'นักกายภาพอุปกรณ์'ผู้มีหัวใจรัก ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ

'นักกายภาพอุปกรณ์'ผู้มีหัวใจรัก ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ

การศึกษายุคใหม่ที่สามารถรองรับวิชาชีพเฉพาะทางในอนาคต เป็นที่ต้องการของคนยุคปัจจุบันมากขึ้น หากต้องการเรียนวิชาชีพเฉพาะทางจบออกมาแล้วได้ทั้งงานและความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และผู้พิการ การเป็น“นักกายอุปกรณ์” ที่ให้บริการด้านอุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์เทียม เพื่อทดแทนส่วนที่สูญเสียไปของร่างกายผู้ป่วยและผู้พิการทุพพลภาพ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คือหนึ่งในคำตอบที่ดีที่สุด

รศ.ดร.พญ.นิศารัตน์ โอภาสเกียรติกุล ผู้อำนวยการ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร กล่าวถึงการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขากายอุปกรณ์ ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาและงานบริการกายอุปกรณ์ของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล โดยจัดการเรียนการสอน 3 ระดับ คือปริญญาตรี ปริญญาโท และกำลังจะเปิดปริญญาเอกในเร็ววันนี้ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรนานาชาติ แบบเรียนทางไกลผสมผสาน โดยเป็นความร่วมมือกับเยอรมัน หลักสูตรนี้มุ่งเน้นกลุ่มคนที่ทำงานแล้ว ได้เรียนทฤษฎีและเข้ามานำเสนองาน ผู้เรียนทางไกลมีทั้งจากยุโรปตะวันออกและแอฟริกา อาทิ โครเอเชีย เซอร์เบีย สเปน อินเดีย มาซิโดเนีย ซีเรีย ตูนีเซีย แทนซาเนีย บุรุนดี อัฟกานิสถาน ฯลฯ ส่วนหลักสูตรทางไกลไทยเริ่มเปิดสอนเมื่อปี 2560 มีนักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรกายอุปกรณ์ระดับ ปวส. มาเรียนทางไกลและมาฝึกปฎิบิติงานที่โรงเรียน

“หลักสูตรของเรามีนักศึกษาจาก 34 ประเทศทั่วโลกมาเรียน ที่นี่สอนเป็นภาษาอังกฤษ เน้นสร้างคนให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นั่นคือ การเป็นนักกายอุปกรณ์ที่ดีเลิศ นอกจากนี้ยังสามารถทำงานเป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งในประเทศภูมิภาคและระดับสากล ผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นักนวัตกรรมที่ดีป้อนสู่สังคม ผลิตอุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์เทียม เพื่อให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมนานาอารยะประเทศ”

ในระดับปริญญาตรีรับนักศึกษาไทยปีละ 24 คน นักศึกษาต่างชาติปีละ 12-15 คน เหตุที่รับได้น้อยเพราะรูปแบบการเรียนการสอนเน้นการฝึกปฏิบัติที่ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธินิปปอน ประเทศญี่ปุ่นและหน่วยงานในประเทศของเขา อาทิ กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ปากีสถาน รวันดา เซเนกัล ลิเบีย และองค์การกาชาดสากลให้ทุนแก่ เวียดนาม ลาว ซูดาน บังคลาเทศ เนปาล เข้าศึกษาที่โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร เพื่อจะได้กลับไปพัฒนาการศึกษา การให้บริการและคุณภาพชีวิตผู้พิการในประเทศของตนเองต่อไป

โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร มีการลงทุนในอุปกรณ์การเรียนการสอนที่สูงมาก ในระยะแรกมีการจ้างอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนเรื่องของเงินเดือน จากมูลนิธินิปปอน ประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียวกันศิริราชก็ได้ให้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกแก่อาจารย์กายอุปกรณ์คนไทยจำนวน 6 คน ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เพื่อให้นำทักษะและองค์ความรู้ใหม่ ๆ กลับมาพัฒนาการศึกษา การวิจัย การบริการที่โรงเรียนอีกด้วย

'นักกายภาพอุปกรณ์'ผู้มีหัวใจรัก ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดแก่โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรในระดับนานาชาติ จึงได้ยื่นขอคำรับรองจากองค์กรกายอุปกรณ์สากล ซึ่งมีการพิจารณาในประเด็นหลักถึง 12 ประเด็น เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ทีมงานได้เข้ามาตรวจสอบด้วยหลักเกณฑ์ใหม่ มีประเด็นหนึ่งที่เขาสัมภาษณ์ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ว่าทำไมศิริราชถึงลงทุนสูงมากสำหรับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร

“เพราะว่าจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งศิริราชนั้น รัชกาลที่ 5 ต้องการให้เราทำหน้าที่ดูแลและให้การรักษาแก่ผู้ยากไร้และประชาชนทุกระดับ” เขาประทับใจมาก โรงเรียนได้คะแนนในระดับสูงสุด และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น “excellence in all area” เรามองว่าทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่ดีและน่าจดจำที่สุด”

ในเดือนตุลาคม 2562 โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรได้เข้าร่วมงาน World Congress ที่ประเทศญี่ปุ่น งานนี้มีการมอบรางวัลในหลายสาขาเช่น งานด้านวิชาการ, ดูแลผู้ป่วย, วิจัย, ศึกษา โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรได้รับรางวัลงานวิจัยด้านการศึกษากลับมาด้วย

สำหรับแผนงานในอนาคตของโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คือ ผลิตนักกายอุปกรณ์ชั้นเลิศให้มีความรู้ความสามารถในการศึกษา ค้นคว้า ประดิษฐ์ ดัดแปลง และพัฒนาการทำกายอุปกรณ์เสริมและกายอุปกรณ์เทียมให้สอดคล้องกับวิทยาการยุคใหม่ เพื่อที่จะได้ดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมมาตรฐานระดับสากล เหมาะสมตามสภาพภูมิประเทศ ลักษณะอาชีพของประชากรและเศรษฐานะของแต่ละประเทศ ในส่วนของประเทศไทยขณะนี้มีผู้พิการทางการเคลื่อนไหวประมาณ 700,000-800,000 ราย ใช้อุปกรณ์เทียมประมาณ 40,000-50,000 ราย ส่วนที่เหลือจะใช้อุปกรณ์เสริม

“ทำงานตรงนี้มีความสุขมาก ได้เห็นความสุขของผู้พิการ เมื่อยามที่เขาเดินได้ ใช้ชีวิตเป็นปกติได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้นด้วย” รศ.ดร.พญ.นิศารัตน์ โอภาสเกียรติกุล กล่าว

ขอบคุณ... https://www.naewna.com/lady/462008

ที่มา: naewna.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 24 ธ.ค.62
วันที่โพสต์: 25/12/2562 เวลา 09:47:41 ดูภาพสไลด์โชว์ 'นักกายภาพอุปกรณ์'ผู้มีหัวใจรัก ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