โลกเงียบหลังเลนส์

นักเรียนพิการหูหนวก ชาวภูฏาน ฝึกการถ่ายภาพ

เมื่อการถ่ายภาพเป็นมากกว่าการบันทึกความสวยงามและเรื่องราวที่อยู่ตรงหน้า แต่คือการสื่อสารความคิดฝันที่ไม่เคยมีใครได้ยิน ถ้าวันหนึ่งโลกรอบข้างเงียบสนิท ไม่มีแม้เสียงที่จะถ่ายทอดความรู้สึก ร้อน หนาว หิว กลัว... เราอาจเข้าใจพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น

“ผมไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับเพื่อนยังไง ไม่มีเพื่อนเลย ตอนอยู่ที่หมู่บ้านวันๆ ก็ต้องเลี้ยงวัว พี่น้องคนอื่นไปโรงเรียนกันหมด สิ่งเดียวที่คิดตอนนั้นคืออยากไปโรงเรียนมาก” โซนาม เทนซิน (Sonam Tenzin) หนุ่มน้อยวัย 21 ปีผู้บกพร่องทางการได้ยินชาว ภูฏาน ใช้ภาษามือบอกเล่าความรู้สึกผ่านล่าม

นักเรียนพิการหูหนวก ชาวภูฏาน ส่งภาษามือกันถึงงานภาพถ่าย

ไม่ต่างจาก เปมา เจโทร (Pema Jethro) เพื่อนรุ่นน้องวัย 19 ปี ที่ในวัยเด็กต้องทนทุกข์กับอาการป่วยซึ่งเกิดจากความรู้สึกสิ้นหวังและกังวลกับอนาคต เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารกับใครในหมู่บ้านได้ กระทั่งได้มาเรียนภาษามือที่โรงเรียน ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ และคุณครู เขาจึงรู้ว่าโลกกว้างนั้นน่าอยู่กว่าที่คิด

สำหรับ ดอจิ แซงโม (Doji zangmo) สาวน้อยวัย 20 ปี ผู้ต้องกลายเป็นคนหูหนวกเพราะความเจ็บป่วยในวัยเด็ก เธอว่าแม้จะไม่ได้รู้สึกมีปมด้อย แต่การที่ไม่สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ก็ทำให้รู้สึกเหมือนถูกผลักไส และมีโอกาสในการทำงานน้อยกว่า ทว่า ถ้าถามถึงความฝัน เธออยากเป็นคุณครูสอนเด็กๆ ที่มีชะตากรรมเดียวกับเธอให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

พวกเขาเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยินของโรงเรียนมัธยม Wangsel Institute โรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งเดียวในประเทศภูฏาน ซึ่งเปิดสอนมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 96 คน

“เมื่อ 20 ปี ที่แล้วมีเด็กในหมู่บ้านที่ห่างไกลคนหนึ่ง เขามีความบกพร่องทางการได้ยิน เขาไม่ได้รับการยอมรับจากคนในหมู่บ้าน ตรงกันข้ามเขาถูกตราหน้าว่าเป็นเหมือนส่วนเกินของสังคม และไม่มีใครให้โอกาสเขาเลย จนเขาตายไปในที่สุด ต่อมาเมื่อ Wangsel Institute เมืองปาโร ประเทศภูฏาน ตั้งขึ้นมา ทำให้เป็นความหวังใหม่ของเด็กๆ ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินทั่วประเทศ เพราะที่โรงเรียนแห่งนี้ทำให้นักเรียนมีที่อยู่หลับนอน มีอาหารให้ประทานอาหาร และได้รับโอกาสทางการศึกษา นักเรียนจะได้ศึกษาด้านวิชาชีพในสาขาต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาชีพของตนเองเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ทำให้นักเรียนของ Wangsel Institute เปรียบเสมือนดอกไม้ที่กำลังเบ่งบาน ถือเป็นอนาคตของชาติภูฏาน”

