"เมื่อผมทลายมายาคติ" เสียงจากเกษตรกรพิการในชิลี

"เมื่อผมทลายมายาคติ" เสียงจากเกษตรกรพิการในชิลี

"เมื่อผมกำลังทลายมายาคติ" เสียงจากเกษตรกรพิการในชิลี ผู้ก่อตั้ง FarmHability โครงการที่ส่งเสริมการรวมตัวกันของคนพิการในภาคเกษตรกรรมพื้นที่ชนบทของชิลี

ช่วงเดือน ก.พ. 2565 ILO Voices แพลตฟอร์มการเล่าเรื่องแบบมัลติมีเดียขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้นำเสนอเรื่องราวของ 'อัลเฟรโด การ์ราสโก' อายุ 27 ปี เกษตรกรและผู้ก่อตั้ง FarmHability ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมการรวมตัวกันของคนพิการในภาคเกษตรกรรมพื้นที่ชนบทของชิลี

เมื่อตอนอายุ 21 ปี ผมประสบอุบัติเหตุจากการปั่นจักรยานเสือภูเขา หลังจากนั้นผมก็ใช้ขาของตนเองไม่ได้เลย การขี่จักรยานเป็นความหลงใหลของผมตั้งแต่อายุ 13 ปี และผมเคยเข้าร่วมการแข่งขันมาแล้วด้วย อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้กระดูกสันหลังของผมหักสามซี่ ขาผมเป็นอัมพาต ก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือนพี่สาวของผมเพิ่งเสียชีวิตจากหลอดเลือดสมองโป่งพอง มันเป็นช่วงเวลาที่ขมขื่นสำหรับผมและครอบครัว

ผมเป็นลูกเกษตรกร และกำลังเรียนเทคโนโลยีการเกษตรในขณะที่เกิดอุบัติเหตุ ผมโตมากับการเฝ้าดูพ่อปลูกผักและผลไม้ พอผมอายุ 15 ปี ผมรู้ว่าอยากเดินตามรอยเท้าพ่อ ก่อนเกิดอุบัติเหตุ ผมเริ่มทดลองปลูกหอมหัวใหญ่ แตงโม เมล่อน และอื่นๆ

"เมื่อผมทลายมายาคติ" เสียงจากเกษตรกรพิการในชิลี

แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุ ผมเปลี่ยนจากการเป็นคนหนุ่มที่กระตือรือร้นกับการทำงานในฟาร์มและเล่นกีฬา กลายมาเป็นผู้ป่วยติดเตียงและพึ่งพาผู้อื่น มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง ผมใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการร้องไห้ด้วยความโกรธและอยากตาย

เมื่อครั้งที่การ์ราสโกสามารถบินไปในอากาศบนจักรยานของเขาได้ ในการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาเมื่อตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น | ที่มาภาพ: Alfredo Carrasco

หลังจากนั้นไม่นาน ในที่สุดผมก็เข้าใจว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป วันเวลามันจะหมุนผ่านไป ถ้าคุณเลือกที่จะอยู่ในความวิตกกังวลและการคิดแต่แง่ลบ ท้ายสุดคุณก็จะอยู่ที่เดิม

นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมเปลี่ยนกรอบความคิด และเริ่มการฟื้นฟูร่างกายอย่างจริงจัง ผมเข้าใจว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือเรียนรู้การใช้รถเข็นสำหรับคนพิการเพื่อใช้ชีวิตอย่างอิสระ

นั่นเป็นจุดเริ่มของปฏิกิริยาลูกโซ่ การฟื้นฟูร่างการทำให้ผมสามารถเรียนจบได้ การเรียนจบทำให้ผมมาถึงจุดหนึ่งในชีวิตที่สามารถพูดว่า "เฮ้ ฉันจะกลับเข้าไปในที่ที่ฉันชอบอีกครั้งได้อย่างไร ซึ่งก็คือฟาร์ม"

ที่โรงพยาบาลในช่วงแรกนั้น ผมนึกถึงการสร้างเรือนเพาะชำเพื่อปลูกต้นกล้า นั่นทำให้ผมมั่นใจ และคิดว่า "เอาล่ะ ฉันจะโฟกัสกับเรื่องนั้น ฉันจะปลูกต้นกล้า นั่นคืองานที่ฉันสามารถทำได้ ฉันจะทำอย่างนั้น" ความคิดนั้นยังคงอยู่จนถึงปี 2562 เมื่อชายที่เคยทำงานกับพ่อของผม เข้ามาหาผมและต้องการความช่วยเหลือ นั่นคือตอนที่เราเริ่มก่อตั้ง FarmHability ขึ้นมา

