แนวคิดเพื่อชีวิตที่เท่าเทียม

แนวคิดเพื่อชีวิตที่เท่าเทียม

หากจะกล่าวถึงเรื่องของการเดินทางไปที่ต่าง ๆ สำหรับคนหลาย ๆ คนเป็นเรื่องที่ทำโดยไม่ต้องตระเตรียมอะไรจากการที่มีความพร้อมทางด้านสุขภาพ และทุนทรัพย์ แต่สำหรับคนอีกเป็นจำนวนมากนั้น

หากจะกล่าวถึงเรื่องของการเดินทางไปที่ต่าง ๆ สำหรับคนหลาย ๆ คนเป็นเรื่องที่ทำโดยไม่ต้องตระเตรียมอะไรจากการที่มีความพร้อมทางด้านสุขภาพ และทุนทรัพย์ แต่สำหรับคนอีกเป็นจำนวนมากนั้น การเดินทางเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัว จากความไม่พร้อมทั้งด้านร่างกายไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือคนชราที่อาศัยเพียงลำพังในยุคที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็ตาม

ในงานไจเท็กซ์ (GITEX) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและนิทรรศการด้านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค(คล้ายงาน CES ในสหรัฐอเมริกา) ที่จัดขึ้นในเมือง ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 6-10 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น ทางบริษัท เอทิซาลัท (Etisalat) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ร่วมกับทางสำนักออกแบบ “อิตัลดีไซน์” (Italdesign) ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในกลุ่มเครือข่ายของโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป ในการนำเสนอแนวคิด “ยานยนต์อัจฉริยะสำหรับผู้ใช้วีลแชร์” ที่มีชื่อโปรเจคท์ว่า “WheeM-i” ที่จะเป็นแนวคิดที่จะเปิดมิติใหม่ของการเดินทางให้กับเหล่าผู้ที่ใช้รถวีลแชร์นั่นเอง

หลักการของ WheeM-i นั้นเป็นรถพลังไฟฟ้าสาธารณะที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกับ จักรยานสาธารณะ “ปันปั่น” ที่ทางกรุงเทพฯได้นำมาให้บริการในเขตเมืองของกรุงเทพฯนั่นเอง โดยตัวรถนั้นจะเป็นเหมือนแคร่ 4 ล้อ ที่ผู้พิการหรือคนชราที่ใช้รถเข็นวีลแชร์จะสามารถนำเอารถเข็นวีลแชร์ขึ้นไปบนตัวมันได้ โดยรถสามารถเดินทางในแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Autonomous) ที่ทำงานโดยระบบขับเคลื่อนและบังคับเลี้ยวแยกอิสระและควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์แบบเดียวกับรถไฟฟ้าเซ็กเวย์ (SEGWAY) ที่ทำการเลี้ยวโดยการใช้ความ เร็วรอบที่แตกต่างกันระหว่างล้อซ้ายและล้อขวาเท่านั้น ตัวอย่างคือในการเลี้ยวซ้ายล้อขวาจะหมุนเร็วกว่าล้อซ้ายและเมื่อจะวิ่งตรงล้อซ้ายและขวาจะหมุนด้วยความเร็วเท่ากัน ส่วนล้อหลังนั้นเป็นเพียงล้อคาสเตอร์ (Castor Wheels) ที่เคลื่อนที่เลี้ยวตามแบบอิสระไม่มีกลไกเป็นเหมือนล้อของรถเข็นในซูเปอร์มาร์เกตนั่นเอง!

รถ WheeM-i นั้นจะทำการจอดอยู่ในสถานีที่จะกระจายกันออกไปทั่วเมือง โดยการใช้งานจะต้องทำการจองรถผ่านทางแอพพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟน ซึ่งเมื่อผู้ใช้ไปถึงสถานีของรถ WheeM-i ที่อยู่ในละแวกชุมชนแล้วก็จะทำการขึ้นไปบนตัวรถซึ่งจะขึ้นจากทางท้ายรถได้ด้วยกำลังของตัวเองผ่านทางระบบทางลาดที่ติดตั้งอยู่กับตัวรถ และรวมไปถึงด้านท้ายรถที่สามารถย่อตัวลงได้เพื่อให้ง่ายต่อการขึ้นลง และเมื่อขึ้นสำเร็จแล้วก็สามารถขับออกไปได้เลย และเมื่อเสร็จภารกิจก็จะต้องนำกลับมาจอดยังสถานีของ WheeM-i ที่ใดก็ได้เพื่อทำการชาร์จไฟ และพร้อมที่จะให้บริการกับสมาชิกคนต่อไป

สำหรับระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ จะช่วยพาผู้พิการหรือคนชราไปยังจุดหมายผ่านทางการปักหมุดบนแอพพลิเคชั่น และเมื่อออกวิ่งแล้วเซ็นเซอร์ต่าง ๆ จะพร้อมช่วยหลบหลีกทั้งยานพาหนะ และอุปสรรคบนถนนอื่น ๆ โดยอัตโนมัติ ด้วยการใช้เซ็นเซอร์แบบอัลตร้าโซนิค(Ultrasonic sensor) ส่วนการควบคุมนั้นใช้เพียงจอยสติ๊ก (Joystick) เพียงอันเดียวเท่านั้น โดยสัดส่วนของรถนั้นนับว่ากระชับมาก มีความยาวเพียง 1.5 เมตร กว้างประมาณ 0.95 เมตร เท่านั้น

นับว่าเป็นอีกหนึ่งรถยนต์แนวคิดที่น่าสนใจ เพราะตอบสนองกับโลกยุคใหม่ที่สังคมกำลังมองหาคำตอบใหม่ ๆ ให้กับการเดินทาง และโลกที่คนรุ่นใหม่นั้นลดความสนใจในการครอบครองยานพาหนะและหันไปสนใจในเรื่องของการสมัครเป็นสมาชิกและใช้งานเท่าที่ต้องการ เพราะไม่ต้องสนใจเรื่องการดูแลบำรุงรักษา แนวคิดนี้สามารถถูกนำไปพัฒนาใช้เป็นยานพาหนะสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปที่ไม่ต้องมีทักษะในการควบคุมรถเหมือนในปัจจุบัน จากการใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับเครือข่ายโทรคมนาคมความเร็วสูง

เชื่อว่าถึงจุดนี้หลาย ๆ ท่านอาจจะมองเห็นภาพแล้วก็ได้ว่าด้วยแนวคิดนี้เราได้เปิดโอกาสใหม่ ๆ ของการเดินทางขึ้นแล้ว ส่วนจะเป็นจริงเมื่อใดคงจะต้องรอลุ้นกัน

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/it/738507

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 27 ต.ค.62
วันที่โพสต์: 29/10/2562 เวลา 10:42:59 ดูภาพสไลด์โชว์ แนวคิดเพื่อชีวิตที่เท่าเทียม