Mr.Hon Norbu Wangchuk รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ราชอาณาจักรภูฏาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “สอนน้องถ่ายภาพ Young Photography” ที่ Centenary park เมืองทิมพู ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ Wangsel Institute กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 สิงหาคม 2560 โดยมีวิทยากรช่างภาพมืออาชีพจากประเทศไทยเดินทางมาสอนนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยินชาวภูฏาน ตั้งแต่ภาคทฤษฎีจนถึงการฝึกปฏิบัติในสถานที่จริง

นักเรียนพิการหูหนวก ชาวภูฏาน ฝึกการถ่ายภาพ

“ที่ผ่านมาทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้มีการลงนาม MOU กับทางการท่องเที่ยวภูฏาน เนื้อหาหนึ่งในนั้นเราพูดถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อส่งเสริม Two Kingdoms One Destination ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนที่น่าจะทำให้เขาได้มีโอกาสได้พัฒนามุมมองในการถ่ายภาพเพื่อเผยแพร่สู่สายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลก”

"นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญว่า Tourism จะต้องเป็นกิจกรรมสำหรับทุกคน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการท่องเที่ยว ก็เลยเน้นว่าทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยิน ผู้บกพร่องทางการมองเห็น หรือที่เราเรียกว่าผู้ด้อยโอกาสทางการท่องเที่ยวต้องได้รับสิ่งนั้น วันนี้เราก็เลยเลือกทำกิจกรรมกับผู้ด้อยโอกาสทางการท่องเที่ยว” ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับภูฏาน

ขณะที่ นครพจน์ ปิ่นมิ่ง ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ททท. ผู้ริเริ่มโครงการต้นกล้า ตากล้อง ซึ่งจัดต่อเนื่องมาถึง 30 ครั้ง ก่อนจะพัฒนามาเป็นกิจกรรม “สอนน้องถ่ายภาพ Young Photography” ที่เมืองปาโรและทิมพู ประเทศภูฏาน ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความเป็นมาของแนวคิดในการสอนผู้บกพร่องทางการได้ยินถ่ายภาพว่า

“เนื่องจากได้มีโอกาสไปเที่ยวกับเด็กๆ กลุ่มนี้ แล้วเห็นว่าการถ่ายภาพน่าจะเป็นประโยชน์ก็เลยติดต่อคุณครูที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ซึ่งเขาก็เห็นด้วยว่าน่าจะต่อยอดเป็นอาชีพได้ ก็ทำมาหลายครั้งจนกระทั่งครูใหญ่โรงเรียนสอนคนหูหนวกภูฏานมาเห็นผลงานของเด็กๆ ที่เศรษฐเสถียรในงานประชุมคนหูหนวกโลก เขาก็เห็นว่าโครงการนี้ดี จึงขอความสนับสนุนไปยังททท. จนเกิดกิจกรรมนี้ขึ้น ซึ่งเรามีจิตอาสาที่ร่วมเดินทางมาดูแลเด็กๆ หลายท่านด้วยกัน แต่ที่เป็นช่างภาพมืออาชีพมี 3 ท่านคือ คุณสุเทพ ช่วยปัญญา คุณชาธร โชคภัทระ และคุณเอกพันธ์ วัชรินทรชัย”

ห้องเรียนห้องนั้นดูเงียบเชียบ แต่แววตาที่จับจ้องไปที่จอภาพซึ่งวิทยากรนำมาเป็นตัวอย่างเต็มไปด้วยความตั้งใจ ทุกครั้งที่การบรรยายสิ้นสุดลง การเขย่ามือเหนือศีรษะแทนเสียงปรบมือคือคำขอบคุณที่กินใจที่สุด หลังจากผ่านการเรียนรู้ด้านทฤษฎีในห้องเรียนมาหลายชั่วโมง เด็กนักเรียนชาวภูฏานจำนวน 39 คน ก็ได้ลงสนามฝึกถ่ายภาพยังพื้นที่จริง

ภายในห้องเรียนสอนการถ่ายภาพ แด่น้องพิการหูหนวก

ท่ามกลางละอองฝนที่ปกคลุมสถูป 108 องค์ แห่งโดชูล่า (DOCHULA) เมืองทิมพู เด็กสาวยกกล้องขึ้นเก็บภาพแลนด์สเคปเบื้องหน้า ก่อนจะส่งภาษามือให้เพื่อนมาช่วยดูผลงานหลังเลนส์ของเธอ แม้อากาศจะไม่เอื้ออำนวย แต่ทุกคนก็มีความมุ่งมั่นที่จะเก็บภาพที่ดีที่สุดเพื่อนำไปให้คณะกรรมการพิจารณา

สุเทพ ช่วยปัญญา หัวหน้าคณะวิทยากร เปิดใจว่า แม้การสอนเด็กหูหนวกจะค่อนข้างยาก เพราะต้องเตรียมการสอนใหม่ ใช้ภาพตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็มีความประทับใจที่เด็กๆ มีความตั้งใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา

“เท่าที่ดูที่เขาถ่าย บางเรื่องที่ไม่ได้สอนแต่อยู่ในองค์ประกอบภาพเหมือนกัน เขาก็สามารถที่จะถ่ายได้ และบางมุมที่เราไม่คิดว่าเขาจะถ่ายออกมาแบบนี้ เขาก็กล้าที่จะถ่าย กล้าที่จะคิด มีมุมมองใหม่ๆ ของเขาเอง คือเป็นตัวของเขาเอง โดยส่วนตัว มาที่นี่ก็อยากมาสร้างแรงบันดาลใจให้เขา ให้เขารู้ว่าตนเองก็สามารถเรียนรู้ในการถ่ายภาพได้”

อีกมุมหนึ่ง ช่างภาพจิตอาสาที่ร่วมเดินทางมาเป็นวิทยากรอย่าง ชาธร โชคภัทระ มองว่าปัญหาในการสื่อสารอาจมีบ้าง แต่ไม่ถือเป็นอุปสรรค “เป็นความท้าทายมากกว่า”

“ส่วนของผมก็จะหาตัวอย่างรูปจากทั่วโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ว่านอกจากถ่ายรูปเพื่อความบันเทิงแล้ว เขาสามารถเอาไปทำเป็นอาชีพได้นะ” ซึ่งหลังจากได้เห็นภาพผลงานของเด็กๆ วิทยากรคนนี้บอกว่ารู้สึกมีกำลังใจ “ถึงแม้เราจะอยู่กับเด็กแค่ 4-5 วัน แต่สามารถรับรู้ถึงความตั้งใจและพลังของเขาได้ แล้วยิ่งได้ไปกินอยู่ร่วมกันทั้งในห้องอบรมและการออกภาคสนาม ก็เกิดความผูกพันไปโดยปริยาย ในใจลึกๆ ก็หวังว่าสอนจบแล้ว ไม่ใช่มันจะจบแค่นี้ มีความหวังว่าอยากจะต่อยอด

หนึ่งในเชิงโครงการเราอยากจะดึงเด็กที่มีศักยภาพสักจำนวนหนึ่งมาสอนในคอร์สที่มันสูงขึ้นเพื่อเขาจะเป็นช่างภาพที่ดีได้ กับอีกส่วนหนึ่งก็คุยกับครูใหญ่ว่าอยากให้เขาสามารถใช้การถ่ายภาพเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต เพราะจริงๆ ในเชิงอาชีพทุกวันนี้ เด็กหูหนวกที่นี่ยังหางานได้ยาก ก็เลยมีความหวังว่าสิ่งที่เราให้ไป เขาจะได้ใช้จริงๆ”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้อาชีพช่างภาพในภูฏานยังมีให้เห็นไม่มากนัก หากทักษะความรู้จากโครงการดังกล่าวช่วยจุดประกายความฝันในเส้นทางนี้ได้ ย่อมถือเป็นอีกก้าวของสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสองประเทศ “ผมเข้าใจว่าเมื่อ 8 ปีก่อน ที่ภูฏานไม่มีภาษามือเลย คนหูหนวกก็อยู่ในหมู่บ้านของตนเอง ไม่ได้ออกมายุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก ถ้ายุ่งเกี่ยวกับข้างนอกก็ใช้ภาษาง่ายๆ แบบ กินข้าว กินน้ำ อะไรแบบนั้น แต่ขณะนี้เขาก็เริ่มพัฒนาภาษามือของเขา โดยที่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามือจากเมืองไทย จากวิทยาลัยราชสุดา ซึ่งภาษามือที่นี่ก็คงใช้รูปแบบคล้ายๆ กับภาษาไทย คือเอาภาษาสากลเข้ามาประมาณ 50 % และอีก 50 % ก็เป็นภาษาพื้นฐาน Native Language เข้ามาช่วยด้วย”

