเป็นอะไรก็ได้ ที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

นี่คือชีวิตของนักกีฬาวีลแชร์ ที่ร่างกายไม่เป็นอุปสรรค กับการออกกำลังกายแม้แต่นิดเดียว ถึงแม้ร่างกายจะต้องนั่งรถเข็น วีลแชร์ แต่ ก็ไม่เป็นอุปสรรค ที่จะลงแข่งขันกีฬาวิ่งมาราธอน

นอกจากนี้ เรียกได้ว่า กำลังใจ และ ความใจสู้ พา “ขลุ่ย” สังคีต ศรีพระราม นักกีฬาวีลแชร์หนึ่งเดียวใน “บุรีรัมย์ มาราธอน 2018” ขับรถกว่า 400 กม.จากสมุทรปราการ มาสู่บุรีรัมย์ เพื่อมาร่วมวิ่งมาราธอน ครั้งแรก ที่บุรีรัมย์

การแข่งขันวิ่ง “บุรีรัมย์ มาราธอน 2018 พรีเซนเต็ด บาย Presented by เครื่องดื่มตราช้าง” งานวิ่งมาตรฐานระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ชิงเงินรางวัลรวมมากกว่า 1,650,000 บาท ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ยัวร์ อัลติเมท เดสติเนชั่น YOUR ULTIMATE DESTINATION – สวรรค์ของนักวิ่ง” ออกสตาร์ทที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ สนามแข่งรถระดับโลกที่เตรียมจัดการแข่งขันโมโตจีพี 2018 โดยมี นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจ.บุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดการแข่งขัน และเข้าเส้นชัยที่ บุรีรัมย์ คาสเซิล จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน 13,435 คน

ในประเภทมาราธอน มีนักกีฬาวีลแชร์หนึ่งเดียว ที่เข้าแข่งขัน และทำผลงานได้ดี “ขลุ่ย” สังคีต ศรีพระราม นักกีฬาวีลแชร์ ใจสู้ วัย 30 ปี ที่ทำเวลาได้ 3.23.27 ชม. ได้ที่ 21 รุ่นอายุ 30-39 ปี ที่แม้ร่างกายจะพิการ แต่กลับขับรถจากบ้าน ที่จ.สมุทรปราการ มาสู่ จ.บุรีรัมย์เพื่อร่วมการแข่งขัน “บุรีรัมย์ มาราธอน 2018” เป็นครั้งแรก ด้วยตัวเอง

“แรงบันดาลใจที่มาวิ่ง อยากให้ทุกคน ที่ไม่กล้าออกกำลังกาย ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย ออกมาวิ่ง โดยดูผมเป็นตัวอย่าง ที่ความพิการไม่เป็นอุปสรรค โดยเมื่อปีที่แล้ว น้ำหนักตัวผมเยอะมาก ด้วยความที่เราเดินไม่สะดวก เดินลำบาก เมื่อน้ำหนักเยอะขึ้น ทำให้เคลื่อนไหวตัวเอง เคลื่อนย้ายตัวเอง ลำบาก จึงได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง จนเพิ่งมาค้นพบว่า การออกกำลังกาย ทำให้เราสุขภาพดี จากที่น้ำหนักเยอะขึ้น ก็ทำให้น้ำหนักลดลง เคลื่อนย้ายตัวเองได้คล่องแคล่วมากขึ้น ในโอกาสที่มาวิ่งในแต่ละสนาม มินิมาราธอน, ฮาล์ฟมาราธอน และฟูลมาราธอน บรรยากาศที่มาวิ่งไม่เหมือนกันในแต่ละสนาม ถึงแม้ต่างคนต่างวิ่ง แต่สุดท้ายกลับมีกำลังใจที่มอบให้แก่กัน ผมประทับใจในกำลังใจที่ต่างคนต่างมอบให้กันและกัน ก็ขอขอบคุณทุกคน พวกพี่ๆ ที่ให้กำลังใจ ถึงแม้ผมเดินไม่ได้ แต่ต้องแบกทั้งน้ำหนักตัวและรถเข็น ในระยะมาราธอน 42.2 กม. จึงอยากให้ทุกคนหันมาออกกำลังกายกันให้มากขึ้น”

“ความฝันของผม อยากวิ่งในระยะ 100-200 กม. วิ่งแบบไม่จำกัดเวลา อัลตร้ามาราธอน ก็อยากให้ทักษะที่เราฝึกซ้อมมา นำมาใช้ในการวิ่งอัลตร้ามาราธอน ซึ่งในการวิ่งระดับมาราธอน ซึ่งตอนนี้เริ่มอยู่ตัวแล้ว อยากไปสัมผัสการวิ่งแบบใหม่ ซึ่งตอนนี้ วิ่งฟูลมาราธอน ผมอยากทำเวลาได้ 3 ชม.ต้นๆ โดยรายการก่อนหน้านี้ “จอมบึงมาราธอน” ทำเวลาได้ 3.26 ชม. ก็อยากทำเวลาได้น้อยลงเรื่อยๆ 3 ชม.ต้นๆ เป้าหมายอยากให้ทุกคนหันมาออกกำลังกาย อยากให้ทุกคนเห็นผมออกกำลังกาย และหันมาออกกำลังกายด้วยกัน

