4 มกราคม 'วันอักษรเบรลล์โลก' หนึ่งวันสำคัญ ที่เปลี่ยนแปลงโลกของผู้พิการทางสายตา

4 มกราคม 'วันอักษรเบรลล์โลก' หนึ่งวันสำคัญ ที่เปลี่ยนแปลงโลกของผู้พิการทางสายตา

4 มกราคม ถูกจดจำให้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของโลก ที่มีการคิดค้นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการสื่อสาร และเปลี่ยนโลกที่มืดมิดของผู้พิการทางสายตาให้สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้

วันอักษรเบรลล์โลก เป็นหนึ่งวันสำคัญที่ชวนรำลึกถึงการคิดค้น และสร้างสรรค์ที่ทรงคุณค่า ในการเปลี่ยนแปลงโลกของผู้พิการทางสายตา ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ด้วยการสื่อสารผ่าน “อักษรเบรลล์”

วันสำคัญนี้จะตรงกับวันที่ 4 มกราคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเกิดของ “หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille)” คุณครูตาบอดชาวฝรั่งเศส ผู้คิดค้นภาษาเบรลล์ขึ้นมา จนกลายเป็นภาษาทางเลือกของคนตาบอดที่ทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในการสื่อสารกับคนทั่วไปได้อีกครั้ง

การต่อสู้ แนวคิด ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ ‘หลุยส์ เบรลล์’

ความมืดมิดบนโลก ที่มาจากอุบัติเหตุด้วยวัยเพียง 5 ขวบ สู่การต่อสู้ที่ไม่ย่อท้อ จนนำมาสู่โลกที่เท่าเทียม และสามารถสื่อสารได้ของคนตาบอด ณ ปัจจุบัน

หลุยส์ เบรลล์ คุณครู และนักดนตรีชาวฝรั่งเศส ผู้พิการทางสายตา มองว่า “คนตาบอดไม่ใช่คนที่อ่อนแอ และต้องการคนที่มาสงสาร แต่เป็นบุคคลที่ต้องการความเท่าเทียมในสังคม โดยการสื่อสารสามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมได้”

การเรียน การสอน ของโรงเรียนคนตาบอดในสมัยก่อน มีภาษาที่ยาก และน้อยคนนักที่จะเข้าใจ รวมถึงความต้องการก้าวข้ามข้อจำกัดของคนพิการทางสายตา ทำให้ หลุยส์ เบรลล์ ใช้แรงผลักดันแห่งการต่อสู้ทั้งหมดนี้ วิวัฒนาการภาษาที่ใช้ในเหล่าผู้พิการทางสายตาให้มีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากขึ้น ด้วยการคิดค้นภาษาที่สามารถช่วยในการเรียนรู้ และการสื่อสารของผู้พิการทางสายตาที่ดีขึ้นกว่าเดิม

วิวัฒนาการของอักษรเบรลล์

ความโชคดีของ หลุยส์ เบรลล์ ได้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้พบกับ ชาร์ลส บาร์เบียร์ (Charles Barbier) และรู้จักกับ Night-Writing ภาษาที่ถูกคิดค้นมาเพื่อการส่งข่าวของทหารในเวลากลางคืนที่ ชาร์ลส บาร์เบียร์ คิดค้นขึ้น ซึ่ง ณ เวลานั้นการสื่อสารของทหารสามารถทำได้ยากในช่วงพลบค่ำ แต่ Night-Writing กลับทำให้สื่อสารง่ายยิ่งขึ้น โดยรหัสลับนี้จะใช้วิธีการจุด และขีดลงบนกระดาษแผ่นหนา ส่วนผู้อ่านจะใช้นิ้ววางบนจุดสัมผัสเป็นปุ่มนูนทั้งหมดโดยไม่ใช้แสงไฟเพื่อถอดรหัส