กลุ่มนักเรียนคนพิการทางการได้ยินในภูฏาน

สมยศ นิมมานเหมินทร์ ผู้บริหารมูลนิธิอนุสารสุนทรเพื่อการสงเคราะห์คนหูหนวก และที่ปรึกษาโครงการต้นกล้าตากล้อง ให้ข้อมูล พร้อมทั้งแสดงความเห็นจากประสบการณ์ของคนที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็กๆ ผู้บกพร่องทางการได้ยินในเมืองไทยมาหลายสิบปีว่า คนกลุ่มนี้มีศักยภาพในการถ่ายภาพ

“คนหูหนวกนี่สายตาเขาค่อนข้างดี เขาจะมองเห็นภาพไกลๆ แล้วมุมมองของเขาอาจจะแตกต่างจากมุมมองของเรา เพราะฉะนั้น รูปภาพของเขาก็อาจจะแตกต่างจากรูปภาพของเรา ก็คงจะเป็นโอกาสดีในการที่เขาจะสามารถเป็นช่างภาพมืออาชีพได้ ซึ่งน่าจะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เขาสามารถจะทำได้ดี ในขณะที่เขาไม่สามารถเป็นนักร้องนักดนตรีได้ เพราะฉะนั้นการสอดแทรกการถ่ายภาพเข้าไปให้เขาน่าจะเป็นโอกาสดีๆ ของเขาอีกงานหนึ่ง”

ซึ่งนอกจากกิจกรรมในครั้งนี้ ทางโรงเรียนได้ก่อตั้งชมรมถ่ายภาพขึ้น และได้รับความสนใจจากเด็กๆ เป็นอย่างดี โซนาม โชเดอร์ (Sonam Choder) คุณครูจาก Wangsel Institute ให้ข้อมูลว่า เด็กนักเรียนที่นี่หลังจบชั้นมัธยมศึกษาไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นการฝึกทักษะด้านการถ่ายภาพ น่าจะเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น

“นอกจากเรื่องทักษะแล้ว การถ่ายภาพเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ‘appreciate from heart ‘ ช่วยให้เด็กๆ ถ่ายทอดความรู้สึกได้ดีขึ้น เขาใช้รูปสื่อสารกับผู้คนได้ และทำให้มีความความภูมิใจในตัวเอง” หลังการอบรมสิ้นสุดลง ภาพถ่ายหลายสิบภาพได้รับการคัดเลือกให้มาจัดแสดงในนิทรรศการที่จัดขึ้น ณ Centenary park เมืองทิมพู ช่วงเวลานั้นมีแต่รอยยิ้มทั้งจากเจ้าของภาพและผู้ชม ไม่ต้องมีสำเนียงภาษา เราต่างก็เข้าใจว่า นี่คือความสุขของการได้ให้และได้รับ

หากภาพหนึ่งภาพแทนถ้อยคำได้นับหมื่นนับพัน ภาพเหล่านี้คงบอกเล่าความรู้สึกนึกคิด ความหวังของเด็กๆ เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และแม้ว่าเส้นทางความฝันของผู้บกพร่องทางการได้ยินจะไม่ง่ายนัก แต่ถึงวันนี้คงไม่ยากเกินไปถ้าพวกเขาจะต่อเติมความหวังและกำลังใจให้กับตนเองในการก้าวเดินสู่อนาคต

ขอบคุณ... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/772681

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย14ก.ย.60
วันที่โพสต์: 14/09/2560 เวลา 11:05:04 ดูภาพสไลด์โชว์ โลกเงียบหลังเลนส์