เปลี่ยนภาระเป็นพลัง เด็กสุพรรณฯ เจ๋ง สร้าง "วีลแชร์ AI" สั่งด้วยเสียง

เปลี่ยนภาระเป็นพลัง เด็กสุพรรณฯ เจ๋ง สร้าง "วีลแชร์ AI" สั่งด้วยเสียง

6 ปีแห่งความพยายามของครูและนักเรียน 10 กว่าคน เพื่อมอบความสุขให้ผู้สูงวัยได้อยู่กับโรคโดยไม่ป่วยใจ สร้างนวัตกรรมใหม่ "รถเข็นกายภาพบำบัด" แขน ขา เข่า และเท้า สั่งการอัตโนมัติด้วยเสียง และแอปพลิเคชันบน Smart Phone

สถิติตัวเลขผู้สูงอายุในปี 61 ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แสดงให้เห็นว่า ยิ่งเวลาผ่านไปทุกๆ ปี ผู้สูงอายุในประเทศไทยยิ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยแล้ว 3-4 แสนคนต่อปี นั่นหมายถึง สิ่งที่มาพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น คือ ปัญหาสุขภาพร่างกายที่เสื่อมถอยตามอายุ

สถิติของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ปี 2559 พบว่า โรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และอัมพาต บางโรคก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งโรคที่พบในผู้สูงอายุมักเกี่ยวข้องกับการเดินเป็นส่วนใหญ่ "รถเข็น" (Wheelchair) จึงเป็นอุปกรณ์ตัวช่วยที่จำเป็นในการเคลื่อนที่

นับเป็นข่าวดี และสร้างชื่อเสียงให้กับคนไทย เมื่อนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ร.ร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย จ.สุพรรณบุรี ใช้ความพยายามถึง 6 ปี พัฒนาและสร้าง "รถเข็นกายภาพบำบัด" สั่งการอัตโนมัติด้วยเสียงและแอปพลิเคชันบน Smart Phone เพื่อช่วยในการออกกำลังกาย และการทำกายภาพบำบัดบริเวณกล้ามเนื้อแขน ขา เข่า เท้า สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม ปัญหาการเดิน และมีภาวะกล้ามเนื้อขาส่วนล่างตึง สามารถเคลื่อนที่ เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาได้ แขนและขาเคลื่อนที่ขึ้นลงได้ตามคำสั่ง คว้ารางวัลที่ 1 สาขา Biomedical Science จากการแข่งขัน 38 ปี Beijing Youth Science Creation Competition (BYSCC) ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อ มี.ค. 61 จากจำนวนผู้เข้าแข่งขัน 30 ทีม 19 ประเทศ

ล่าสุด ในวันเยาวชนแห่งชาติ วันที่ 20 กันยายน 2562 จะเข้ารับรางวัลกลุ่มเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคอมพิวเตอร์ จากโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง Physiotherapy exercise Wheelchair จากกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

เสียงสะท้อนผู้ป่วยทดลองใช้ อีกครูคนสำคัญช่วยพัฒนาต่อไป

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ คือ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน Physiotherapy exercise Wheelchair "นางสาวขนิษฐา ปานชา" ครูชำนาญการ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่เก็บหอมรอบริบจากงบส่วนตัวซื้ออุปกรณ์ให้นักเรียนตั้งแต่รุ่นแรกสู่รุ่นที่ 6 ทั้งหมดกว่า 10 ชีวิต ได้เรียนรู้ วิจัย และพัฒนาเรื่อยๆ

"งานชิ้นนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ตลอด 6 ปี มีงบก็ทำ ไม่มีงบก็หยุดไว้ก่อน ไม่ได้ทำทีเดียว เสียบ้าง พลาดบ้าง ก็เรียนรู้กันไป เราทุนน้อยก็ค่อยๆ ทำไป ไม่ได้ใช้งบโรงเรียน คิดทำเพราะเห็นคนป่วยโรคอัมพฤกษ์ที่ไม่มีเงิน อยู่กับแม่อายุ 80 กว่า พยายามช่วยเหลือตัวเองจนตกเก้าอี้ สงสารมาก แม่ก็แก่ ตัวเองก็พิการ และคนเราไม่มีใครอยากเป็นภาระให้คนอื่น ถ้าช่วยเหลือตัวเองได้เขาจะดีใจมาก มีวันหนึ่งนำรถเข็นไปให้ลองใช้ ครูก็ร้องไห้ คนป่วยก็ร้องไห้เพราะดีใจ"

