ชายไทยเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุตายก่อนวัยมากที่สุด คนไทยกินหวานเกิน 5 เท่า

ชายไทยเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุตายก่อนวัยมากที่สุด คนไทยกินหวานเกิน 5 เท่า

บุหรี่-เหล้า-อาหารขยะ-โรค NCDs-อุบัติเหตุทางถนน สาเหตุหลักคนไทยตายก่อนแก่ สสส.-สธ.เปิดผลวิจัยภาระโรคฯ ปี 62 ชี้คนไทยอายุยืนขึ้น กลุ่มโรค NCDs สาเหตุตายอันดับ 1 พบชายไทยสูญเสียเพราะอุบัติเหตุมากที่สุด คนไทยบริโภคน้ำตาล 27 ช้อนชา/วัน มากกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 5 เท่า เร่งสานพลังตั้งเป้านโยบายสุขภาพ ลดป่วย-พิการ-ตายก่อนวัยอันควร

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรค (Burden of Disease: BOD) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมนำเสนอผลการศึกษา “ภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย: ชี้เป้าปัญหา จับตาแนวโน้มระบุมาตรการสำคัญลดคนไทยป่วย พิการและเสียชีวิต” เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2565 ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับ 11 กระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมผลการศึกษาภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย พ.ศ.2562 เป็นเวทีสื่อสารข้อมูลแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย เครือข่ายนักวิชาการด้านการศึกษาภาระโรค เพื่อนำผลการศึกษาไปพัฒนานโยบายสุขภาพในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย พัฒนารูปแบบองค์กรประเมินภาระทางสุขภาพที่มีความยั่งยืน

“ข้อมูลน่าเป็นห่วงอุบัติเหตุจากการจราจรในกลุ่มที่สูบบุหรี่และดื่มเหล้า 80% จึงต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยง ป้องกันได้ เพิ่มการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะเราอยากให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี อุบัติเหตุลดลงในช่วงโควิดเนื่องจากมีการจำกัดการเดินทาง ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมพฤติกรรมการบริโภค ให้ความรอบรู้ปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรค NCDs”

ชายไทยเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุตายก่อนวัยมากที่สุด คนไทยกินหวานเกิน 5 เท่า

ผลงานวิจัยอายุเฉลี่ยคนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มีจำนวนปีที่อยู่อย่างทุพพลภาพยาวนานกว่า 6.9 ปี อายุเฉลี่ยเพศชายเพิ่มจาก 70.5 ปี ในปี 2552 เป็น 71.7 ปี ในปี 2562 และหญิงเพิ่มขึ้นจาก 77.3 ปี ในปี 2552 เป็น 79.4 ปี ในปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนปีที่คนไทยต้องอยู่อย่างทุพพลภาพยาวนานขึ้น โดยเพศหญิงต้องอยู่อย่างทุพพลภาพนานกว่าเพศชาย (8.3 และ 5.5 ปี ในปี 2562)

ผลการศึกษาวิจัยภาระโรคมี 3 อันดับแรกที่ทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะ คือ อุบัติเหตุทางท้องถนน เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 20 ของการสูญเสียทั้งหมด การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการอยู่อย่างทุพพลภาพ มากกว่าร้อยละ 60 เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไปมีความสูญเสียมากกว่าร้อยละ 68 จากการสูญเสียทั้งหมด

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรค (Burden of Disease: BOD) มาตั้งแต่ พ.ศ.2554 ข้อมูลภาระโรค ถูกนำไปชี้สถานการณ์ความสำคัญปัญหาสุขภาพ และควบคุมป้องกันปัญหาสุขภาพของประเทศได้อย่างถูกต้อง ตรงตามหลักวิชาการ อีกทั้งเป็นข้อมูลสำคัญในการใช้ประเมินเทคโนโลยี และผลกระทบจากนโยบาย และมาตรการทางสุขภาพต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไมคนเราจึงมีสถานะสุขภาพที่แตกต่างกัน ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ 1.สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม 40% (การศึกษา สถานะงาน ครอบครัว รายได้ ชุมชน) 2.พฤติกรรมวิถีชีวิต 30% (การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การออกกำลังกาย พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์) 3.Health Care 20 4.PhysicalEnveironment 10% ดังนั้นสุขภาพระดับบุคคลไม่ใช่ภาวะที่คงที่ แต่เป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตตลอดเวลา

แนวโน้มอายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาวะของประชากรไทย โดยเฉลี่ยทุกๆ 5 ปี LE เพิ่มขึ้น 1 ปี และ HALE เพิ่มขึ้น 1-2 ปี คุณภาพชีวิตประชากรดีขึ้นเมื่อในอนาคตสองค่านี้ลดลง การสูญเสียปีสุขภาวะจากการตายก่อนวัยอันควร (YLL) อันดับ 1 โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 2 อุบัติเหตุ 3 โรค HIV/AIDS (ปี 2557) เมื่อเทียบปี 2554 อันดับ 1 และ 2 เหมือนเดิม ส่วนอันดับ 3 โรคหัวใจขาดเลือดเป็นที่สังเกตว่าคนไทยตายเกือบ 4 แสนคน/ปี 76%ของการตายทั้งหมด ครึ่งหนึ่งตายก่อนวัยอันควร ความสูญเสีย 2.2% ของ GDP/ปี (โรคที่เสียชีวิตโรคหัวใจและหลอดเลือด 29% การคลอดผิดปกติ ปัญหาโภชนาการ 18% โรคมะเร็ง 17% โรคไม่ติดต่ออื่นๆ 12% บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 11% โรคระบบทางเดินหายใจ 9% โรคเบาหวาน 4%) ปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เกิดโรค NCDs คือ พฤติกรรมการบริโภค การสูบบุหรี่ สภาพแวดล้อมเป็นพิษ การดื่มสุรา พฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตเนือยนิ่งนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ

ความเสี่ยงทางสุขภาพทำให้คนไทยป่วยเป็นโรค NCDs คนไทยบริโภคน้ำตาล 27 ช้อนชา/วัน มากกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 5 เท่า (หวานพอดีที่ 4 กรัม) 1 ใน 4 ของคนไทยมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ คนไทยได้รับโซเดียม 4,351 มิลลิกรัม/วัน มากกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 2 เท่า

คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า 2 หมื่นคน/ปี หรือ 60 คน/วัน ปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน 95.5% เกิดจากคน 27.6% ถนนและสิ่งแวดล้อม 21.5% ปัญหายานพาหนะ ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น พฤติกรรมเสี่ยงหลักคือ 1ความเร็ว 2 การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย 3 หลับใน 4 ดื่มแล้วขับ และสภาพถนนอันตรายข้างทาง

“ปัจจุบัน สสส.มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาดัชนีภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เพื่อสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพตาม 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพนักวิจัยด้านการศึกษาภาระทางสุขภาพ 2.การพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่าย และ 3.การสื่อสารเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนเชิงนโยบาย” ดร.ณัฐพันธุ์กล่าว

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานกรรมการกำกับทิศแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีผู้เชี่ยวชาญสนใจในการทำผลการศึกษาภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากร การนำเครื่องมือวัดปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บของประชากร (Disability-adjusted Life Years: DALY) มาใช้ในการวัดสถานะสุขภาพของประชากรไทยแบบองค์รวม จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดทิศทางของนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ เพราะมีความครอบคลุมถึงการมีชีวิตอยู่อย่างบกพร่องหรือพิการ และการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้สามารถเปรียบเทียบขนาดของปัญหาสุขภาพ ที่มีความสำคัญของประชากรได้ในหน่วยเดียวกัน และยังคาดประมาณมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการตายและความพิการได้อีกด้วย

ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าคณะทำงานศึกษาภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ. 2562 กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีแนวโน้มอายุเพิ่มขึ้น เพศชายจาก 70.5 ปี เป็น 71.7 ปี เพศหญิงจาก 77.3 ปี เป็น 79.4 ปี ส่วน 3 อันดับแรกที่ทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะ คือ อุบัติเหตุทางท้องถนน เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง คิดเป็น 20% ของการสูญเสียทั้งหมด ปัจจุบันกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและอยู่อย่างทุพพลภาพมากกว่า 60% ยังคงเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ความสูญเสียที่สามารถป้องกันได้สูงสุด หากปรับเปลี่ยนความเสี่ยงในระดับต่ำสุดทางทฤษฎีคือ บุหรี่ รองลงมาคือระดับน้ำตาลสูง ความดันโลหิตสูง แอลกอฮอล์และอาหาร

“ปัจจัยเสี่ยงคนไทยตายก่อนวัยอันควรอันดับ 1 บุหรี่ เกิดจากการสูบบุหรี่/ยาสูบ และการได้ควันบุหรี่มือสอง อันดับ 2 ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อันดับ 3 ระดับความดันโลหิตสูง เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อันดับ 4 การดื่มแอลกอฮอล์ เชื่อมโยงกับอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแอลกอฮอล์ ที่จัดเป็นการสูญเสียอันดับ 1 ในเพศชาย อันดับ 5 การบริโภคอาหารที่ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม ซึ่งหากสามารถลดปัจจัยเสี่ยงทั้ง 5 อันดับแรกลงได้ จะช่วยลดการสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควร และการอยู่อย่างทุพพลภาพที่เป็นภาระของคนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับได้ถึง 8-18% ของการสูญเสียทั้งหมด โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมกันวางแนวทางมาตรการต่างๆ เพื่อลดการสูญเสียปีสุขภาวะ คือ ปีที่มีสุขภาพดีของคนไทย” ทพญ.กนิษฐากล่าว.

ขอบคุณ... https://www.thaipost.net/public-relations-news/304311/

ที่มา: thaipost.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 17 ม.ค.66
วันที่โพสต์: 17/01/2566 เวลา 10:38:45 ดูภาพสไลด์โชว์ ชายไทยเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุตายก่อนวัยมากที่สุด คนไทยกินหวานเกิน 5 เท่า