ในขั้นต้น FarmHability ได้แก้ปัญหาหลักที่ทำให้ชีวิตของผมง่ายขึ้น ช่วยให้ผมกลับสู่สภาพแวดล้อมการทำงานได้หลังจากพักฟื้นเป็นเวลา 2 ปี

"เมื่อผมทลายมายาคติ" เสียงจากเกษตรกรพิการในชิลี

เรายื่นใบสมัครไปที่ Chilean Agricultural Innovation Foundation (FIA) โดยเสนอโครงการพัฒนาโรงเรือนเพาะชำที่ช่วยให้คนพิการเข้าถึงได้อย่างสะดวก เพื่อที่ผมจะได้ทำงานอีกครั้ง นั่นเป็นโครงการเริ่มต้นของ FarmHability เราต่างกระตือรือล้นและมีความหวัง

โรงเรือนเพาะเลี้ยงพืชหลังคาโปร่งแสงได้รับการออกแบบเพื่อให้เขาสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้สะดวกและมีระดับความสูงที่พอดี ขณะใช้รถเข็นคนพิการ | ที่มาภาพ: ILO/OIT Francisco Castillo

พูดตามตรง มันเป็นงานที่ซับซ้อน ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ของทั้งหมดนี้ดูไม่แน่นอนเอาเสียเลย เราต้องทำการวิจัยตลาดในขั้นตอนแรกของโครงการ FIA ผมได้สัมภาษณ์ผู้พิการกว่า 400 คน ช่วงเวลานั้น ผมจำได้ว่าเมื่อจบการสัมภาษณ์ ผมพูดกับผู้ร่วมก่อตั้งว่า "เฮ้ เรามาทำอะไรที่นี่"

เมื่อเรารวบรวมผลการวิจัยทั้งหมดแล้ว เราตระหนักว่าคนพิการเผชิญกับปัญหาใหญ่ในการหางานพื้นที่ชนบท เราเห็นว่าจำเป็นต้องเปิดพื้นที่นี้ให้กับสาธารณะชนเพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเรากำลังพัฒนาอะไรใน FarmHability

นั่นคือตอนที่เราตัดสินใจว่า "เฮ้ เราต้องทำงานนี้ เราต้องแน่ใจว่าสิ่งนี้จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เราต้องเปิดให้สาธารณะ แสดงให้คนอื่นเห็น และเชิญผู้คนเข้าร่วมเวิร์คช็อป"

เราต้องการบอกให้ผู้คนรู้ว่าคนพิการสามารถเป็นอิสระได้ นั่นคือเป้าหมายอันดับแรก ลำดับถัดไปคนพิการสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในฟาร์ม พวกเขาสามารถผลิตอาหารได้แม้ขณะที่มีความพิการ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นมายาคติและอุปสรรคที่ถูกพวกเราทลายลง

การเวิร์คช็อปที่ฟาร์มได้รับความนิยมอย่างมาก แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้สิ่งต่างๆ ช้าลงไประยะหนึ่ง แต่จนถึงตอนนี้มีผู้เยี่ยมชมฟาร์มกว่า 600 คน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับ FarmHability | ที่มาภาพ: Alfredo Carrasco

ตอนนั้นยังอยู่ในช่วงกลางของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ทุกอย่างยากขึ้นเล็กน้อย เราเริ่มต้นด้วยกลุ่ม 15 คน โดยหวังว่าจะพัฒนาเป็นสมาคมได้ ในตอนแรกเรายังเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ ช่วงเวลานั้นค่อนข้างน่าพอใจ โดยเฉพาะการได้ทำงานร่วมกับผู้สูงอายุที่ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้านจากมาตรการควบคุมการระบาด

จริงๆ แล้ว มันเป็นสิ่งสวยงามและน่าตื่นเต้นมาก ที่ได้เห็นว่าผู้คนมีความสุขกับการแบ่งปันและมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร

ข้อจำกัดต่างๆ ในการควบคุมโรคระบาดได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ขณะนี้เราสามารถจัดเวิร์คช็อปได้ โดยเฉพาะในที่โล่ง จนถึงขณะนี้มีผู้คนกว่า 600 คน ได้ผ่านหลักสูตร FarmHability ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เรานำเสนอ หรือการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการปลูกพืชในเมืองและระบบไฮโดรโปนิกส์ นี่คือสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่

การ์ราสโกใช้จักรยานยนต์ดัดแปลงแบบ 4 ล้อ เพื่อเคลื่อนที่ไปรอบๆ ฟาร์มและเปิดระบบชลประทานโดยใช้เครื่องมือมือถือ | ที่มาภาพ: ILO/OIT Francisco Castillo

เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนแล้ว ที่เราเริ่มส่งผลิตภัณฑ์ของเราไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต นั่นเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

