TU Job Fair 2024 แบ่งปันประสบการณ์จ้างงานคนพิการ
ม.ธรรมศาสตร์ จัดงาน “90 ปี ธรรมศาสตร์ สร้างงาน สร้างโอกาสแก่คนทุกกลุ่ม” คนพิการทางการเคลื่อนไหวแบ่งปันประสบการณ์ทำงานในองค์กรสื่อ ‘ไทยพีบีเอส’ ตั้งเป้าจ้างคนพิการทำงานเพิ่มอีก
21 มี.ค. 2567 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดงาน “TU Job Fair 2024” 90 ปี ธรรมศาสตร์ สร้างงาน สร้างโอกาสแก่คนทุกกลุ่ม ภายในงานมีหน่วยงานร่วมออกบูธกว่า 200 แห่ง เพื่อเฟ้นหานักศึกษาที่ใกล้จบการศึกษาเข้าไปร่วมงาน โดยงานยังชูแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมในการไม่เลือกปฏิบัติ ที่จะรับผู้มีความแตกต่างหลากหลาย เปิดพื้นที่ สร้างงาน สร้างโอกาสแก่คนทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มของคนพิการ ที่ในงานมีองค์กรกว่า 24 แห่ง ที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าเต็มใจรับคนพิการเข้าทำงาน
ช่วงการเสวนาหัวข้อ “การส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในองค์กร” มีการแบ่งปันประสบการณ์การจ้างงาน จากตัวแทนฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ และลูกจ้างโครงการ ขององค์กรสื่อ อย่าง ไทยพีบีเอส
ธนภัทร เลาหประเสริฐ Content Creator ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ไทยพีบีเอส ในฐานะ คนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย และศิษย์เก่าคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แนะนำนักศึกษาภายในงานถึงแนวทางการหางานในอนาคตจากประสบการณ์ของตัวเอง ที่เริ่มต้นจากการหาสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วลงมือทำ แม้ช่วงที่เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาจะมีความฝันอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนจริง ๆ ด้วยข้อจำกัดทางร่างกายก็มีผลให้ความชอบลดลงเรื่อย ๆ แต่เขาก้าวข้ามด้วยวิธีบริหารจัดการความคิดของตัวเอง มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสัจธรรมของชีวิตที่ใครก็เจอได้ เพราะฉะนั้นรับมือมันให้ได้ ก้าวข้ามความรู้สึกนี้ เริ่มต้นใหม่ ลองหาอะไรทำใหม่ ๆ เพื่อให้ตัวเองค้นพบสิ่งที่ชอบ
ธนภัทร เล่าอีกว่า เขาได้ทำค่ายอาสาซึ่งเป็นกิจกรรมในมหาวิทยาลัย รู้สึกชอบและลองทำหลายค่าย หลายรูปแบบ ตลอด 4 ปี เขาทำไปมากกว่า 10 ค่าย จนมั่นใจว่านี่คือสิ่งที่ตัวเองชอบ และอยากจะทำต่อในสังคมการทำงาน หลังเรียนจบจึงได้เริ่มทำงานในมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการจ้างงานคนพิการ ทำให้มีความเข้มข้นที่อยากจะทำเพื่อสังคมมากขึ้น ทำให้ตัวเองเริ่มตั้งเป้าหมายให้สูงอีกครั้ง คือ อยากเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเราตั้งเป้าหมายสูง จะสามารถทำให้เราวาดเส้นทางเพื่อไปไปถึงเป้าหมายนั้นได้หลากหลายเส้นทาง
“หนึ่งในเส้นทางที่ผมเลือก คือการเป็นสื่อสารมวลชน เพราะเราเรียนด้านนี้มา และเราชอบการสื่อสาร ประจวบเหมาะพอดีเพราะได้เจอกับไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นองค์กรที่เปิดกว้างเรื่องการรับคนพิการเข้าไปทำงาน ทำให้ผมมีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างทุกวันนี้”
