ดวงตาเทียมช่วยผู้เป็นโรคตาบอดตอนกลางคืนมีแนวโน้มจะแพร่หลายมากขึ้น

ดวงตาเทียมที่ช่วยให้ผู้เป็นโรคตาบอดตอนกลางคืน(อาร์พี)มองเห็นได้ดีขึ้น วอชิงตัน ๖ ก.พ.-ระบบดวงตาเทียมอาร์กุสทูมีแนวโน้มจะแพร่หลายมากขึ้น หลังได้รับอนุญาตให้ใช้ในยุโรปแล้ว และคาดว่าสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐจะอนุญาตในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นดวงตาเทียมที่ช่วยให้ผู้เป็นโรคตาบอดตอนกลางคืน(อาร์พี)มองเห็นได้ดีขึ้น

เทคโนโลยีนี้เป็นการนำขั้วไฟฟ้า ๖๐ ขั้วฝังไว้ที่เรติน่าในลูกตา ควบคู่กับการใส่แว่นติดกล้องวิดีโอขนาดเล็ก ภาพจากกล้องจะถูกส่งไปยังขั้วไฟฟ้าที่จะแปลงแสงให้เป็นสารเคมีกระตุ้นเซลล์ ประสาทการมองเห็นในสมองส่วนกลางให้แปลงสัญญาณเป็นภาพอีกครั้ง เป็นการทำหน้าที่แทนเซลล์รับแสงที่เสื่อมจากโรคอาร์พีซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมพบยากมีผู้ป่วยโรคนี้ในสหรัฐราว๑๐๐,๐๐๐คน

บริษัทเซคันด์ไซท์เมดดิคอลโปรดักส์ได้ใช้ดวงตาเทียมกับคนไข้แล้ว ๖๐ คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอายุ ๒๘-๗๗ ปี และตาบอดอย่างสิ้นเชิง ผลที่ได้แตกต่างกันไป บางคนมองเห็นดีขึ้นเล็กน้อย บางคนสามารถอ่านพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ได้ และบางคนมองเห็นสีของวัตถุ จากเดิมเห็นแต่สีขาวดำ หลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้ดวงตาเทียมนี้แล้ว ตกชุดละ ๗๓,๐๐๐ ยูโร (ราว ๒.๙๒ ล้านบาท) ส่วนในสหรัฐคาดว่าราคาจะสูงกว่านี้

ขณะเดียวกันหลายบริษัทกำลังวิจัยดวงตาเทียมเช่นกัน และจะเพิ่มความคมชัดของภาพด้วยการฝังขั้วไฟฟ้าจำนวนมากถึง ๔๐๐ ขั้ว ขณะที่บางแห่งจะใช้เซลล์แสงอาทิตย์แทนขั้วไฟฟ้า ฝังเซลล์แสงอาทิตย์ ๕,๐๐๐ เซลล์ที่ด้านหลังของตา เพราะทางทฤษฎีแล้วจะมีความคมชัดสูงกว่า ๑๐ เท่า และยังสามารถช่วยผู้มีปัญหาจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (เอเอ็มดี) ให้มองเห็นได้ดีขึ้น.(สำนักข่าวไทยออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๖ ก.พ.๕๖)

ที่มา: สำนักข่าวไทยออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๖ ก.พ.๕๖
วันที่โพสต์: 27/02/2556 เวลา 06:42:06 ดูภาพสไลด์โชว์ ดวงตาเทียมช่วยผู้เป็นโรคตาบอดตอนกลางคืนมีแนวโน้มจะแพร่หลายมากขึ้น