ติดอาวุธทักษะ AI ผู้พิการ เคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล

ติดอาวุธทักษะ AI ผู้พิการ เคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล

ในยุคดิจิทัล ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เริ่มหันมาให้ความสนใจปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI หลายคนมองว่า AI จะเข้ามาทดแทนมนุษย์ ทำให้คนตกงาน แต่ความจริงแล้ว AI ยังคงต้องการกำลังคนในการพัฒนา และการพัฒนา AI ยังสร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนพิการ ที่มีศักยภาพแต่ยังขาดโอกาส

วันนี้ (10 พฤศจิกายน) นิรันดร์ ประวิทย์ธนา Chief Business Officer Vulcan Coalition (วัลแคน โคอะลิชั่น) บริษัทพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย ในงาน “Empowering Disability to Thriving in Digital Era : ปลุกพลังคนพิการ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย” ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จตุจักร กรุงเทพฯ ว่า ในระดับโลก ความต้องการใช้ AI อันดับ 1 คือประเทศจีน ถัดมา คือ สหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 ของโลก ไทยยังล่าหลังในการพัฒนา AI มากพอสมควร คำถามคือ จะเปลี่ยนอย่างไร เป็นโจทย์สำคัญ ของธุรกิจไทยในการพัฒนาเอไอแบบก้าวกระโดด และสิ่งที่ทำได้ คือ การจัดการข้อมูล

“เอไอในไทยพัฒนาช้า เพราะงานวิจัยเอไอส่วนใหญ่ล้มเหลว ปัญหาแรก คือ ขาดแคลนข้อมูล ความจริงข้อมูลในไทยเยอะแต่ไม่ได้ถูกจัดระเบียบ ขณะที่การจัดระเบียบข้อมูลจะทำให้ข้อมูลมีคุณค่า และนำมาใช้ AI ได้ ข้อมูลเยอะจะทำให้ AI เก่งขึ้น และนี่คือโอกาสในการให้ผู้พิการขับเคลื่อน”

ติดอาวุธทักษะ AI ผู้พิการ เคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล

คนพิการทำข้อมูลได้หรือไม่ ?

มีงานวิจัยหลายชิ้นทั่วโลกยืนยันศักยภาพคนพิการ เช่น คนพิการหูหนวกจะมีความสามารถมองเห็นสูงขึ้น ที่ผ่านมา วัลแคน ได้ทำการเทรนด์ผู้พิการกว่า 300-400 คน พบว่าผู้พิการมีศักยภาพ มีการนำผู้พิการทางสายตามาจัดเรียงข้อมูลเสียง ซึ่งสามารถทำได้ดีกว่าคนปกติถึง 2.5 เท่า สมองเปลี่ยนรูปแบบการทำงานหลังจากความพิการ จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า คนพิการไม่ได้ทำงานนี้เพียงเพราะเขาไม่มีอะไรทำ แต่การพัฒนาเทคโนโลยี AI จำเป็นต้องได้พวกเขามาทำงาน เพื่อให้ AI เก่งขึ้น

AI ตัวแรกที่ร่วมพัฒนาโดยคนพิการ

คนพิการแม้จะสูญเสียบางอย่าง แต่ก็ได้บางอย่างกลับคืนมา เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน จะมีสายตาที่ดี ส่วนผู้พิการทางสายตา จะมีความสามารถทางการได้ยิน นำมาซึ่งการดึงศักยภาพ ของผู้พิการ มาร่วมพัฒนา AI

“Text to Speech Model” ถือเป็น AI ตัวแรกของโลกที่คนพิการทางการมองเห็นมีส่วนร่วมในการพัฒนา จุดเริ่มต้นจาก Project on Hand จากการแปลงข้อความเป็นเสียงภาษาไทย (Text-to-Speech) โดย AI Scientist และทีมพัฒนาได้เขียนโปรแกรมเพื่อให้คนพิการทางสายตาใช้ในการทำ Data Labelling โดยเฉพาะ เมื่อได้ชุดข้อมูลที่จัดการเรียบร้อยแล้วก็จะนำไปพัฒนาต่อเป็น AI as a service เช่น หนังสือเสียง และระบบ AI Call Center เป็นต้น ทั้งนี้ AI ที่แปลประโยคออกมาเป็นเสียงพูดภาษาไทย มุ่งเน้นไปที่ความเป็นธรรมชาติของเสียง ให้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด

ติดอาวุธทักษะ AI ผู้พิการ เคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล

