ข้อเสนอแนะการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

ข้อเสนอแนะการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

คณะกรรมาธิการการสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ และพิจารณาศึกษาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส

สำหรับประเด็นเรื่องคนพิการนั้นได้มีการพิจารณาศึกษากฎหมายฉบับต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อคนพิการ การจัดสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อรถเมล์ชานต่ำของกระทรวงคมนาคมและการออกแบบอาคารของหน่วยงานภาครัฐ การส่งเสริมการบูรณาการแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดกับแผนพัฒนาจังหวัด การขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ รวมถึงการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการด้านคนพิการ ภายใต้การนำของ นายมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการ เดินทางไปพบปะสนทนาและมีข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อพิจารณาและสนับสนุนข้อเสนอแนะด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการใน ๕ ประเด็นดังนี้

ข้อเสนอแนะการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

๑.ควรปรับปรุงพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๑ ในประเด็นสำคัญ คือ การเร่งจัดตั้งศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ ภาคประชาชนซึ่งแม้ว่าในพระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการทั้งในบทนิยามและอีกหลายมาตรา แต่เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่าในพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในการจัดตั้งศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการไว้ ทำให้นับจนถึงปัจจุบันยังไม่มีศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการเกิดขึ้นเลย ทั้งนี้ศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการเป็นกลไกสำคัญที่ถูกออกแบบมาให้เติมเต็มช่องว่างของระบบการ จัดการศึกษาสำหรับคนพิการที่ภาครัฐไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสถานศึกษาเฉพาะความพิการที่มี ไม่เพียงพอและไม่สามารถสร้างเพิ่มเติมได้เพราะจะขัดต่อกระแสโลกซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเรียนร่วม ประกอบกับสถานศึกษาที่จัดการเรียนร่วมนั้นยังขาดปัจจัยในการสนับสนุนทำให้คนพิการไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการจำเป็นพิเศษของแต่ละคนรวมทั้งยังมีคนพิการที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนในสถานศึกษาอีกหลายแห่งโดยเฉพาะสถานศึกษาภายในชุมชนที่อาศัยอยู่เพราะความไม่พร้อมของสถานศึกษา ดังนั้นศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการจึงจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาและ การสนับสนุนคนพิการในระบบการศึกษาทุกรูปแบบและทุกระดับและทุกประเภท เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และขอให้ตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งปรับปรุงประเด็นศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ และประเด็นอื่นที่ทำให้การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการดียิ่งขึ้น

๒.ควรจัดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการโดยเร็วและสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและเป็นไปตามเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๑

๓.ควรแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิของคนพิการในการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และสอดคล้องกับความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งมีประเด็นปัญหาสำคัญ ๒ ประการ ได้แก่ ๑) ปัญหา คนพิการยังได้รับอุปกรณ์ไม่ครบถ้วนและไม่ตรงตามความต้องการจำเป็นพิเศษ และ ๒) ปัญหาการยืมสิ่งอำนวยความสะดวกและสื่อทางการศึกษาตามบัญชีแนบท้าย ก.เนื่องจากอุปกรณ์ในบัญชีดังกล่าว มีราคาสูง การยืมอุปกรณ์ดังกล่าวจึงต้องมีบุคคลค้ำประกันทำให้คนพิการไม่สามารถยืมไปใช้ได้เพราะมีความเสี่ยงไม่สามารถรับผิดชอบได้ ส่งผลให้มีอุปกรณ์ตามบัญชี ก.ดังกล่าวค้างอยู่ตามศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศจำนวนมาก และส่งผลต่อเนื่องให้ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และ ๒๕๕๙ กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อจัดหาอุปกรณ์ตามบัญชี ก. ได้ ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนของคนพิการ ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน และควรพิจารณาทบทวนแนวทางการให้ยืมสิ่งอำนวยความสะดวกและสื่อทางการศึกษาให้มีความเหมาะสม รวมถึงพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจพิจารณามอบหมายให้คณะทำงานตามข้อ ๑.ไปพิจารณาควบคู่กับการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยก็ได้

๔.ควรจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทางการศึกษาสำหรับนักเรียนพิการให้เป็นไปตามมาตรฐานการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ตามหลักการออกแบบที่เป็นสากล เช่น ePUB3 html5 และ WCAG 2.0 เป็นต้น โดยหลีกเลี่ยงการใช้รูปแบบที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง เช่น PDF และ Flash เป็นต้น และให้ความสำคัญกับการจัดทำสื่อให้พร้อมสำหรับแจกจ่ายให้กับนักเรียนทุกคน โดยกำหนด ให้มีหน่วยงานกลาง ในการจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessible Educational Media Center) เพื่อให้นักเรียนพิการสามารถเข้าถึงสื่อที่ใช้ในการเรียนการสอน ได้พร้อมกับนักเรียนอื่น ๆ อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

๕.ควรปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลที่รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลแก่โรงเรียนเอกชนการกุศลที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๕๐ เนื่องจากตามข้อเท็จจริงการดูแลคนพิการของโรงเรียนเอกชนการกุศลมีค่าใช้จ่ายรายบุคคลสูงกว่า ที่ได้รับการอุดหนุนอย่างมาก ปัจจุบันได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลจำนวน ๓๐,๘๐๐ บาท คิดเป็นหนึ่งในสี่ของค่าใช้จ่ายจริง จึงควรปรับเพิ่มเป็นอย่างน้อย ๔๐,๐๐๐ บาท โดยควรปรับอัตราส่วนครูสอนผู้เรียนพิการจาก ๑ ต่อ ๒๕ เป็น ๑ ต่อ ๘ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตอบรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อไป ซึ่งคณะกรรมาธิการจะได้ติดตามและนำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบตามความมุ่งหมายที่อยากเห็นคนพิการ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ในสถานที่และบริการสาธารณะต่างๆ สามารถพึ่งพาตนเองได้ จนท้ายที่สุดช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติ

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชนสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โทร.๐๒-๘๓๑๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐๒-๘๓๑๙๒๒๖

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคมหรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6 แฟกซ์ 02-831-9226

ขอบคุณ... http://www.naewna.com/lady/columnist/22577

ที่มา: naewna.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 25 ม.ค.59
วันที่โพสต์: 25/01/2559 เวลา 08:50:21 ดูภาพสไลด์โชว์ ข้อเสนอแนะการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