สพฐ.ชูธงการศึกษาพิเศษ ยุค "ไทยแลนด์ 4.0" ปิดช่องโหว่เด็กหลุดระบบ : "ลดเหลื่อมล้ำ-นำความสุขสู่สังคม

สพฐ.ชูธงการศึกษาพิเศษ ยุค "ไทยแลนด์ 4.0" ปิดช่องโหว่เด็กหลุดระบบ : "ลดเหลื่อมล้ำ-นำความสุขสู่สังคม

“การศึกษาพิเศษ”

หนึ่งในระบบการจัดการศึกษาของประเทศไทย ที่หลายคนอาจไม่คุ้นชิน หรือหลงลืมไป โดยคิดว่าการจัดการศึกษาของไทยมีเพียงการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาอาชีวศึกษา การศึกษาเอกชน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และอุดมศึกษา

สำหรับ “การศึกษาพิเศษ” รับผิดชอบโดย สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) อยู่ภายใต้ร่มเงาของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ แม้เป็นเพียงสำนักเล็กๆ แต่นับได้ว่ามีภารกิจยิ่งใหญ่ในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและด้อยโอกาส

หากจำแนกภารกิจงานของ สศศ. จะพบว่ามีสถานศึกษาในสังกัดถึง 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัด ให้บริการเด็กพิการแบบไป-กลับ และแบบประจำหมุนเวียน กับเด็กพิการรับบริการที่บ้าน เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล เด็กพิการเรียนร่วม และอื่นๆ

กลุ่มที่ 2 โรงเรียนเฉพาะความพิการ 48 โรงเรียน ใน 39 จังหวัด ดูแลตั้งแต่บกพร่องทางสติปัญญา 19 โรงเรียน 19 จังหวัด บกพร่องทางการได้ยิน 21 โรงเรียน 20 จังหวัด บกพร่องทางการเห็น 2 โรงเรียน 2 จังหวัด และบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ 5 โรงเรียน 5 จังหวัด ไปจนกระทั่งโรงเรียนการศึกษาพิเศษเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ที่ให้บริการทุกประเภทความพิการ

และ กลุ่มที่ 3 โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ 51 โรงเรียน ใน 43 จังหวัดทั่วประเทศ ดูแลจัดการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือบุคคลที่รัฐต้องจัดบริการทางการศึกษาให้พิเศษ ในลักษณะของการอยู่ประจำ

การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและด้อยโอกาส เป็นการจัดแบบให้เปล่าเช่นเดียวกับบุคคลปกติ แบ่งเด็กพิการเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก เด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 9 ประเภท นับจากบกพร่องทางการเห็น บกพร่องทางการได้ยิน บกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ บกพร่องทางการเรียนรู้ บกพร่องทางการพูดและภาษา บกพร่องทางพฤติกรรม หรืออารมณ์ ออทิสติก และพิการซ้อน

อีกกลุ่มเป็น เด็กด้อยโอกาส 10 ประเภท มีตั้งแต่เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงานหรือแรงงานเด็ก เด็กเร่ร่อน เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศหรือโสเภณีเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้งและกำพร้า เด็กที่ถูกทำร้าย ทารุณ เด็กยากจนมากเป็นพิเศษ เด็กในชนกลุ่มน้อย เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับสารเสพติด เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์หรือโรคที่ติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ และเด็กในสถานศึกษาพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พูดถึงนโยบายเร่งด่วนในการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเด็กพิเศษ ว่า “สศศ. และโรงเรียนที่รับผิดชอบจัดการศึกษาให้เด็กพิเศษต้องมองว่าจะทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชน ซึ่งเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่มีลักษณะพิเศษ ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพเทียบเคียงกับเด็กปกติ อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการค้นหาความพิการของเด็กตั้งแต่แรกเริ่ม และให้เด็กได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในห้องเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ เพราะเราเชื่อว่าการเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ เด็กพิการจะมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น...