หลุยส์ เบรลล์ จึงเอาแรงบันดาลใจนี้ มาปรับใช้ และต่อยอดให้เหลือจุดเพียง 6 จุด ที่สามารถใช้เพียงนิ้วเดียววางบนจุดทั้งหมดได้ ซึ่งทำให้การถอดรหัสง่ายขึ้น ยังสามารถลดระยะเวลาการอ่าน และง่ายต่อการเขียนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามอักษรเบรลล์ ในช่วงแรกยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่ หลุยส์ เบรลล์ ซึ่งคุณครู และนักดนตรี ก็ไม่ย่อท้อที่จะใช้งานอักษรเบรลล์ เพื่อสอนหนังสือ ทำสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ และทำเป็นโน้ตดนตรีให้แก่คนตาบอดคนอื่นๆ ได้ใช้เรียนรู้ และทำความเข้าใจมาตลอดเรื่อยมา รวมถึงยังเคยนำไปเผยแพร่ในสถานที่ต่างๆ มากมายจนพอเป็นที่รู้จักอยู่บ้าง

สุดท้ายแล้ว ความพยายามทั้งหมดนี้ก็ไม่สูญเปล่า เพราะในปี ค.ศ. 1878 ภาษาที่หลุยส์ เบรลล์ คิดค้นนั้นถูกบรรจุให้นำมาใช้อย่างเป็นทางการ ในประเทศฝรั่งเศส และแพร่ขยายไปทั่วโลก

โดยภาษานี้มีชื่อว่า “อักษรเบรลล์” ซึ่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ หลุยส์ เบรลล์ ที่คิดค้นภาษานี้ขึ้นมา และถูกนำไปต่อยอด พัฒนาเพิ่มขึ้น ตามกาลเวลา และเทคโนโลยีจนกลายเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนโลกอันมืดมิดของผู้พิการทางสายตาทั่วโลก ให้มีความเท่าเทียม และสื่อสารได้จนมาถึงปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของ ‘อักษรเบรลล์’ บนประเทศไทย

ประเทศไทย ได้ทดลองนำอักษรเบรลล์นี้ เข้ามาใช้ในปี 1939 เป็นครั้งแรก โดย ‘เจเนวีฟ คอลฟีลด์ (Genevieve Caulfield)’ ซึ่งเป็นอาจารย์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอด โรงเรียนสำหรับผู้พิการแห่งแรกของประเทศไทย

โดย เจเนวีฟ คอลฟีลด์ เป็นหนึ่งในผู้พิการทางสายตาโดยอุบัติเหตุ ที่มีความพยายาม ความรู้ และความสามารถ ผลักดันตนเองจนจบการศึกษาระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และประกาศนียบัตรวิชาครูภาษาอังกฤษจากทรินิตี้คอลเลจ กรุงวอชิงตัน

ณ เวลานั้น เจเนวีฟ คอลฟีลด์ ดำรงตำแหน่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และเป็นนักศึกษาของสถาบันการศึกษาสังคม และการเมือง ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้พบกับ แพทย์ฝน แสงสิงแก้ว รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา อยู่ในขณะนั้น

นายแพทย์ฝน จึงได้ปรึกษา และเชิญชวน เจเนวีฟ คอลฟีลด์ มาช่วยดูแลสถานภาพของคนตาบอดในประเทศไทย ที่ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก เพื่อเข้ามาช่วยในการช่วยเหลือ พัฒนา ในด้านการศึกษาให้อย่างจริงจัง และร่วมทำงานกับ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ในการกำหนดโค้ดอักษรเบรลล์ไทยขึ้น ประกอบด้วย พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกด ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และพัฒนาจนมาถึงในปัจจุบัน รวมทั้งประเทศไทย จึงถือกำเนิด โรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นด้วย

ข้อมูล : มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย, sightscotland

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/lifestyle/calendar/2749475

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 4 ม.ค.67
วันที่โพสต์: 4/01/2567 เวลา 15:08:11 ดูภาพสไลด์โชว์ 4 มกราคม 'วันอักษรเบรลล์โลก' หนึ่งวันสำคัญ ที่เปลี่ยนแปลงโลกของผู้พิการทางสายตา