‘ซัมซุง’ สอนโค้ดดิ้งเด็กไทย ผุดไอเดียกล้องแปลภาษามือ-กำไรจับโกหก

‘ซัมซุง’ สอนโค้ดดิ้งเด็กไทย ผุดไอเดียกล้องแปลภาษามือ-กำไรจับโกหก

ซัมซุง สอนโค้ดดิ้งเด็กไทย ผุดไอเดีย กล้องแปลภาษามือ-กำไรจับโกหก-แอปช่วยผู้พิการทางสายตา เน้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในยุคปัจจุบัน

ทักษะโค้ดดิ้งคือหนึ่งในทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 เพราะสังคมปัจจุบันมีเทคโนโลยีอยู่ในทุกกิจกรรมของชีวิต ซึ่งผู้ที่จะมีทักษะดังกล่าวต้องอาศัยทั้งความรู้ จินตนาการ และการลงมือปฏิบัติจริง บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เห็นถึงความสำคัญของทักษะดังกล่าวจึงได้เริ่มจัดโครงการนำร่อง Samsung Innovation Campus ขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ตั้งเป้ายกระดับการเรียนรู้ของเยาวชนไทยสู่การเป็นพลเมืองโลก ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

ปีนี้ “ซัมซุง” เดินหน้าดำเนินโครงการโดยมุ่งเน้นให้เยาวชนไทยใช้ความรู้ด้านโค้ดดิ้งและความคิดสร้างสรรค์ มานำเสนอไอเดียสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในยุคปัจจุบัน”

โดยหลังจากที่เยาวชนเข้าร่วมคอร์สอบรมโค้ดดิ้งออนไลน์จำนวน 70 ชั่วโมง จะต้องผสานความรู้ที่เรียนไปทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีสร้างการเปลี่ยนแปลง ฝึกคิดแบบนวัตกร การคิดแบบมีตรรกะ (logical thinking) และเนื้อหาความรู้โค้ดดิ้ง 2 ภาษา ได้แก่ C และ Python รวมถึงความรู้เกี่ยวกับเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อนำมาพัฒนาไอเดียในการออกแบบนวัตกรรม เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต่างมีความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และความรู้ด้านโค้ดดิ้งมาสร้างประโยชน์ แต่ละคนต่างมีมุมมองที่อยากจะช่วยพัฒนาสังคมในมิติมุมมองที่ต่างกันออกไป ดังนี้

กล้องแปลภาษามือ

“ด.ญ.นฤพร องค์มรกต” นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) เล่าว่า ฝันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องโค้ดดิ้งมาก่อน ซึ่งการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เข้าใจหลักพื้นฐานในการเขียนโค้ด และเห็นแนวทางในการนำความรู้ไปต่อยอด เกิดความภูมิใจเมื่อเราสามารถเขียนโค้ดให้ทำตามคำสั่งต่างๆ ได้สำเร็จ

“การนำเสนอผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนจบคอร์สได้ลองนำเสนอไอเดียกล้องแปลภาษามือ โดยอาศัย AI ช่วยตรวจจับท่าทางของภาษามือแล้วเรียบเรียงเป็นเสียงคำพูด ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการด้านพูด หรือการได้ยินสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น เพราะหนูอยากให้ทุกคนสื่อสารกันได้อย่างไร้ข้อจำกัด”

กำไรจับโกหก

“ด.ญ.ทิพาวดี ศรีปีญญารัตน์” โรงเรียนสายปัญญารังสิต บอกว่า มีความฝันที่จะก้าวสู่อาชีพในสายงาน Data Science และ Computer Engineering ความรู้พื้นฐานเรื่องโค้ดดิ้งเป็นสิ่งจำเป็นต่อสายอาชีพที่สนใจในอนาคต จึงสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาด โดยเฉพาะ Python ซึ่งเป็นเนื้อหาที่โรงเรียนไม่ได้สอน

“หนูมีไอเดียที่อยากจะประดิษฐ์กำไรจับโกหก ที่จะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการสั่นของคลื่นเสียง ทำให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนตรวจพบพิรุธของผู้ที่กำลังโกหก นอกจากความรู้แล้ว สิ่งที่ประทับใจในโครงการ คือการได้รับมิตรภาพที่ดีจากเพื่อนต่างโรงเรียนที่ชื่นชอบในเรื่อง programming เหมือนกัน ทำให้มีโอกาสในการแบ่งปันไอเดียและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ๆ ที่มีความสนใจแบบเดียวกัน”

แอปช่วยผู้พิการทางสายตา

ด้าน “ด.ช.โชติวัฒน์ ตั้งสถาพร” นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า หลงใหลเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่สมัยอนุบาล และมีความฝันจะไปสอบแข่งขันโค้ดดิ้งระดับประเทศ

“แม้ว่าจะมีพื้นฐานภาษา C มาแล้ว แต่ส่วนตัวยังไม่เคยเรียน Python และ AI เพิ่งได้มีโอกาสมาเรียนที่ Samsung Innovation Campus เป็นที่แรก อาจารย์แต่ละท่านสามารถอธิบายและถ่ายทอดความรู้ออกมาได้อย่างดีและเข้าใจง่าย ถือว่าได้เป็นการเพิ่มทักษะและเก็บประสบการณ์ให้มากขึ้นก่อนลงสนามจริงในอนาคต”

“ผมได้เสนอไอเดียนวัตกรรม Blind All Can See ที่เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถกลับมารับรู้ได้เหมือนในอดีต โดยใช้หลักการทำงานของกล้องและ AI แอปพลิเคชันนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกและรับรู้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญเหมือนคนทั่วไป”

หากเยาวชนไทยส่วนใหญ่ได้รับการบ่มเพาะความรู้ และรับการสนับสนุนให้เดินตามความฝัน พวกเขาจะกลายเป็นนวัตกรที่สามารถใช้สมองและสองมือในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น พลังแห่งจินตนาการและความรู้ของเยาวชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมดิจิทัลในอนาคต

ขอบคุณ... https://www.prachachat.net/education/news-688597

ที่มา: prachachat.net /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 10 มิ.ย.64
วันที่โพสต์: 11/06/2564 เวลา 10:09:19 ดูภาพสไลด์โชว์ ‘ซัมซุง’ สอนโค้ดดิ้งเด็กไทย ผุดไอเดียกล้องแปลภาษามือ-กำไรจับโกหก