ครูขนิษฐา เล่าที่มาของแนวคิดและบอกเล่าเรื่องราวที่นักเรียนสนใจทำ "รถเข็นกายภาพบำบัด" ว่า นักเรียนในชุมนุม Innovation and robot ของโรงเรียน สังเกตเห็นคนรอบตัวที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง พิการครึ่งซีก และเป็นผู้สูงอายุ จึงเกิดไอเดีย "ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนในครอบครัวมากนัก" นักเรียนแต่ละคนจึงไปถามข้อมูลจากผู้ป่วยบ้าง คนในครอบครัวบ้าง จากนั้นมาระดมความคิดกันในชุมนุม นำสิ่งที่เรียนมาช่วยกันสร้างและออกแบบ

เริ่มจากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และนำไมโครคอนโทรลเลอร์มาใช้กับรถเข็น จากการศึกษาเพิ่มเติมมีเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีก และถ้าขาหรือแขนอีกข้างที่ไม่ได้เป็นไม่มีการเคลื่อนไหว ก็อาจจะขยับไม่ได้อีกเลย เหล่านักเรียนจึงเพิ่มให้ส่วนที่วางขาและแขนของตัวรถเข็นสามารถยกขึ้นลงเหมือนทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ด้วยตัวเอง และลดภาวะความเครียดที่อาจเกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วย สุดท้ายนำไปลองใช้กับเพื่อนนักเรียนด้วยกันก่อน ค่อยนำไปใช้กับผู้ป่วยจริง

คุณปู่วัย 67 ปี ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ทำให้เกิดอาการอัมพาตครึ่งตัวจากการล้มในห้องนอน และได้ทดลองนั่งรถเข็นกายภาพบำบัด ผลปรากฏว่า คุณปู่มีความพอใจ ส่วนผู้ป่วยอีกหนึ่งท่าน เป็นหลวงตา มีปัญหาการเดินในระยะทางสั้นๆ จะรู้สึกปวดขาเวลาเดินจากวัดไปโรงเรียนข้างๆ ที่อยู่ไม่ไกล หมอเลยให้ยกและเหยียดขาขึ้นลง เมื่อลองใช้รถเข็นกายภาพบำบัดแล้ว รู้สึกว่าการทำกายภาพบำบัดมีความคล่องตัวขึ้น เพราะมีที่รองขา และสามารถทำกายภาพบำบัดได้โดยไม่ต้องให้คนอื่นช่วย

6 ปีแห่งความพยายาม พัฒนาสั่งการด้วยเสียง

ระยะเวลา 6 ปี มีการคิดค้นและพัฒนารถเข็นกายภาพบำบัด ดังนี้ ปี 2557 นำเซนเซอร์มาใส่รถเข็น เพื่อรถเข็นนำผู้สูงอายุเข้าห้องน้ำ, ปี 2558 สร้างรถเข็นกายภาพบำบัดกึ่งอัตโนมัติใช้ในการกายภาพบำบัด ขา เข่า และส้นเท้า เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ขา เข่า และเท้า ปี 2559 สร้างรถเข็นกายภาพบำบัด แขน ขา เข่า และเท้า อัตโนมัติ ควบคุมผ่านปุ่มกด ปี 2560 พัฒนาให้ควบคุมผ่าน Application บนสมาร์ทโฟน และสั่งการด้วยเสียง

การใช้แอปพลิเคชันในการสั่งการ แนวคิดนี้ ครูขนิษฐาอธิบายว่า เริ่มจากนักเรียนคิดกันว่าการใช้โทรศัพท์จะช่วยให้มีความสะดวกสบายต่อการควบคุมรถเข็นมากขึ้น พวกเขาจึงเริ่มออกแบบแอปพลิเคชันไว้โหลดเข้าโทรศัพท์ และเชื่อมต่อกับรถเข็นด้วยบลูทูธ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจากการใช้ปุ่มกดของตัวรถ ที่มีแค่คนนั่งรถเท่านั้นถึงจะใช้ได้ แต่ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถควบคุมรถเข็นได้ด้วยตนเอง ต้องให้ผู้อื่นบังคับให้ แอปพลิเคชันนี้จึงสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จุดเด่นอีกอย่างของแอปพลิเคชัน คือ สั่งการได้ในระยะประมาณ 5 เมตร