...ก่อนที่จะไปอยู่ในห้องเรียนเรียนร่วมได้นั้น ถ้าเราพบความพิการแรกเริ่ม ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัด โรงเรียนที่ดูแลการศึกษาพิเศษเฉพาะทางจะต้องเข้าไปช่วยดูแลส่งเสริม บำบัด ทำให้พร้อมที่จะเข้าไปเรียนร่วมได้ก่อน โดยร่วมกับพ่อแม่ ญาติพี่น้องของเด็ก และต้องเข้าไปช่วยดูแลเด็กทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ช่วงเด็กมาอยู่ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ คุณครู ซึ่งเป็นนักกายภาพบำบัดจะช่วยดู แต่เมื่อกลับไปบ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องดูแล ดังนั้นต้องฝึกสอนเรื่องการดูแลให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็ก แนวทางที่ทำนี้ผมเรียกว่า เปลี่ยนบ้านให้เป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่ให้เป็นครู เป็นการรวมพลังดูแลเด็ก”

ขณะที่ นางสุดา สุขอ่ำ ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กล่าวว่า “สศศ.รับนโยบายจากเลขาธิการ กพฐ. มีการกำหนดแผนลดความเหลื่อมล้ำ นำความสุขมาให้สังคมด้วยการสร้างโอกาสเท่าเทียมกันอย่างมีคุณภาพ ไม่ให้เด็กพิการด้อยโอกาสคนใดหลุดรอดไปจากระบบการศึกษาได้ ดังนั้นโรงเรียนในสังกัด สศศ.จึงต้องสอนให้เด็กรู้จักตัวตน ค้นพบตัวเองไปสู่เป้าหมายต่อไป และเพื่อให้นโยบายนี้ไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน สศศ.ได้กำหนดเป้าหมายแห่งความสำเร็จไว้สองระยะ คือ ระยะสั้น เน้นการวิจัย พัฒนา สร้างนวัตกรรมองค์ความรู้ เพื่อให้หน่วยงานมีศักยภาพในการให้บริการ การเรียนรู้กับคนพิการให้เข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม และมีคุณภาพอย่างมีความสุขด้วยการสร้างแบบแผนชีวิตคนพิการที่จะทำให้หน่วยงานมีสมรรถนะสูงมุ่งเน้นการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และ เป็นองค์กรแห่งความสุข เข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน และระยะยาว เป็นการสร้างทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าที่มีสมรรถนะรองรับการขับเคลื่อน Thailand 4.0 เริ่มต้นที่การนำร่องจัดห้องเรียนอัจฉริยะ (Gifted Room)...

...เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายโดยเร็ว สศศ.ได้สร้างความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียน เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนสร้างความเข้าใจกับครู ทั้งมีการทำ MOU ระหว่าง สศศ.กับผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน สศศ.คาดหวังว่าจากการร่วมมือ ร่วมใจมุ่งมั่นปฏิบัติจะทำให้เราไปสู่เป้าหมายได้ทุกโรงเรียน”

“ทีมการศึกษา” เห็นด้วยที่ สพฐ.โดย สศศ.ทุ่มเท และให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิเศษทุกกลุ่ม ได้มีโอกาสที่เท่าเทียมเด็กปกติทั่วไป เพราะการศึกษามีความสำคัญกับชีวิตของมนุษย์ทุกคน

เรามองว่าการปิดช่องโหว่ไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ น่าจะสอดรับกับยุคไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่ไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เพราะนี่คือหัวใจสำคัญในการ “ลดความเหลื่อมล้ำ และนำความสุขสู่สังคม”.

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/news/society/1556120

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 30 เม.ย.62
วันที่โพสต์: 30/04/2562 เวลา 11:17:13 ดูภาพสไลด์โชว์ สพฐ.ชูธงการศึกษาพิเศษ ยุค "ไทยแลนด์ 4.0" ปิดช่องโหว่เด็กหลุดระบบ : "ลดเหลื่อมล้ำ-นำความสุขสู่สังคม