กสม.ชี้การทำโทษนักเรียนโดยทำให้ได้รับความอับอาย เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม.ชี้การทำโทษนักเรียนโดยทำให้ได้รับความอับอาย เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม.ชี้การทำโทษนักเรียนโดยทำให้ได้รับความอับอาย เป็นการละเมิดสิทธิฯ พร้อมแนะกระทรวงศึกษาฯ กำกับดูแลและอบรมครูเกี่ยวกับการทำโทษนักเรียนให้เหมาะสม

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการกระทำของครูหัวหน้าฝ่ายปกครอง โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง จากกรณีการลงโทษนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 คน ด้วยการให้ถอดกางเกงพลศึกษาจนเหลือแต่กางเกงชั้นในและกางเกงขาสั้นผู้ชาย (บ๊อกเซอร์) โดยให้ยืนหันหน้ามาทางครูหัวหน้าฝ่ายปกครองผู้ถูกร้อง และหันหลังให้กับเพื่อนนักเรียนจำนวนมากที่กำลังเดินขึ้นอาคารเรียนหลังเลิกแถว จากนั้นได้ดำเนินการอบรมสั่งสอนนักเรียนชายกลุ่มดังกล่าวเนื่องจากทั้ง 4 คนได้ร่วมกันแกล้งเพื่อนนักเรียนชายขาพิการคนหนึ่งซึ่งเรียนอยู่ห้องเดียวกันด้วยการฉีกแขนเสื้อจนขาดและดึงกางเกงลง ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้นักเรียนได้รับความอับอาย จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม.พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ให้การรับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลจะกระทำมิได้ ขณะที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 16 กำหนดว่า เด็กจะไม่ถูกแทรกแซงโดยพลการ หรือโดยไม่ชอบในความเป็นอยู่ส่วนตัวต่อเกียรติและชื่อเสียง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ครูผู้ถูกร้องให้เหตุผลของการลงโทษว่ามีเจตนาที่ต้องการอบรมสั่งสอนนักเรียนทั้งสี่คนให้เข้าใจถึงความรู้สึกของเพื่อนนักเรียนชายขาพิการที่ถูกกลั่นแกล้งในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง ส่วนผู้ปกครองของนักเรียนที่ถูกลงโทษบางคนไม่พอใจการกระทำของครูผู้ถูกร้อง จึงได้ร้องเรียนไปยังโรงเรียน

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยอง และ กสม. รวมทั้งแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเผยแพร่เรื่องราวไปในสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้นโรงเรียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จริง และสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ครูผู้ถูกร้อง หลังเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว โดยนักเรียนทั้งสี่คนไม่ติดใจการลงโทษของผู้ถูกร้องแต่อย่างใด ต่อมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครองของนักเรียนทั้งสองฝ่าย โรงเรียนและครูผู้ถูกร้องสามารถเจรจาตกลงกันได้ เรื่องจึงยุติ

กสม. เห็นว่า แม้จะปรากฏว่านักเรียนทั้งสี่คนกลั่นแกล้งเพื่อนนักเรียน ซึ่งเป็นคนพิการด้วยการฉีกเสื้อและถอดกางเกง อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 1 (6) ที่กำหนดให้นักเรียนต้องไม่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้อื่นหรือกระทำการใด ๆอันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี และแม้ครูผู้ถูกร้องอาจลงโทษนักเรียนโดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน แต่ก็ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 5 และข้อ 6 ซึ่งมี 4 สถาน ได้แก่

(1) ว่ากล่าวตักเตือน

(2) ทำทัณฑ์บน

(3) ตัดคะแนนความประพฤติ

(4) ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยห้ามลงโทษนักเรียนด้วยการกลั่นแกล้ง หรือด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท

ดังนั้น การที่ครูผู้ถูกร้องสั่งลงโทษนักเรียนทั้งสี่คนโดยให้ถอดกางเกงแม้จะมีเจตนาเพื่ออบรมสั่งสอน แต่ทำให้นักเรียนทั้งสี่คนรู้สึกอับอาย จึงเป็นการลงโทษที่ไม่เป็นไปตามระเบียบฉบับดังกล่าว และกระทบต่อสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 17 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 16 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แม้ว่าเรื่องดังกล่าวได้มีการตกลงกันและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมจนได้ข้อยุติแล้ว แต่เพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนลักษณะนี้ขึ้นอีกในโรงเรียนแห่งดังกล่าว ประกอบกับเห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างนักเรียนด้วยกันหรือระหว่างครูกับนักเรียน ยังเกิดขึ้นเป็นระยะ เช่น ครูใช้ไม้เรียวตีนักเรียนที่ก้นจนเกิดอาการเขียวช้ำ ครูใช้แก้วกาแฟปาใส่นักเรียนจนเป็นเหตุให้ใบหน้าผิดรูป เป็นต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อโรงเรียนเอกชนแห่งดังกล่าว รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้

(1) ให้โรงเรียนเอกชนแห่งดังกล่าว กำชับครูที่ทำหน้าที่ฝ่ายปกครองให้ตระหนักว่าการลงโทษนักเรียนจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 โดยเคร่งครัด และเคารพสิทธิมนุษยชนของนักเรียน

(2) ให้กระทรวงศึกษาธิการ กำกับดูแลส่วนราชการในสังกัดให้กำชับหรือซักซ้อมความเข้าใจแก่โรงเรียนและสถานศึกษาเป็นระยะ ๆ รวมทั้งอบรมให้ความรู้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่บรรจุใหม่หรือที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบจากการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548

ทั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานอาจจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดระบบงานและกิจกรรมในการแนะแนว ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง พ.ศ. 2548 โดยสอดแทรกกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เคารพในสิทธิมนุษยชนและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติด้วย

ขอบคุณ... https://bit.ly/3YnrelA (ขนาดไฟล์: 168)

ที่มา: isranews.org/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 3 ก.พ.66
วันที่โพสต์: 3/02/2566 เวลา 09:58:52 ดูภาพสไลด์โชว์ กสม.ชี้การทำโทษนักเรียนโดยทำให้ได้รับความอับอาย เป็นการละเมิดสิทธิฯ