4 กลไกออทิสติกโรดแม็พ เพิ่มที่ยืน"ออทิสติก"ในสังคม

4 กลไกออทิสติกโรดแม็พ เพิ่มที่ยืน"ออทิสติก"ในสังคม

สถานการณ์และแนวโน้มของคนเป็นออทิสติกว่า ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 35 ล้านคน ขณะที่ประเทศคาดว่ามีประมาณ 3.7 แสนคนและจากสถิติปี 2555 เฉลี่ยเด็กไทย 1,000 คนเป็น 6 คน ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนที่สูงมาก และเพิ่มขึ้นทุกปี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำหนดให้บุคคลออทิสติกเป็นประเภทความพิการด้วย เพื่อจะได้รับสิทธิบริการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งพบว่ามีคนเป็นออทิสติกมาแสดงตนขอมีบัตรประจำตัวผู้พิการประมาณ 4,000 ราย

ว่ากันว่า สาเหตุที่ผู้เป็นออทิสติกมาลงทะเบียนน้อยคาดว่าเกิดจาก 3 เหตุผลหลัก คือ 1.เอกสารรับรองความพิการของกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ชัดเจน เนื่องจากยังคงระบุรวมบุคคลออทิสติกไว้ในกลุ่มความพิการทางจิตใจ ซึ่งทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน 2.ผู้ปกครองยังไม่รู้สิทธิ หรือยังมีมุมมองกับคำว่าพิการไม่ชัดเจน บางคนมองว่าเป็นการตีตราเด็ก จึงไม่นำเด็กเข้าระบบ และ 3.แพทย์ยังมีความลังเลในการวินิจฉัยรับรองว่าเด็กมีความบกพร่องด้านใด ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิ และบริการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาฟื้นฟูสมรรถภาพร่องด้านใด ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิ และบริการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาฟื้นฟูสมรรถภาพ

ทั้งนี้บุคคลออทิสติก จะเห็นชัดในช่วงวัยเด็กอายุ 3-4 ขวบ หากพบเด็กมีปัญหาทั้ง 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ด้านภาษาและการสื่อสาร และด้านพฤติกรรมและอารมณ์ ให้สันนิษฐานได้ว่า เด็กอาจเป็นออทิสติก และหลักสำคัญในการช่วยเหลือเด็กออทิสติก และหลักสำคัญในการช่วยเหลือเด็กออทิสติดให้สำเร็จในการช่วยเหลือเด็กออทิสติก และหลักสำคัญในการช่วยเหลือเด็กออทิสติกให้สำเร็จ คือ การฝึกกระตุ้นพัฒนาการอย่างถูกต้อง โดยผู้ปกครองจะต้องยอมรับและเข้าใจ และแนะนำให้ผู้ปกครองใช้หลัก 4 อ.คือ อดทน อบอุ่น เอาใส่ใจ ให้โอกาสเพื่อเป็นแนวทางในการฝึก

ระดับอาการออทิสติก จำแนกได้ 3 ระดับคือ 1.ระดับกลุ่มที่มีอาการน้อย (Mildautism) หรือ กลุ่มออทิสติกที่มัศักยภาพสูง จะมีพัฒนาการทางภาษาดีกว่ากลุ่มอื่น แต่ยังมีความบกพร่องในทักษะทางด้านสังคม การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของบุคคลอื่น 2.ระดับกลุ่มที่มีอาการปานกลาง (Moderate autism) ในกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการล่าช้าทางด้านภาษา การสื่อสาร ทักษะทางด้านสังคม และการช่วยเหลือตัวเอง ตลอดจนมีปัญหาพฤติกรรมกระตุ้นตนเอง 3.ระดับที่มีอาการรุนแรง (Severe autism) ในกลุ่มนี้จะพัฒนาการล่าช้าเกือบทุกด้าน และอาจมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น ปัญญาอ่อน รวมไปถึงมีพฤติกรรมที่รุนแรง

ล่าสุดเครือข่ายผู้ปกครองบุคคลออทิสติก ได้คิดค้นและประมวลขึ้นมาทั้งจากประสบการณ์ตรงและจากการ “ต่อยอด” องค์ความรู้ของต่างประเทศจากทั่วโลก นับเป็นนวัตกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก เรียกว่า“4 กลไกหลักตามออทิสติกโรดแมป” และทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยขอให้นายกรัฐมนตรีออกม.44 ให้กระทรวงการคลังและกองทุนต่างๆ อนุมัติเม็ดเงินให้แก่กระทรวงต่างๆ ทำโครงการนำร่อง “4 กลไกหลักฯ” ให้สามารถนำเม็ดเงินมาใช้จ่ายเรื่อง “งบลงทุน” ทั้งในเรื่องค่าก่อสร้างอาคารสถานที่และค่าจ้างค่าตอบแทนบุคลากรและอื่นๆ