มันทำให้เราเริ่มปลูกพืชในไร่ ในสถานที่ซึ่งรถเข็นคนพิการเข้าไม่ถึง ขณะนี้เรามีพื้นที่ปลูกพืชในไร่ถึง 2 เฮกตาร์

เราเคยคุยกันว่าการมีพื้นที่ดัดแปลงเช่นโรงเรือนเพาะชำนั้นยังไม่เพียงพอ ดังนั้นเราจึงพัฒนาโครงการอื่นโดยได้รับการสนับสนุนจาก FIA ซึ่งเป็นการพัฒนายานพาหนะสำหรับคนพิการเพื่อใช้ในทุกพื้นที่ ต้นแบบที่ใช้คือจักรยานยนต์ดัดแปลงแบบ 4 ล้อ ซึ่งช่วยให้บุคคลทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในงานด้านการเกษตรบางอย่างที่เราทำในไร่ นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญของโครงการ

สำหรับฤดูกาลเพาะปลูก 2566 นี้ เราจะเพิ่มการผลิตของเรา โชคดีที่เราจะสามารถสร้างโรงเรือนเพาะชำขนาด 500 ตร.ม. พร้อมห้องแปรรูปได้อีก ช่วยให้เราสามารถจ้างพนักงานประจำที่มีความพิการได้ 1 หรือ 2 คน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา

ในเดือน มี.ค. 2566 เราได้ก่อตั้งมูลนิธิควบคู่ไปด้วย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับงานของเราสำหรับการรวมคนพิการภาคเกษตรกรรมในชนบท เราคาดหวังว่ามูลนิธินี้จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนพิการและบริษัทต่างๆ ที่ต้องการจ้างพวกเขา

เราได้ระบุปัญหาบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อคนพิการซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข มันหมายถึงการมีส่วนร่วมกับนักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพ นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถทำได้ในฐานะบริษัท นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องการเริ่มต้นรากฐานควบคู่ไปกับบริษัท

FarmHability ช่วยเหลือสังคมในสองด้านหลัก: การศึกษาและทัศนวิสัย ประการแรก เราต้องให้นายจ้างและประชาชนทั่วไปได้รับการศึกษาเกี่ยวกับคนพิการ ประการที่สอง เราต้องการให้มีการมองคนพิการในลักษณะที่เป็นบวก ไม่ใช่ในลักษณะที่น่าสมเพช เชิงลบ หรือเศร้าหมอง แต่ให้มองในลักษณะที่เป็นบวกและมองโลกในแง่ดีมากกว่า

ที่ชิลี แพทย์บางคนมีความคิดเชิงลบ พวกเขาเห็นผมและพูดว่า "ไม่ คุณจะต้องอยู่บนรถเข็น คุณจะไม่สามารถทำอะไรได้อีก ลืมมันไปซะ" พวกเขาทำลายคุณอย่างสมบูรณ์ ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่จะจุดประกายการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้เราจำเป็นต้องส่งเสริมการศึกษาควบคู่ไปด้วย ให้ผู้พิการได้รับการศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา

ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น การขนส่ง ผมคิดว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบของเรา ในฐานะคนพิการ เราต้องออกไปที่นั่นและค้นหาโอกาส เพื่อแสดงตัวตนของเราต่อโลก และไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะต้องมีส่วนช่วยโลกด้วยเช่นกัน

FarmHability เป็นอย่างนั้น โชคดีที่เรายังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนที่เชื่อในความคิดริเริ่มของเรา และโครงการก็จะได้รับการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ

พูดตามตรงว่าผมรู้สึกมีความสุขและรู้สึกขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่ชีวิตมอบให้แก่ผม แม้ว่าผมจะผ่านช่วงเวลาอันปั่นป่วนที่รู้สึกว่าแผนการทั้งหมดและอนาคตของผมพังทลายไปแล้วก็ตาม

เรากำลังพัฒนาบางสิ่งที่ไม่เพียงแต่สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย เราเป็นผู้บุกเบิกงานเพื่อคนพิการในภาคเกษตรกรรมของชิลี นั่นได้ช่วยเติมเต็มผม มันรู้สึกดีจริงๆ

มันวิเศษมากที่ได้มองย้อนกลับไปและดูว่าตัวเองอยู่ที่ไหน แล้วดูว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ตอนนี้ โปรเจกต์นี้เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น มันเป็นความคิดที่ไร้ขีดจำกัด.

ขอบคุณ... https://prachatai.com/journal/2023/02/102670

ที่มา: prachatai.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 9 ก.พ.66
วันที่โพสต์: 9/02/2566 เวลา 10:29:57 ดูภาพสไลด์โชว์ "เมื่อผมทลายมายาคติ" เสียงจากเกษตรกรพิการในชิลี