การสั่งการด้วยเสียง รองรับทั้งเสียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษ วิธีการใช้งานเริ่มจากการอัดเสียงของผู้ใช้ลงไปก่อน ระบบจะจดจำเสียงของผู้ใช้เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ผู้ป่วยนอนหลับอยู่บนรถเข็น และมีผู้อื่นออกคำสั่งให้รถ "ไป" รถก็จะมุ่งไปข้างหน้าโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว นอกจากจะช่วยเรื่องการเคลื่อนตัวของรถ การสั่งการด้วยเสียงยังสามารถช่วยเรื่องการรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ แค่วางแขนของผู้ป่วยลงไปบนที่วางแขนที่ทำขึ้น และออกคำสั่ง "ขึ้น" "ลง" "เข้า" "ออก"

"ในอนาคตเราอยากทำให้ระบบเสถียรมากกว่านี้ เพราะว่าระบบเสียงคิดมานานมากกว่าจะทำได้ แต่ละอย่างทำมาแล้ว อาจเห็นว่านิดเดียว แต่จริงๆ ผ่านกระบวนการคิดเยอะมาก อย่างแขนที่เด็กทำมา 3 รอบกว่าจะได้ ตรงขาก็ทำมาประมาณ 3 รอบกว่าจะได้ เป็นขาที่สมบูรณ์ ขาตอนนี้คือเลื่อนขึ้นเลื่อนลงได้เอง สามารถที่จะงอเข่าและเหยียดเข้าได้เอง แขนก็ยกขึ้นได้เอง" ครูขนิษฐาเล่าถึงกระบวนการผลิต

ไม่หยุดพัฒนา อนาคต "สั่งการด้วยสมอง" แต่ขาดทุนทรัพย์

การพัฒนาความสามารถของ "รถเข็นกายภาพบำบัด" ครูขนิษฐาเปิดเผยว่า ในอนาคตจะให้มีการสั่งการด้วยสมอง และพูดออกคำสั่งให้ป้อนอาหารผู้ป่วยที่แขนเคลื่อนไหวไม่ได้ ซึ่งทีมนักเรียนได้ไปปรึกษาคุณหมอในโรงพยาบาลถึงระยะแขนของการรับประทานอาหาร โดยตั้งเป้าหมายว่า "ถ้าออกคำสั่งแล้วป้อนอาหารให้ได้ นั่นหมายถึงการประสบความสำเร็จขึ้นอีกระดับในการทำกายภาพบำบัด"

"รถเข็นที่นำมาพัฒนา ได้รับบริจาคมาจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลที่ไม่ใช้แล้วแล้วนำมาประยุกต์ติดตั้งอุปกรณ์หลายอย่างช่วยในการทำงาน เช่น ตัวบอร์ด ไมโครคอนโทรลเลอร์ มอเตอร์ใช้ยกแขน ขา ใช้ขับเคลื่อนที่รถ ที่วางแขนกับขาใช้สแตนเลสมาดัด เชื่อม สิ่งที่คิดพัฒนาต่อไป คือ สั่งการด้วยสมอง ซึ่งยังหาทุนให้เด็กทำไม่ได้ ในการแข่งขันครั้งหนึ่ง เราได้ที่ 9 แต่เขาเอาแค่ 8 ทีมเข้ารอบ มีท่านหนึ่งชอบรถเข็นของเรามาก ต้องการให้ไปต่างประเทศด้วย แต่เราไม่สามารถตามไปได้ ก็จะพยายามพัฒนารถเข็นของเราต่อไป" ครูขนิษฐา กล่าวทิ้งท้าย

อีกไม่กี่ปีไทยจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" แต่สิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้สูงอายุในไทยกลับสวนทาง เนื่องจากติดปัญหาเรื่องงบประมาณและไม่มีผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ ก็ได้แต่หวังว่าคงจะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเห็นคุณค่าของ "นวัตกรรม" เหล่านี้ และช่วยกันส่งเสริมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้อยู่กับโรคโดยไม่ป่วยใจ.

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/scoop/1647181

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 28 ส.ค.62
วันที่โพสต์: 29/08/2562 เวลา 11:27:57 ดูภาพสไลด์โชว์ เปลี่ยนภาระเป็นพลัง เด็กสุพรรณฯ เจ๋ง สร้าง "วีลแชร์ AI" สั่งด้วยเสียง