2.ให้กระทรวงสาธารณสุข ทำ “โครงการนำร่องจัดตั้ง “แผนกพิเศษออทิสติก” ในโรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงพยาบาลจังหวัดฯ และโรงพยาบาลอำเภอฯ” ในขอบเขตทั่วประเทศ เพื่อบ่มเพาะบุคลากรและถอดบทเรียนเป็นกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ในการนำเข้าสู่โครงสร้างงบประมาณปกติให้แล้วเสร็จ ภายใน 5 ปี

3.ให้กระทรวงศึกษาธิการทำโครงการนำร่องจัดตั้งและพัฒนาห้องเรียน 2 รูปแบบ อันได้แก่ “ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก” และ “ห้องเรียนสอนเสริมการศึกษาพิเศษ” ในโรงเรียนเด็กปกติทั่วไปในชุมชนในสังกัดหรือในกำกับดูแล ในขอบเขตทั่วประเทศ เพื่อบ่มเพาะบุคลากรและถอดบทเรียนเป็นกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ในการนำเข้าสู่โครงสร้างงบประมาณปกติ ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี

4.ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมันคงของมนุษย์-พม. ทำโครงการนำร่องจัดตั้ง ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกจังหวัดฯ ที่มี ฝ่ายบ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชนจังหวัดฯ อยู่ในโครงสร้างของศูนย์ ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด เพื่อบ่มเพาะบุคลากรและถอดบทเรียนเป็นกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ในการนำเข้าสู่โครงสร้างงบประมาณปกติ ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี และให้กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลต่างๆ จัดตั้ง “บ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชน” ในเขตเทศบาลหรือนเขตพื้นที่ของตนหากมีบุคคลออทิสติกวัยรุ่นวัยผูใหญ่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

นอกจากนี้ยังขอ “งบประมาณกลาง” ของรัฐบาลประมาณ 600-1,000 ล้านบาทให้กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดตั้ง “สถาบันวิจัยออทิสซึ่มในชุมชนเมืองมหาวิทยาลัยขอนแก่นแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านออทิสติกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งสามารถจะเชื่อมต่อวิทยาการด้านออทิสติกและด้านสมองกับทั่วโลก

อ.ชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึ่ม(ไทย) ได้เขียนในเฟสบุ้ควันที่ 22 มิย. 2560 ว่า สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) จึงได้บรรจุเนื้อหา ใน 4 กลไก เป็น มาตรการและตัวชี้วัด ใน “แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 ที่ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบไว้แล้ว เหลือเพียง ”แรงส่ง นั่นคือ บัญชา หรือ ข้อสั่งการของ ท่านนายกรัฐมนตรี ในประเด็นดังกล่าว“หวังว่า” ฯพณ. นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย ตั้งทีมงานมาทำงานร่วมกับ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย)และภาคีผู้ปกครอง อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ สิทธิเป็นจริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามคำประกาศของท่าน

ผู้ปกครองเด็กออทิสติกรายหนึ่ง บอกว่าการพัฒนาบุคคลออทิสติคต้องทำตามศักยภาพของการเรียนรู้ เช่น กลุ่มที่ออทิสติกศักยภาพปานกลาง-ต่ำ ต้องมี"ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกกลุ่มศักยภาพปานกลางถึงต่ำ วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่(15 ปี ขึ้นไป) และต้องมี"หลักสูตรคู่ขนานเฉพาะบุคคลออทิสติกศักยภาพปานกลาง-ต่ำ(วัยรุ่นผู้ใหญ่) พัฒนาศักยภาพนักพัฒนาศักภาพบุคคลออทิสติก ด้วย “หลักสูตรนักพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก”และพัฒนาผู้ปกครองบุคคลออทิสติก ด้วย “หลักสูตรคู่ขนานผู้ปกครองบุคคลออทิสติกศักยภาพปานกลาง-ต่ำ อายุ 15 ปี ขึ้นไป” ให้บริการคำปรึกษาเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกศักยภาพปานกลาง-ต่ำในระดับอายุ 15 ปีขึ้นไปแก่ชุมชน ให้บริการ 24ชม.ทั้งเพื่อการฝึกทักษะเพื่อการพัฒนาศักยภาพครบวงจรชีวิต 24 ชม.จะได้เป็นการช่วยเหลือและเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่รอดได้ในสังคมอย่างเท่าเทียมกับกลุ่มคนพิการอื่นๆด้วย

“เด็กออทิสติคที่มีศักยภาพสูงก็อยู่ร่วมกันเด็กปกติ เข้าโรงเรียนกับเด็กปกติได้ แต่กลุ่มที่ศักยภาพต่ำ บางคนไม่มีฐานะ ตรงนี้ภาครัฐต้องเข้าช่วยเหลือ ต้องมีสถานที่รองรับ ห้องเรียนก็ต้องมีรองรับ โรงพยาบาล รวมทั้งศูนย์รองรับในชุมชน ซึ่งต้องทำคู่ขนานไปด้วยกัน พวกเขาไปโรงเรียนก็มีห้องเรียนของพวกเขา ไปโรงพยาบาลก็ได้ หรือมีปัญหาในชุมชนก็มีที่พักพิง อย่างนี้ปัญหาแม่ฆ่าลูกเพราะรับภาระไม่ไหวก็จะหมดไป แต่รัฐบาลต้องจริงใจ รัฐบาลต้องกล้าลงทุนกับเด็กเหล่านี้ คนกลุ่มนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีการลงทุนด้านนี้เลย ถ้าสามารถทำตาม 4 โมเดลได้ กลุ่มคนออทิสติกทุกระดับศักยภาพทุกระดับอายุ ก็จะมีเส้นทางเดินของตัวเองอย่างงดงาม” แม่ที่มีลูกออทิส ติกรายหนึ่งกล่าว

ศธ.ให้เรียนร่วม 3 กลุ่ม สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สำนัก งานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยมีการคัดกรองเด็กเพื่อจัดการเรียนใน 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 โรงเรียนเรียนร่วม สำหรับเด็กพิการที่มีความพร้อมพอจะเรียนร่วมกับเด็กปกติ

กลุ่มที่ 2 โรงเรียนเฉพาะความพิการ สำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา, ทางการได้ยิน และการเห็น แบ่งเป็น2ประเภท คือเด็กตาบอด และเด็กเห็นเลือนราง ซึ่งเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น จะสมองดีเพราะสามารถอ่านอักษรเบรลล์ หรือใช้วิธีการฟังเทปหรือแผ่นเสียงได้ และสามารถเรียนได้ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีกระจายอยู่ 46 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบประจำ และไป-กลับ

และกลุ่มที่ 3 กลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส 10 ประเภท ที่ ศธ. กำหนด อาทิ เด็กถูกบังคับคดีให้ขายแรงงาน เด็กเร่ร่อน เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง/กำพร้า เด็กถูกทำร้ายทารุณ เด็กยากจนมากเป็นพิเศษ เด็กในชนกลุ่มน้อย เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ และเด็กในสถานพินิจและคุ้มเด็กและเยาวชน เด็กกลุ่มนี้จะได้รับการศึกษาตามหลักสูตรขั้นพื้นฐานเหมือนโรงเรียนทั่วไป และเน้นทักษะชีวิต เรียนอาชีพสู่การมีงานทำ มีโรงเรียนรองรับอยู่ประมาณ 51 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูลสำหรับเด็กพิการ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ผู้ปกครองพอมีฐานะและสามารถจัดการเรียนการสอนได้ด้วยตัวเอง

จิตแพทย์ระบุพ่อแม่ร้อยละ 50 เครียด พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กล่าวว่า พ่อแม่ร้อยละ50 ที่มีลูกออทิสติกเครียด ซึ่ง การให้บริการผู้ป่วยออทิสติกในปัจจุบัน หากพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้วสามารถรับบริการเพื่อคัดกรองออทิสติกได้ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)หรือโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) เพื่อส่งต่อเข้ารับการดูแลจากจิตแพทย์ต่อไป

โดยปกติจะมีการคัดกรองออทิสติกในเด็กไทยในช่วงอายุ 9 เดือน,18 เดือน ,30 เดือน และ42 เดือนช่วงที่เด็กมาตรวจสุขภาพและรับวัคซีนด้วย หากตรวจพบก็จะให้เข้าสู่กระบวนการรักษา จะต้องเน้นที่ความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมตัวเด็กของพ่อแม่เป็นสำคัญ ยอมรับกับพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงของเด็กให้ได้ และร่วมมือในการช่วยฟื้นฟูเด็ก

ขอบคุณ... http://www.komchadluek.net/news/edu-health/295390

ที่มา: คมชัดลึกออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 13 ก.ย.60
วันที่โพสต์: 4/10/2560 เวลา 10:29:31 ดูภาพสไลด์โชว์ 4 กลไกออทิสติกโรดแม็พ เพิ่มที่ยืน"ออทิสติก"ในสังคม