โออาร์ ร่วมสร้างโอกาสให้กลุ่มเปราะบาง-ผู้ด้อยโอกาส พัฒนาทักษะอาชีพ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

โออาร์ ร่วมสร้างโอกาสให้กลุ่มเปราะบาง-ผู้ด้อยโอกาส พัฒนาทักษะอาชีพ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

โออาร์ ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หอการค้าสวิส-ไทย หอการค้าจังหวัดขอนแก่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมสร้างโอกาสให้กลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ให้มีโอกาสพัฒนาทักษะอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดย โออาร์ พร้อมมอบโอกาสให้กลุ่มเปราะบางพัฒนาทักษาอาชีพเป็นบาริสต้ามืออาชีพในร้าน Café Amazon for Chance

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง” โดยมี นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสมยศ คงประเวช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจไลฟ์สไตล์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) นายนฤพนธ์ เตชะวัฒนวรรณา ประธานหอการค้าสวิส-ไทย ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ดร.ทวีสันต์ วิชัยวงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น นางอัมภา พรรณเกษา ที่ปรึกษากรรมการหอการค้าจังหวัดขอนแก่น และนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม ณ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะครอบครัวที่มีปัญหาความยากจน รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสในสังคม ให้มีโอกาสพัฒนาทักษะอาชีพ เข้าสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และมีรายได้ที่มั่นคง เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นายสมยศ เปิดเผยว่า “โออาร์ ดำเนินธุรกิจกาแฟโดยยึดหลักการสร้างคุณค่าและเติบโตควบคู่ไปกับ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ทางธุรกิจ โดยนอกเหนือไปจากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยได้เป็นเจ้าของร้าน Café Amazon ในสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ช่วยส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยให้เติบโตไปพร้อมกับ โออาร์ แล้ว โออาร์ ยังตระหนักถึงพลังของการดำเนินงานธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่นำจุดแข็งของธุรกิจมาช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะสนับสนุนข้อมูลกลุ่มเปราะบางที่มีศักยภาพให้แก่ โออาร์ เพื่อคัดเลือกมาเป็นพนักงาน “Cafe Amazon for Chance” ซึ่งถือว่าเป็น “การสร้างโอกาส เสริมพลังสังคม”อย่างยั่งยืนอีกช่องทางหนึ่ง โดยผลักดันและสนับสนุนให้บุคคลเหล่านั้นมีศักยภาพเพิ่มขึ้น พึ่งพาตนเองได้ จนสามารถเป็นทรัพยากรที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม

สำหรับ “Café Amazon for Chance” เป็นโครงการที่ได้นำความสำเร็จของธุรกิจ คาเฟ่ อเมซอน มาสร้างคุณค่า และเปิดโอกาสให้สังคม ช่วยลดช่องว่างให้ผู้ขาดโอกาสทางสังคมในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางการเรียนรู้ ผู้สูงวัย ผู้พิการทหารผ่านศึกและครอบครัว คนไร้ที่พึ่ง รวมทั้งกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาความยากจน เข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ เด็ก เยาวชน พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และผู้ด้อยโอกาสในสังคมหรือชุมชน ให้สามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการเป็นบาริสต้าตามมาตรฐานของ Café Amazon เพื่อพัฒนาความสามารถให้มีโอกาสได้รับการจ้างงาน มีอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคง โดย โออาร์ ได้ปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการทำงานและการสั่งซื้อของร้าน Café Amazon for Chance ใช้นวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน เช่น เครื่องบดอัตโนมัติ (Hybrid Machine) และระบบ 2 หน้าจอ (Duo Screen) เครื่องบดกาแฟแบบดิจิทัลที่ลดภาระการตวงกาแฟทำให้รสชาติของกาแฟมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ลดปัญหาความคลาดเคลื่อนในการเตรียมเครื่องดื่ม และทำให้เตรียมเครื่องดื่มได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ Café Amazon for Chance สาขาแรกตั้งอยู่ที่ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการเมื่อปี 2561 เปิดโอกาสในการพัฒนาความสามารถ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้พิการทางการได้ยินที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมา โออาร์ ได้ขยายโอกาสในการทำงานสู่กลุ่มผู้ขาดโอกาสอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มผู้พิการทหารผ่านศึกและครอบครัว ตลอดจนการขยายสาขาที่ดำเนินการโดยผู้พิการทางเรียนรู้ (กลุ่มออทิสติก) และดำเนินการโดยคนไร้ที่พึ่ง รวมไปถึงการเปิด Café Amazon for Chance ในต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่เมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งให้บริการโดยบาริสต้าผู้พิการทางการได้ยิน ปัจจุบัน Café Amazon for Chance เปิดให้บริการแล้ว 55 สาขา โดยสามารถสร้างอาชีพให้แก่ผู้ขาดโอกาสในสังคมกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 120 คน ซึ่งเป็นตามไปหนึ่งในพันธกิจของ โออาร์ ในเรื่องของนวัตกรรมในแบบฉบับของโออาร์ (OR Innovation) ในการใช้ศักยภาพที่มีร่วมกับพันธมิตรในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสมยศกล่าวเพิ่มเติม

ขอบคุณ... https://www.isranews.org/article/isranews-pr-news/112531-or-163.html

ที่มา: isranews.org/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 4 ก.ย.65
วันที่โพสต์: 4/10/2565 เวลา 10:21:11 ดูภาพสไลด์โชว์ โออาร์ ร่วมสร้างโอกาสให้กลุ่มเปราะบาง-ผู้ด้อยโอกาส พัฒนาทักษะอาชีพ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน