ก.แรงงานกำชับสถานประกอบการ-หน่วยงานรัฐดูแล ‘คนพิการ’ ย้ำ! หลัก ‘จ้าง จ่าย จัด’
วันนี้ (21 เมษายน 2567) นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ประสานงานเพื่อหารือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เรื่องการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการและแนวทางปลดล็อกข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการจ้างงานคนพิการ เช่น การเข้าถึงฐานข้อมูลคนพิการของผู้ประกอบการ การปฏิบัติตามมาตรา 33, 34 และ 35 ของ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้สถานประกอบการภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐต้องรับคนพิการเข้าทำงานตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ในกฎหมาย
“จากข้อมูลในปี 2566 มีคนพิการวัยแรงงานอายุ 15 – 60 ปี ที่ได้รับการจ้างงานจากสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐเพียง 58,036 คน จากจำนวนคนพิการวัยแรงงานทั้งหมด 863,195 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ6.72 เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยแบ่งเป็นการจ้างงานในสถานประกอบการ 54,271 คน และหน่วยงานของรัฐ 3,765 คน” นายภูมิพัฒน์ กล่าว
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐต้องรับคนพิการเข้าทำงานตามอัตราส่วนจำนวนลูกจ้างที่ไม่ใช่คนพิการทุก 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน เศษของ 100 คน ถ้าเกิน 50 คน ต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน หรือที่เรียกว่า “จ้าง” ถ้าสถานประกอบการใดไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี หรือที่เรียกว่า “จ่าย” และหากสถานประกอบการใดไม่ประสงค์จะนำเงินเข้ากองทุนหรือหน่วยงานของรัฐใดไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานอาจให้สัมปทานจัดสถานที่จัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการ จ้างเหมา ฝึกงาน จัดสิ่งอำนวยความสะดวก ล่าม หรือการช่วยเหลืออื่นให้แก่คนพิการก็ได้ หรือที่เรียกว่า “จัด”
“แม้คนพิการบางส่วนอาจจะประกอบอาชีพอิสระอื่น แต่เชื่อว่าหลายคนอยากทำงานที่มั่นคงและมีสวัสดิการดูแล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ โดยขอความร่วมมือสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่าให้กฎหมายเป็นเพียงเสือกระดาษ และมอบหมายให้ผู้แทนของกระทรวงแรงงานไปปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูล รับฟังปัญหา จากสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนากฎระเบียบและการปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมทั้งได้กำชับไปยังส่วนราชการของกระทรวงแรงงานทุกจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบการจ้างงานคนพิการของสถานประกอบการต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้ที่ดีสุด” นายภูมิพัฒน์ กล่าว
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4535766