โปรเจคถัดมา คือ Image Labelling ที่เหมาะกับความสามารถของคนพิการทางการได้ยิน เพื่อพัฒนา Computer Vision AI เมื่อได้ชุดข้อมูลภาพที่จัดการเรียบร้อยแล้ว จะนำไปพัฒนาต่อเป็น AI as a service เช่น ปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยนับผลผลิตทางการเกษตร (Crop Counting AI) ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) และจุดตรวจอัจฉริยะ (Vulcan Checkpoint) ที่จะใช้ AI จากกล้องในการตรวจสอบการใส่หน้ากากอนามัยและแจ้งเตือนความผิดปกติในกรณีที่คนลืมใส่หน้ากาก

ทั้งนี้ การพัฒนา AI ดังกล่าว อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยพัฒนามาแล้วกว่า 6 เดือน ด้วยผู้พิการราว 35 คน และคาดว่าในปีหน้าจะเพิ่มผู้พิการให้เข้ามาร่วมพัฒนาอีกกว่า 200 คน

นอกจากนี้ ล่าสุด วัลแคน โคอะลิชั่น ลงนามความร่วมมือกับ พันธมิตรภาคเอกชน และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ส่งเสริมทักษะดิจิทัล ยกระดับการจ้างงานคนพิการ ผ่าน “โครงการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการประกอบอาชีพสำหรับคนพิการ” ยกระดับการจ้างงานคนพิการ โดยจัดอบรมทักษะด้าน AI การจัดเตรียมข้อมูล เพื่อสร้างโอกาสการทำงานรูปแบบใหม่ ผ่านความถนัดของผู้พิการ

โดยพันธมิตรภาคเอกชนที่ให้ความสนใจ ได้แก่ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) , บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) , บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท อโกด้า เซอร์วิสเซส จำกัด และ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จํากัด ซึ่งเล็งเห็นศักยภาพและพร้อมส่งเสริมคนพิการผ่านการจ้างเหมาบริการคนพิการตามมาตรา 35 จำนวน 200 อัตรา

เพื่อให้คนพิการที่ผ่าน โครงการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการประกอบอาชีพสำหรับคนพิการ ได้ใช้ทักษะทำงานจัดเตรียมข้อมูลเพื่อพัฒนา AI ในตำแหน่ง AI Trainers และมีรายได้เลี้ยงชีพต่อไป ถือเป็นการนำร่องเพื่อเปิดทางเลือกอาชีพด้านดิจิทัลสำหรับคนพิการ และตอกย้ำศักยภาพของคนพิการในการเป็น AI Trainers ซึ่งถือเป็นอาชีพทางเลือกในยุคชีวิตวิถีใหม่อีกด้วย โดยขณะนี้ มีผู้พิการสนใจสมัครเข้าอบรมมากกว่า 400 คน ซึ่งต้องทำการคัดเลือกในลำดับต่อไป

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร DEPA กล่าวเสริมว่า ภารกิจของ DEPA คือ การส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาอุตสาหกรรมนวัตกรรมดิจิทัล คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาดิจิทัล และยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญ คือการพัฒนากำลังคนดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนภารกิจ

“กำลังคนดิจิทัลมีหลากหลายกลุ่มและระดับ เราส่งเสริมการพัฒนาทักษะ ตั้งแต่พื้นฐานการรู้เท่าทันให้ปลอดภัยและไม่คุกคามผู้อื่น นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการประกอบอาชีพ และคนที่ทำงานด้านดิจิทัล กระทั่งถึงกลุ่มData Science ระดับการพัฒนาที่ทำตอนนี้ เกี่ยวข้องกับผู้พิการ ที่ต้องเข้าถึงดิจิทัล และใช้ดิจิทัลเพื่อการประกอบอาชีพได้”

ย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทาง Depa มีการพูดคุยกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เชิญภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน ในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเกี่ยวกับคนพิการ หรือทักษะที่ต้องส่งเสริมคนพิการให้ได้รับรู้ รวมถึงทำงานร่วมกับภาคีอื่นๆ ในการดำเนินงานหลากหลาย เช่น การอบรมผู้ที่ทำงานที่ศูนย์ และผู้พิการทั้ง 9 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้เข้าใจและมีทักษะ ไมโครซอฟต์ และตระหนักภัยในโลกไซเบอร์ ฯลฯ ต่อเนื่องมาถึงการร่วมมือกันในครั้งนี้ เป้าหมาย คือ ให้ผู้พิการได้มีความรู้ มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพ และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม โดยในปี 2564 ตั้งเป้าอบรมคนพิการเพิ่มขึ้น 10 เท่า หรือ 2,000 คน

ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/907125

ที่มา: bangkokbiznews.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 10 พ.ย.63
วันที่โพสต์: 12/11/2563 เวลา 10:19:04 ดูภาพสไลด์โชว์ ติดอาวุธทักษะ AI ผู้พิการ เคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล