มองชิคาโกในมุมที่แตกต่างผ่าน iPhone และ iPad

มองชิคาโกในมุมที่แตกต่างผ่าน iPhone และ iPad

ผู้ร่วมโครงการถ่ายภาพสำหรับทุกคนของ The Chicago Lighthouse ได้พึ่งพาตนเอง มีความมั่นใจ และได้รับทักษะการสร้างสรรค์

โครงการถ่ายภาพสำหรับทุกคนของ The Chicago Lighthouse ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ใช้เทคโนโลยีของ Apple เพื่อสอนทักษะการถ่ายภาพแก่เยาวชนผู้พิการทางสายตาตามกฎหมายหรือมีสายตาเลือนราง ผู้เข้าร่วมใช้ iPad และ iPhone บันทึกและตัดต่อรูปภาพที่ถ่ายในขณะออกสำรวจเมือง

Adetokunbo "Toks" Opeifa ชื่นชอบการออกสำรวจชิคาโก เธอเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในเมืองและเผลอออกนอกเส้นทางโดยไม่รู้ตัว โดยเพลิดเพลินกับสิ่งรอบกายและการถ่ายภาพรอบข้างด้วย iPhone ส่วนตัว เธออธิบายว่า "ชิคาโกมีผังเมืองเป็นระบบตาราง" และกล่าวต่อว่า "แม้จะหลงทาง แต่ก็ไม่ได้หลงทางจริงๆ เพราะแค่เดินไปในทางตรงกันข้าม เดี๋ยวก็เจอสักที่เอง"

Opeifa ซึ่งตอนนี้อายุ 18 ปี เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะเซลล์รูปกรวยและเซลล์รูปแท่งเสื่อม ซึ่งเป็นความผิดปกติของจอประสาทตาชนิดหนึ่งที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นและมีอาการไวต่อแสงแบบลุกลามตั้งแต่ตอนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีนี้เธอได้เข้าร่วมโครงการถ่ายภาพสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นโครงการสำหรับเยาวชนผู้มีสายตาเลือนรางหรือพิการทางสายตาตามกฎหมาย จัดตั้งโครงการโดย The Chicago Lighthouse ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ภายใต้ความร่วมมือกับแผนกครอบครัวและบริการสนับสนุน (DFSS) ของเมืองชิคาโก และ Apple โดยตลอดระยะเวลาในโครงการ 6 สัปดาห์ ผู้ร่วมโครงการได้เรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพ การเขียนโค้ด และทักษะเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ แต่ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดก็คือทุกคนได้รับเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถท่องโลกรอบตัวได้เองอย่างมั่นใจ

มองชิคาโกในมุมที่แตกต่างผ่าน iPhone และ iPad

โครงการถ่ายภาพสำหรับทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในโครงการริเริ่มการจ้างงานเยาวชนของเมือง โดยมีชื่อโครงการว่าหนึ่งฤดูร้อนในชิคาโก (One Summer Chicago) ซึ่งช่วยให้ทุกคนตั้งแต่อายุ 14-24 ปี มีโอกาสฝึกงานและเข้าทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรชุมชน ตลอดจนบริษัทต่างๆ ทั่วเมือง ทั้งนี้ Apple ได้สนับสนุนโครงการหนึ่งฤดูร้อนในชิคาโกมาตั้งแต่ปี 2017 ผ่านโครงการเพื่อการศึกษาชุมชน (Community Education Initiative) ซึ่งสร้างโอกาสแก่เยาวชนในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ด้วยหลักสูตรใครๆ ก็สร้างสรรค์ได้และใครๆ ก็เขียนโค้ดได้ โดยในฤดูร้อนปีนี้มีนักเรียนกว่า 200 คน ที่มีโอกาสสัมผัสกับการถ่ายภาพ การถ่ายวิดีโอ การออกแบบเกม การเขียนโค้ด การพัฒนาแอป เทคโนโลยีความจริงเสริม และอีกมากมายภายใต้โปรแกรมที่ Apple ให้การสนับสนุน

The Chicago Lighthouse มอบ iPad Air, Apple Pencil และ Magic Keyboard แก่ผู้ร่วมโครงการถ่ายภาพสำหรับทุกคน เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน ซึ่งการใช้ iPad ทำให้มีหน้าจอขนาดใหญ่พร้อมเครื่องมือสำหรับการถ่ายภาพ ปรับแต่งภาพ และแชร์ผลงาน ผู้ร่วมโครงการหลายคนซึ่งรวมถึง Opeifa ยังใช้ iPhone ของตัวเองเพื่อถ่ายภาพระหว่างเดินทาง โดยสามารถสลับไปมาระหว่างอุปกรณ์ได้อย่างราบรื่นตามต้องการ

