เด็กพิการเรียนไหนดี? เด็กพิการก็มี “ฝัน”

เด็กพิการเรียนไหนดี? เด็กพิการก็มี “ฝัน”

โอกาสทางการศึกษาช่วยเปิดประตูบานใหม่ๆ ให้กับชีวิตได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป หรือเป็นผู้ที่มีข้อจำกัดทางกาย ก็มีสิทธิ์ที่จะค้นหาตัวตนผ่านโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสมให้กับตัวเอง ความพิการทางกายไม่ควรถูกปิดกั้นด้วยโอกาสที่ไม่เท่าเทียม เหตุนี้เอง สสส. จึงได้จับมือกับภาคีเครือข่ายจัดมหกรรมแนะแนวการศึกษาแห่งเดียวในประเทศที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้เด็กพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับชั้นต่างๆ ได้มากขึ้น พร้อมทั้งจัดกิจกรรมกระตุ้นทักษะ แนวทางการค้นหาตัวเอง และมอบแรงบันดาลใจ โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อ “เด็กพิการเรียนไหนดี 64” ตอน “ปั้นฝันเป็นตัว”

สสส. นับเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่พยายามขับเคลื่อนสังคมผ่านจุดเล็กๆ ด้วยการส่งเสริมให้นักเรียนพิการได้รับโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมเหมือนเด็กทั่วไป เพื่อให้ได้รับความรู้ที่ตรงกับศักยภาพ มองเห็นเส้นทางชีวิต ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสด้านอาชีพและรายได้ที่มั่นคงในอนาคต ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังนำความภาคภูมิใจและความรู้สึกไม่แตกต่างจากคนอื่นมาสู่ตนเองด้วย

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่าความสำเร็จของการจัดมหกรรมแนะแนวการศึกษาสำหรับนักเรียนที่พิการทางกายใน 2 ครั้งใน 2 ปีที่ผ่านมา คือการพบว่ามีนักเรียนพิการได้ค้นพบตัวเอง และมีโอกาสได้รับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น จากการสำรวจในปี 2563 พบคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการได้รับการศึกษาจำนวน 1,533,159 คน ทั้งระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา ระดับอุดมศึกษา แต่จากการสำรวจก็พบคนพิการที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเป็นตัวเลข 69,371 คน จากปัจจัยสภาพแวดล้อมทางด้านครอบครัว สถานภาพทางการเงิน รวมถึงสภาพทางกายที่ผู้ดูแลมองว่าไม่เอื้อต่อการเรียน ทั้งนี้การจัดมหกรรมแนะแนวการศึกษาสำหรับนักเรียนพิการ ก็นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ตัวนักเรียนเอง รวมถึงผู้ปกครองเห็นแนวทางและโอกาสที่เป็นไปได้มากขึ้น

“ที่น่ายินดีคือการจัดงานในแต่ละปีมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมงานกับเรามากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าสถาบันนั้นๆ มีความพร้อมสำหรับรองรับนักศึกษาพิการมากขึ้น ทั้งคณะหรือสาขาที่เปิดสอนไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักศึกษาพิการเมื่อเข้าไปเรียน ส่วนความภูมิใจหนึ่งในฐานะที่เราจัดงานขึ้นเป็นปีที่ 3 คือการได้เห็นน้องๆ ที่เคยมาร่วมงานมหกรรมการศึกษาแล้วมีโอกาสเข้าศึกษาต่อได้จริง แต่สิ่งที่ สสส. ยังคงทำต่อเนื่องก็ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะแนวทางในอนาคตของนักเรียนนักศึกษาพิการยังหมายถึงการจบการศึกษาและประกอบอาชีพ สิ่งหนึ่งที่เราทำคือการจับมือกับสถานประกอบการอีกกว่า 100 บริษัท เพื่อให้น้องๆ ได้ฝึกงาน เป็นหนึ่งในการหนุนเสริมของเรา เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งสถานประกอบการและตัวน้องๆ เองด้วย”

สำหรับมหกรรมแนะแนวการศึกษา “เด็กพิการเรียนไหนดี 64” ครั้งที่ 3 จัดขึ้น ณ โดย ทรู ไอคอนสยาม ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพฯ โดยการจับมือกันของ สสส. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และบริษัท กล่องดินสอ จำกัด ด้วยแนวทางเพื่อให้นักเรียนพิการได้เรียนรู้การค้นหาตัวเองและวางแผนการศึกษาต่อในสถาบันหรือมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับความต้องการและรูปแบบชีวิต รวมถึงแนวทางการศึกษาในระดับชั้นอื่นๆ และมอบเทคนิคการเรียนในระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ไปจนถึงการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเส้นทางอาชีพในอนาคตด้วย

เด็กพิการเรียนไหนดี? เด็กพิการก็มี “ฝัน”

มหกรรมแนะแนวการศึกษาครั้งนี้ นอกจากจะมีบูทของสถาบันการศึกษาชั้นนำกว่า 17 แห่งที่มาพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางในอนาคตและโอกาสทางการเข้าศึกษาต่อสำหรับน้องๆ แล้ว ยังมีห้องกิจกรรกิจกรรมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับน้องๆ ที่เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ ทั้ง ห้อง “ปั้นฝันเป็นตัว” ที่ช่วยน้องวิเคราะห์ความถนัดและความชอบออกมาเป็นแนวทางในอนาคตของตัวเองได้ ห้องเวิร์คช็อป “สอนวิธีทำ…Portfolio” ให้น่าสนใจสำหรับนำเสนอเพื่อศึกษาต่อ ห้อง “เพิ่มความมั่นใจในการสัมภาษณ์” โดยทีมครูอาสา เพื่อให้น้องๆ ได้ฝึกประสบการณ์จริงก่อนลงสนามจริงในอนาคต พร้อมคำแนะนำที่เป็นประโยชน์

