ออฟฟิศความเท่าเทียม สำนักงานต้นแบบผู้พิการทางการรับรู้

ออฟฟิศความเท่าเทียม สำนักงานต้นแบบผู้พิการทางการรับรู้

ไม่นานผ่านมา “อิเกีย” และ “STEPS Community” ร่วมกันจัดทำพื้นที่ “inclusive office” หรือ “โมเดลออฟฟิศต้นแบบ” ที่ออกแบบสำหรับทุกคนที่ออฟฟิศของ STEPS ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเอกมัย 10 กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย หรือผู้พิการ

เนื่องจาก STEPS เป็นศูนย์ฝึกอาชีพแก่ผู้มีความหลากหลาย และมีความบกพร่องทางด้านร่างกาย เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการจริง อีกทั้งยังเป็นศูนย์จ้างงานสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ที่ดำเนินการในลักษณะของบริษัทเอาต์ซอร์ซรับงานเอกสารต่าง ๆ จากบริษัทพันธมิตรภายนอก โดยอิเกียเข้ามาสนับสนุนเฟอร์นิเจอร์ และช่วยออกแบบพื้นที่ออฟฟิศให้อำนวยความสะดวกแก่พนักงานมากขึ้น

“วรันธร เตชะคุณากร” ผู้จัดการแผนก Inspiration & Communication อิเกีย ประเทศไทย กล่าวถึงที่มาการออกแบบออฟฟิศว่า อิเกียมีวิสัยทัศน์ในด้าน “การสรรค์สร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับผู้คนในทุก ๆ วัน” อันเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดการทำงานของอิเกียในทุกแง่มุม

รวมถึงวัฒนธรรมที่เคารพทุกความแตกต่างของทุกคน ไม่ว่าจะด้านอายุ ภาษา วัฒนธรรม เพศวิถี ศาสนา หรือความแตกต่างของร่างกาย ภายใต้แนวคิด “Make the world everyone’s home” หมายความว่าอิเกียเคารพในทุกความต่าง และต้องการที่จะสร้างโลกใบนี้ให้เป็นบ้านสำหรับทุกคน

เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน จึงทำให้เรามีการออกแบบสินค้าที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านความสวยงาม ราคา และฟังก์ชั่น เพื่อรองรับการใช้งานของคนที่มีความแตกต่างในสังคมทุก ๆ คน

“เพราะการออกแบบสินค้าแต่ละอย่างจุดเริ่มต้นจึงต้องคำนึงถึงผู้คนก่อน ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศไหน สัญชาติอะไร เราให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายมาตั้งแต่เริ่มต้น ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรหลายด้าน และ STEPS เป็นหนึ่งในพันธมิตรของเรา

ซึ่งการโคจรมาพบกันครั้งนี้ เกิดจากการที่เราเห็นว่าเขาค่อนข้างมีความเชี่ยวชาญในการทำงานกับคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ (neurodivergent people) รวมไปถึงบุคคลที่มีภาวะออทิสซึม ดาวน์ซินโดรม ฯลฯ ก็เลยมองว่าอิเกียน่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความเท่าเทียมในสังคม”

“โดยผ่านการออกแบบออฟฟิศ ซึ่งเราได้แบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงวิธีปรับใช้งานเฟอร์นิเจอร์อิเกียเพื่อสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปิดรับความหลากหลายกับทุกกลุ่มคน โดยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีราคาสูงเสมอไป แต่ทว่าสวยงาม และเกิดประโยชน์ต่อทุกคนในที่ทำงาน”

“วรันธร” กล่าวต่อว่า การเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ อิเกียตระหนักถึงศักยภาพของกลุ่มคน พวกเขาสามารถทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทุกคนได้เป็นอย่างดี เพียงแต่เราจะต้องออกแบบสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความหลากหลาย และแตกต่างของผู้ใช้งาน

ตรงนี้ถือเป็นแนวคิดที่เราได้ หลังจากทำงานกับ STEPS และมองว่าถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำเพื่อสังคม แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

ที่สำคัญควรใส่ใจกับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ เพราะเมื่ออาศัยอยู่ร่วมกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน หรือสถานที่ทำงานก็ตาม เช่น ควรจัดแบ่งพื้นที่ตามกิจกรรมหรือประเภทงานที่ทำ เพื่อช่วยให้คนทำงาน, พนักงานโฟกัสกับงานที่รับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น อาจหาตู้วางของ หรือตู้หนังสือมาช่วยแบ่งโซน

แม้แต่เลือกความสว่าง และแสงไฟที่เหมาะสมกับแต่ละคน เพราะความสว่างมีผลต่อการทำงาน ดังนั้น การเลือกใช้ไฟที่สามารถกระจายความสว่าง หรือปรับความสูงได้ จะช่วยทำให้ไม่รบกวนเพื่อนร่วมงาน”

แม้แต่การเลือกเก้าอี้ที่เหมาะสมกับแต่ละคน เพราะเก้าอี้เป็นอีกหนึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่แต่ละคนมีความถนัด หรือความชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบแบบมีล้อเลื่อน บางคนชอบแบบอยู่นิ่ง บางคนชอบแบบมีที่วางแขน รวมถึงความสูงต่ำของพนักพิง

ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้ใช้เลือกเก้าอี้ด้วยตัวเอง แต่สามารถคุมโทนได้โดยการใช้สี หรือวัสดุแบบเดียวกัน การเลือกโต๊ะทำงานก็เหมือนกัน ควรเลือกโต๊ะทำงานที่เหมาะสมกับแต่ละคน สามารถปรับระดับความสูงให้เหมาะกับการใช้งาน และสรีระของแต่ละคน

นอกจากนั้น พนักงานบางคนอาจชอบยืนทำงาน เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หรือบางงานจำเป็นจะต้องยืนทำงานเพื่อให้เคลื่อนไหวสะดวก เราก็ควรออกแบบพื้นที่ให้เป็นระบบ มีแบบแผนล่วงหน้าว่าอะไรจะต้องอยู่ตรงไหน ทั้งนั้นเพื่อตอบโจทย์ workflow หรือกระบวนการทำงานที่จะช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้ด้วยตนเอง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากการจ้างงานผู้มีความบกพร่องทางร่างกายในกฎหมายตามมาตรา 33 กำหนดให้นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือต้องมีอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อคนพิการ 1 คน

“แม็กซ์ ซิมป์สัน” CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง STEPS Community กล่าวเสริมว่า STEPS ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่ผู้มีความหลากหลาย โดยปี 2559 มีการรวมทีมของผู้เชี่ยวชาญ นักบำบัด และผู้ฝึกที่มีความมุ่งมั่น และมีศูนย์ฝึกทักษะอาชีพ, ร้านกาแฟในกรุงเทพฯ และภูเก็ต เพื่อให้เยาวชน

ซึ่งบางส่วนเป็นผู้มีความแตกต่างด้านการเรียนรู้ได้รับทักษะจำเป็นที่จะนำไปสู่สายอาชีพ เช่น การเป็นบาริสต้า, พนักงานร้านกาแฟ, การทำงานเอกสารต่าง ๆ เพราะเราร่วมงานกับพันธมิตรหลายภาคส่วน เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนการจ้างงานอีกด้วย

นับตั้งแต่ก่อตั้งมีผู้เข้ามาร่วมฝึกอาชีพกับเราจำนวนมากทั้งคนไทยและต่างชาติ เพราะเราต้องการมุ่งมั่นที่จะสร้าง inclusive community หรือชุมชนที่ไม่แบ่งแยก ขณะที่อิเกียมีวิสัยทัศน์เหมือนกับเรา โดยออฟฟิศต้นแบบของเราตั้งอยู่ซอยเอกมัย 10 กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 100 ตารางเมตร รองรับคนทำงาน 25 คน

มีพนักงานซึ่งมีความหลากหลายทำงานอยู่ด้วย อิเกียจึงให้การสนับสนุนด้านเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่ง ซึ่งก่อนหน้าก็มีทีมงาน และผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเนรมิตพื้นที่ให้มีความสวยงามอย่างลงตัว จนทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน

“ผมคิดว่ากลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย หลายคนมีศักยภาพในการทำงานมาก เพียงแต่ยังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เขาทำงานง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ สภาพแวดล้อม รวมถึงความคิดของบุคคลภายนอกที่มีต่อกลุ่มคนเหล่านี้ ดังนั้น การออกแบบออฟฟิศครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เราจะสร้างสังคม สภาพแวดล้อมให้กับกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย”

ขอบคุณ... https://www.prachachat.net/csr-hr/news-1043020

ที่มา: prachachat.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 13 ก.ย. 65
วันที่โพสต์: 13/09/2565 เวลา 10:26:20 ดูภาพสไลด์โชว์ ออฟฟิศความเท่าเทียม สำนักงานต้นแบบผู้พิการทางการรับรู้