ผู้เชี่ยวชาญของ Apple สอนให้นักเรียนใช้กล้องและการตั้งค่าการถ่ายภาพที่จำเป็น ตลอดจนคุณสมบัติการช่วยการเข้าถึงที่มีอยู่ในอุปกรณ์ อาทิ VoiceOver, ตัวอ่านหน้าจอที่มาพร้อมอุปกรณ์ของ Apple และคุณสมบัติซูม ซึ่งช่วยขยายองค์ประกอบบนหน้าจอให้ใหญ่ขึ้น และสำหรับผู้ที่ใช้ VoiceOver บน iPhone และ iPad ก็ยังสามารถใช้คุณสมบัติคำอธิบายภาพในแอปกล้องซึ่งอาศัยฟังก์ชั่นการเรียนรู้ของระบบบนอุปกรณ์เพื่อช่วยระบุตำแหน่งตัวแบบและอธิบายถึงวัตถุ ฉาก และบุคคลในมุมมองภาพ

มองชิคาโกในมุมที่แตกต่างผ่าน iPhone และ iPad

ขณะที่เยี่ยมชมท้องฟ้าจำลอง Adler และสวนสาธารณะเกาะ Northerly ในการถ่ายภาพวันสุดท้าย Opeifa แตะ 2 ครั้งที่หน้าจอ iPhone ด้วย 3 นิ้ว ในแอปกล้อง เพื่อขยายดูตัวแบบบนรูปภาพ "ก่อนที่จะรู้ว่ามีคุณสมบัติซูม ฉันต้องยกโทรศัพท์ขึ้นมาตรงหน้า" เธอกล่าว "วิธีนี้ทำให้ฉันมองเห็นได้ชัดขึ้น"

Opeifa เคยใช้เทคโนโลยีของ Apple มาตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาล ซึ่งพ่อแม่ของเธอได้ซื้อ iPad เจเนอเรชั่นแรกไว้ให้ใช้ช่วยอ่านงานชั้นเรียนแบบดิจิทัล เธอยังขำเมื่อนึกถึงตอนที่วิ่งดีใจไปรอบบ้านในไนจีเรียพร้อมกับ iPad mini เมื่อราวสองสามปีหลังจากนั้น เพราะตื่นเต้นที่ได้อุปกรณ์ Apple ชิ้นใหม่มาไว้ในคอลเลกชั่นส่วนตัว เนื่องจากใช้เวลาอยู่กับเทคโนโลยีของ Apple เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเธอจึงใช้ iPhone ได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อให้มองเห็นโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และยังเรียนรู้วิธีปรับแต่งภาพถ่ายบน iPad อีกด้วย ไม่ว่าจะเดินทางจากฟากหนึ่งไปยังอีกฟากหนึ่งของเมือง หรือจะถ่ายภาพดอกไม้ เส้นขอบฟ้าของเมือง และภาพถ่ายชีวิตคนเมืองรอบตัวที่เธอสนใจ ทั้งหมด Opeifa ได้นำมาผูกเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ

"ฉันชอบการที่รูปภาพช่วยบอกเล่าเรื่องราว" Opeifa กล่าว "โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการเขียนสคริปต์จริง เพราะฉันได้เรียนรู้ [วิธี] การพรรณนาด้วยภาพที่แท้จริง"

Opeifa ชื่นชอบการใช้ภาพยนตร์และโทรทัศน์เป็นสื่อภาพในการทำให้เรื่องราวมีชีวิตจริง และมองว่าการปรับแต่งรูปภาพเป็นวิธีที่ช่วยขัดเกลาทักษะการเขียนบทภาพยนตร์ โดยเธออธิบายว่า "การเขียนบทภาพยนตร์และการปรับแต่งรูปภาพมีลักษณะที่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ที่ตาบอด คุณก็ยิ่งต้องอธิบายให้ละเอียด"

"ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้อยู่ในวงการโทรทัศน์เพราะเป็นหญิงผิวดำทั้งยังพิการทางสายตาตามกฎหมายและมีความบกพร่องทางการมองเห็น" Opeifa กล่าวเสริม โดยเธอกำลังเตรียมตัวไปแคลิฟอร์เนียในเดือนนี้เพื่อเรียนด้านการเขียนบทภาพยนตร์ที่ Chapman University "โทรทัศน์เป็นช่องทางที่ทำให้ผู้คนได้มองเห็นตัวเองในหลากหลายตัวตนและรูปแบบ"

Opeifa เป็นเพียงหนึ่งในผู้ร่วมโครงการถ่ายภาพสำหรับทุกคนที่มีไอเดียอันยิ่งใหญ่และชัดเจนต่ออนาคตของตัวเอง ส่วน Lance Gladney ซึ่งใฝ่ฝันที่จะตามรอยอาชีพด้านศิลปะ ก็ตั้งความหวังที่จะผลิตผลงานอนิเมะเรื่องยาวเป็นของตัวเอง โดย Gladney เข้าร่วมโครงการเพื่อทดลองทัศนศิลป์รูปแบบใหม่ๆ ด้าน John Johnson ที่เข้าร่วมโครงการเป็นปีที่สอง ก็มีความสนใจด้านวิศวกรรมไฟฟ้าหรือการออกแบบเกม และ Alaula "Aihua" Sprecher ที่คิดว่าจะเรียนต่อในวิทยาลัยด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์

Shelle Hamer ผู้อำนวยการฝ่ายการเตรียมตัวเยาวชนสู่วัยทำงานของ The Chicago Lighthouse และ Lisa Davis อดีตผู้อำนวยการโครงการหนึ่งฤดูร้อนในชิคาโกซึ่งนำแนวคิดโครงการถ่ายภาพสำหรับทุกคนมาสู่ The Chicago Lighthouse ต่างรู้สึกยินดีที่ได้เห็นพัฒนาการของผู้ร่วมโครงการ

"ความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นเรื่องยาก หรือสอนให้เข้าใจกันได้ยาก" Davis ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายจ้างงานเยาวชนที่ DFSS ก่อนที่จะเกษียณอายุ กล่าว "แต่โครงการนี้ช่วยให้เยาวชนได้เปิดโลกและกล้าแสดงความมั่นใจในตัวเอง และโยนคำว่า ทำไม่ได้ ทิ้งไป"

Hamer เป็นศิลปินคนหนึ่งที่มีความสุขมากว่า 4 ทศวรรษ กับการคอยช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพด้วยเครื่องมือและการศึกษาที่ทำให้คนเหล่านั้นมีชีวิตที่พึ่งพาตนเองได้มากยิ่งขึ้น ตอนที่เธอและ Davis เริ่มโครงการถ่ายภาพสำหรับทุกคนเมื่อ 4 ปีก่อน ก็ต้องประหลาดใจที่ได้เห็นมุมมองของผู้คนที่ต่างกันและแสดงตัวตนอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงเห็นโอกาสในการใช้เทคโนโลยีของ Apple และหลักสูตรใครๆ ก็สร้างสรรค์ได้ เพื่อช่วยสนับสนุนโครงการ

"เครื่องมือการถ่ายภาพให้ประโยชน์แก่ผู้สูญเสียการมองเห็นได้อย่างมาก" Hamer กล่าว "ทั้งในเชิงศิลปะและการใช้งาน เพราะทำให้เด็กๆ ทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถที่จะออกเดินทางไปที่ใดก็ได้ ไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน การฝึกอบรมด้านคุณสมบัติการช่วยการเข้าถึงที่แต่ละคนได้รับจาก iPhone และ iPad ทำให้ทุกคนเกิดความมั่นใจที่จะไปยังสถานที่ต่างๆ ในเมือง และสัมผัสกับความอิสระที่ได้เดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ ด้วยตัวเอง"

กล่าวได้ว่าเป้าหมายสูงสุดของโครงการก็คือ การสนับสนุนเยาวชนในภารกิจสู่การพึ่งพาตนเองและช่วยปลูกฝังให้เกิดความมั่นใจในการฝากอนาคตเอาไว้ในมือของตนเอง ดังที่ Hamer กล่าวปิดท้ายว่า "เราช่วยเปิดโลกแก่พวกเขา"

ขอบคุณ... https://www.apple.com/th/newsroom/2022/08/seeing-chicago-differently-with-iphone-and-ipad/

ที่มา: apple.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 ส.ค.65
วันที่โพสต์: 19/08/2565 เวลา 11:24:25 ดูภาพสไลด์โชว์ มองชิคาโกในมุมที่แตกต่างผ่าน iPhone และ iPad