ความสำเร็จหนึ่งของการจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นการที่น้องๆ นักเรียนพิการ ผู้ปกครอง และครูอาจารย์เดินทางมาร่วมงานอย่างล้นหลาม ซึ่งนั่นสะท้อนอย่างหนึ่งว่า การหยิบยื่นโอกาสเช่นนี้เป็นสิ่งที่ความหมายในเชิงรูปธรรมอย่างมาก รวมถึงเป็นใบเบิกทางสำคัญที่จะทำให้พวกเขารู้จักตัวเองและเห็นแนวทางในอนาคตของชีวิตได้ อย่าง น้องยูโร จิราวัฒน์ พรพุฒิเมธี และน้องเอก ธีรวัฒน์ อินทะสร้อย นักเรียนผู้พิการทางสายตาจากจังหวัดชลบุรี ที่มีโอกาสเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงประทับใจ ว่ารู้สึกดีใจที่มีการจัดงานมหกรรมแนะแนวการศึกษาในครั้งนี้ขึ้น เพราะถือเป็นแหล่งข้อมูลที่ดี รวมถึงได้พบกับสถาบันการศึกษาที่ตรงกับความต้องการ และเปิดรับนักเรียนพิการเข้าไปศึกษาในสถาบันหรือคณะที่เหมาะสมกับแนวทางในอนาคตของตัวเอง

ทั้งน้องยูโร และน้องเอก ต่างเป็นนักเรียนพิการทางสายตาที่มีความสามารถด้านภาษาจีน และวางเป้าหมายในอนาคตสำหรับการศึกษาต่อด้านจีนวิทยา/การสอนภาษาจีน ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการมอบโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม น้องๆ กล่าวว่านอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีสื่อการเรียนการสอนเป็นอักษรเบลล์ภาษาจีนแล้ว ก็ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับนักศึกษาพิการด้วยการมีหน่วยงานอย่าง หน่วยให้บริการสนับสนุนนักศึกษาพิเศษ รวมถึงมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอีกด้วย

นอกจากกิจกรรมที่ช่วยให้น้องๆ ได้ค้นหาตัวเองและฝึกประสบการณ์แล้ว ภายในมหกรรมแนะแนวการศึกษา “เด็กพิการเรียนไหนดี 64” ครั้งนี้ยังมีเวทีสร้างแรงบันดาลใจสำหรับน้องทุกคนที่มาร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ฝึกทักษะคนพิการทำแฟ้มสะสมผลงาน สู่การเข้าถึงการศึกษาและอาชีพ” โดยครูฟิล์ม พงศกร สมอบ้าน “สอนเคล็ดไม่ลับสร้างความมั่นใจ สัมภาษณ์อย่างไรให้ถูกใจกรรมการ” โดยครูพชร วังมี “เคลียร์ชัดเส้นทาง Dek64” โดยครูแฮนด์ ธารา อิสสระ และ “ชวนน้องปั้นฝัน ค้นหาตัวตน ผ่านการศึกษา ตรงวิสัยทัศน์องค์กรจ้างงาน” โดยรุ่นพี่คนพิการ ทั้งครูไอซ์ ดำเกิง มุ่งธัญญา, ธันย์ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์, อุ้ย ชิษณุพงศ์ วงศ์ชูชัยสถิต และเฟิร์น พรนภาพรรณ สังวาลทอง

รุ่นพี่ที่เดินทางมาก่อนหน้าในเส้นทางสายการศึกษาและอาชีพต่างก็นำประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาส่งต่อสำหรับน้องๆ มากมาย ธันย์ ณิชชารีย์ ซึ่งเป็นทั้งรุ่นพี่คนพิการและผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมายได้ฝากถึงน้องๆ เอาไว้ว่า “โครงการนี้เรียกว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะถือว่าเป็นการส่งสาส์นไปถึงน้องๆ อีกหลายคนที่ยังไม่เคยได้รับข้อมูลด้านการศึกษา เมื่อไม่มีข้อมูลก็อาจจะปิดกั้นโอกาสของตัวเอง ทั้งๆ ที่เรามีความรู้ความสามารถที่จะทำอะไรได้อีกมากมาย อยากฝากถึงน้องๆ ว่าอยากให้เปิดโอกาสให้กับตัวเองในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพราะสามารถใช้โอกาสทางการศึกษาเหล่านี้เพื่อพัฒนาตัวเอง รวมถึงผลักดันตัวเองไปสู่จุดที่กว้างมากขึ้นของชีวิตได้”

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการเดินในแนวทางหนึ่งของ สสส. ที่ปรารถนาอยากเห็นความเท่าเทียมในการได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น เพราะแม้ร่างกายจะแตกต่าง แต่ศักยภาพของชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย และนอกจากมหกรรมแนะแนวการศึกษาครั้งนี้แล้วก็ยังมีพื้นที่ของชุมชนออนไลน์อื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ ทั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี” และกลุ่มเฟซบุ๊ก “เด็กพิการอยากเรียนมหา’ลัย” เพื่อสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และส่งต่อแรงบันดาลใจที่มีค่าต่อกัน

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/news/society/1962030

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 27 ต.ค.63
วันที่โพสต์: 27/10/2563 เวลา 10:54:07 ดูภาพสไลด์โชว์ เด็กพิการเรียนไหนดี? เด็กพิการก็มี “ฝัน”