ด้าน โกศล สงเนียม ผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ ไทยพีบีเอส เล่าว่า ไทยพีบีเอส เป็นสื่อที่เปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่ม ที่ไม่ใช่สื่อที่แสวงหาผลกำไร และเป็นองค์กรสื่อที่มีลักษณะพิเศษคือไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานรัฐ ทำให้พูดได้เต็มปากว่าคือสื่อสารธารณะ เพราะฉะนั้นจึงต้องเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนพิการ แม้ไทยพีบีเอสจะไม่ได้อยู่ใต้กรอบกฎหมายที่ต้องจ้างคนพิการให้ได้ 1% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด แต่ก็เลือกที่จะจ้างคนพิการให้ได้อยู่ดี และต้องจ้างให้ได้มากกว่ากฎหมายกำหนดด้วย โดยมีแผนที่จะจ้างให้ได้ถึง 4% และสถานที่ทำงานถูกออกแบบให้ตอบโจทย์ความเป็น อารยสถาปัตย์ เพราะฉะนั้นนี่ถือเป็นภาพรวมการทำงานของฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นพันธกิจขององค์กร
โกศล บอกอีกว่า จุดเริ่มต้นที่สนใจรับคนพิการเข้ามาทำงาน ส่วนหนึ่งมาจากการมองเห็นศักยภาพและความมุ่งมั่นของคนพิการ เห็นว่ากว่าพวกเขาจะมาถึงจุดนี้ต้องผ่านอะไรมามาก และใช้ความพยายามมากกว่าคนทั่วไป
“งานของเราคือต้องเข้าไปคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร ให้เขาสนใจรับคนพิการที่เราสรรหามา ต้องผ่านการสัมภาษณ์กันหลายรอบ ในส่วนของการทำให้คนในองค์กรเปิดใจและเข้าอกเข้าใจคนพิการก็เป็นเรื่องท้าทาย แต่เชื่อว่าการเปิดพื้นที่ เปิดโอกาส ให้ไทยพีบีเอส กลายเป็นสถานที่ที่จะให้คนพิการเข้ามาทำงาน ให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นหัวใจสำคัญของการทำให้คนในองค์กรเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีต่อคนพิการ และคนพิการเองก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนในองค์กรเช่นเดียวกัน”
นอกจากนี้ ยังอยากให้หลาย ๆ องค์กรเปิดใจรับคนพิการเข้าทำงานมากขึ้น โดยแนะนำถึงวิธีการให้สามารถรับคนพิการได้จำนวนครบตามเป้าหมาย คือ ต้องกำหนดคุณลักษณะของตำแหน่งงานให้ชัดเจน ดูว่างานไหนที่คนพิการจะสามารถทำได้บ้าง และเราต้องการคนที่มีทักษะหรือความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดบ้าง ร่างข้อมูลในส่วนนี้ออกมาให้ชัดเจนก่อนจะทำให้กระบวนการสรรหาสามารถทำได้ง่ายขึ้น
ในช่วงท้ายของการเสวนา ธนภัทร ยังแนะนำเรื่องการปรับตัวเข้ากับที่ทำงานใหม่สำหรับ New Jobber ว่าการเปลี่ยนผ่านสังคมจากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่ตลาดงาน ต้องพบเจอคนใหม่ ๆ ต้องทำงานร่วมกับคนต่างวัย ยิ่งสำหรับคนพิการที่มีความท้าทายในการเข้าสังคมมากกว่าคนอื่น ๆ ธนภัทร ยกตัวอย่างตัวเองที่พิการตั้งแต่กำเนิด อยู่กับความพิการมา 25 ปี จนคุ้นชินกับความพิการ วิธีการปรับตัวที่ดีที่สุดคือต้องกล้า ต้องกล้าที่จะสื่อสารกับคนอื่น บอกเล่าความพิการของเราให้เขาเข้าใจ เพราะบางทีคนไม่รู้ เขาไม่ผิด หรือคนที่ไม่รู้บางทีเขาก็จะตีความและเข้าใจไปแบบผิด ๆ เราต้องทำให้เขารู้จักเรา ต่างคนต่างปฏิบัติตัวดีซึ่งกันและกัน สังคมก็จะเข้าใจคนพิการมากขึ้น
ขอบคุณ... https://theactive.net/news/marginal-people-20240323/