ใช้ระบบบัญชี พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ทำกล้วยหอมทองนอกฤดู
ความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินไทยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ผสมผสานกับภูมิปัญญาการเพาะปลูก ประมง และปศุสัตว์ เกิดเป็นพืชผลการเกษตรที่ดี มีคุณภาพ สืบสานเป็นอาชีพเกษตรกรรมในการดำเนินชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศว่าเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำที่หล่อเลี้ยงมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน แต่ทว่าในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภัยทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยการผลิตภาคการเกษตร หรือกลไกทางการตลาดที่มีผลต่อราคาจำหน่าย ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสู่ความเสี่ยงที่หากเกษตรกรยังไม่ตื่นตัวยอมรับและปรับตัวให้เท่าทันต่อสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ก็อาจส่งผลสู่ความล้มเหลวในชีวิตวิถีเกษตร และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสถานะความเป็นอยู่ของตนเอง สภาพสังคม และเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติในภาพรวมอย่างปฏิเสธไม่ได้
ทางเลือกและทางรอดของเกษตรกรไทยมีเพียงแนวทางเดียว คือการยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมปรับตัวและพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จอย่างมั่นคง
คุณสุริยะ ชูวงศ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์มประจำปี 2559 และครูบัญชีอาสากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เล่าว่า องค์ความรู้ทางบัญชีถือเป็นอาวุธทางปัญญาที่ส่งผลให้การผลิตภาคการเกษตร ผ่านพ้นความเสี่ยงจากกลไกทางการตลาดที่มีผลต่อการกำหนดราคาพืชผลทางการเกษตรจำหน่าย โดยก่อนการนำระบบบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการภาพรวมของการผลิตกล้วยหอมทอง คุณสุริยะก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ต้องประสบกับปัญหาด้านราคาสินค้า จำหน่ายกล้วยหอมทองได้ราคาตกต่ำในช่วงสินค้าล้นตลาดไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แต่ในทางกลับกันเมื่อถึงช่วงเทศกาลที่กล้วยหอมทองเป็นที่ต้องการของตลาดกลับไม่มีสินค้าไปจำหน่าย สูญเสียโอกาสสร้างรายได้อย่างน่าเสียดาย จึงได้นำข้อมูลจากการจดบันทึกทางบัญชีที่ได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้ทางบัญชีจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาทำการวิเคราะห์และสามารถมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้นำข้อมูลมาวางแผนในการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่สอดคล้องกับกลไกการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเวลาที่ตลาดมีความต้องการผลผลิต ทำให้สามารถจำหน่ายกล้วยหอมทองได้ราคาดีเพราะเป็นช่วงที่สินค้าขาดตลาด
“วิกฤติที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรในขณะนี้เราต้องมาวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไรที่ส่งผลต่อความเสี่ยงสู่ความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น อย่างเช่น ภัยธรรมชาติ กลไกทางการตลาด ล้วนแล้วเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องยอมรับและทำความเข้าใจสู่การหาหนทางในการพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งเพื่อความอยู่รอด ซึ่งระบบบัญชีทำให้ผมสามารถมองเห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข พัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จ นำข้อมูลทางบัญชีที่จดบันทึกไว้มาวิเคราะห์วางแผนการผลิตกล้วยหอมทองให้ออกผลผลิตในช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูง โดยวางแผนเริ่มต้นตั้งแต่การปลูก การดูแล จนถึงการเก็บเกี่ยวให้ได้ผลผลิตปริมาณมากที่มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะสามารถทำการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้แล้ว ยังสามารถนำข้อมูลจากการจดบันทึกทางบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตอย่างดิน น้ำ และปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้ผมผ่านพ้นวิกฤติจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน” คุณสุริยะ กล่าว
คุณสุริยะ ครูบัญชีอาสากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ผู้นี้ ถือเป็นตัวอย่างเกษตรกรที่ยอมรับและทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปัจจัยการผลิตภาคการเกษตรและการตลาดที่มีผลกระทบต่อการเกษตรที่ทำอยู่ ส่งผลให้มีความพร้อมในการปรับตัวฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้นสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในภาคการเกษตรและการดำเนินชีวิตในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนำระบบบัญชีมาเป็นคู่มือในการพัฒนาตนเองจากเกษตรกรทั่วไป ขึ้นเป็นนักเกษตรยุคใหม่ที่คิดเป็นระบบสู่การวางแผนและบริหารจัดการการเกษตรของตนเองด้วยระบบบัญชี
ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_1669