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมมาออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ในรายการแรก ก็คือ รายการวิ่งด้วยกัน ที่มีคนพิการวิ่งกับคนปกติ มีการจัดให้คนพิการได้มีความกล้าในการที่จะก้าวออกมาข้างนอก มาสู่สังคม ได้มาออกกำลังกาย ได้มาสัมผัสผู้คน ผมเริ่มวิ่งจากรายการแรก เริ่มไต่เต้าจากรายการนี้ พอเริ่มต้นวิ่ง ทำให้รู้สึกตัวว่าความพิการไม่ได้น่ากลัว และไม่ได้น่าอาย และปัจจุบันสังคมยอมรับนักกีฬาคนพิการกันมากขึ้น เราพร้อมที่จะออกกำลังกาย เราฝึกซ้อมเอง โดยคุยกับ พี่ๆ ที่เป็นนักวิ่ง เป็นคนปกติ ที่ให้คำแนะนำว่า โดยพื้นฐานเริ่มมาจากที่เราพิการ ค่อยๆ ปรับตัวเองมาถึงตอนนี้ มีการพัฒนาตัวเองในการวิ่งระยะ”

“สำหรับบุรีรัมย์ มาราธอน 2018 เป็นการลงแข่งขันเป็นแรก ตอนแรกดูจากการเดินทาง ระยะทาง 400 กม.จากสมุทรปราการ มาบุรีรัมย์ ผมก็คิดนะ เพราะต้องขับรถมาเอง คิดว่าร่างกายจะไหวหรือไม่ เพราะขับรถมาในระยะทาง 400 กม.ก็เหนื่อยแล้ว และต้องมาวิ่งในระยะมาราธอน 42.2 กม.อีก แต่ก็คิดว่าจะลองดู มันมีความท้าทาย ถ้าเราคิดว่าระยะทางไกล มันก็จะไกลอยู่แบบนี้ แล้วไม่กล้าวิ่ง เราก็ไม่ได้ทำอะไรที่แปลกใหม่ขึ้น ด้วยความที่ อยากลองด้วย ทำให้ตัดสินใจลงแข่งขันรายการนี้ ด้วยเป้าหมายอยากทำเวลาวิ่งให้ได้ในระยะเวลา 3 ชม.กว่าๆ วิ่งน้อยกว่าระยะทาง 3.26 ชม.”

“การที่ผมมาวิ่งมาราธอนทั้งๆ ที่ผมเป็นคนพิการ ก็ถือว่าผมเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่เห็นได้หันมาออกมาออกกำลังกาย กล้าที่จะก้าวมาออกกำลังกาย ผมมีทั้งนักกีฬาทีมชาติที่พิการและนักกีฬาคนปกติ เป็นไอดอล รวมทั้งคนปกติ ที่ไม่ใช่ทีมชาติ แต่สามารถที่วิ่งได้เร็ว ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้มาวิ่งแบบนี้ มาสัมผัสการวิ่งมาราธอน”

“สาเหตุที่หันมาวิ่งในระยะมาราธอน ทั้งๆ ที่วิ่งได้เพียงปีเดียว เนื่องจากมีพี่ๆ ที่มีสังกัด เค้าบอกว่า ก่อนที่จะเข้าทีม ต้องวิ่งฮาล์ฟ มาราธอน ให้ได้ก่อน ด้วยความที่ผมอยากมีสังกัด เลยเริ่มหันมาวิ่งฮาล์ฟมาราธอน จนผ่านได้มีสังกัด ในทีมแรกพิคแพ็ค เป็นสังกัดแรก และพอวิ่งในระยะฮาล์ฟมาราธอน เรื่อยๆ ก็ค่อยๆ ขยับมาเป็นวิ่งฟูลมาราธอน โดยตอนนี้สังกัดทีมมิตรภาพ 51 เป็นสังกัดทีมในปัจจุบัน แต่ถ้าวิ่งที่จ.ชลบุรี ผมจะวิ่งให้กับทีมจ็อก วอล์ค ไทย-ญี่ปุ่น ถือว่าอยู่ในสังกัด 2 ทีม”

“ก่อนหน้านี้ผมก็เคยเล่นกีฬาอื่นๆ แต่ไม่ได้เล่นจริงจัง มีการเล่นกีฬาแบดมินตัน และเทเบิลเทนนิส เพื่อสุขภาพมากกว่า เพราะผมพิการมาแต่กำเนิด แต่มาจริงจังกับ การวิ่งมาราธอน ด้วยความฝันสูงสุด จะวิ่งแบบไม่จำกัดเวลา ในระยะอัลตร้ามาราธอน โดยจะเริ่มวิ่งจากกทม.ที่สวนลุมพินี มาถึงบางแสน ในรายการอัลตร้ามาราธอน 10 ชม. วิ่งในระยะเท่าไหร่ก็ได้ แต่กำหนดเวลาไว้ 10 ชม. โดยก่อนหน้านี้ ที่เคยวิ่งมาในแต่ละรายการ ผมงานที่ดีที่สุดเคยได้แชมป์รุ่นอายุ 20-29 ปี รายการชัยมงคล แต่ในบุรีรัมย์ มาราธอน 2018 รายการนี้ ขยับรุ่นอายุมา ลงแข่ง รุ่นอายุ 30-39 ปี เป็นครั้งแรก ก็ทำเวลาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3 ชม. ต้นๆ และทำเวลาได้ตามเป้าหมาย น้อยกว่าในรายการที่ลงแข่งก่อนหน้านี้ด้วย”

ถึงแม้ร่างกายจะพิการ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค ที่ทำให้ “ขลุ่ย” สังคีต ศรีพระราม นักกีฬาวีลแชร์ ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอน

ถือเป็นแรงบันดาลใจสำหรับทุกคนที่มีความท้อถอย ให้ลุกขึ้นสู้ สู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ขอบคุณ... http://www.tnews.co.th/contents/414460

ที่มา: tnews.co.th /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 13 ก.พ.61
วันที่โพสต์: 14/02/2561 เวลา 09:42:06 ดูภาพสไลด์โชว์  ร่างกายไม่เป็นอุปสรรค “ขลุ่ย” สังคีต ศรีพระราม นักกีฬาวีลแชร์หนึ่งเดียวใน