ถุงผ้าจากปลายพู่กัน ชีวิตต้องสู้ของ “น้องป๊อป” สาวอัมพาตทั้งตัวที่ต้องหาเลี้ยงยายและน้อง

ถุงผ้าจากปลายพู่กัน ชีวิตต้องสู้ของ “น้องป๊อป” สาวอัมพาตทั้งตัวที่ต้องหาเลี้ยงยายและน้อง

ถุงผ้าระบายสีน้ำ คงเป็นสินค้าทั่วๆ ไปสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับคนที่เป็นอัมพาตทั้งตัว ขยับได้แค่ส่วนคออย่าง น้องป๊อป – ฐิตินันท์ บุญแก้ว หญิงสาววัย 19 ปี คนนี้ มันคืออาชีพเพียงหนึ่งเดียวที่เธอจะหาเลี้ยงยาย และน้องๆ 2 คนได้ รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของการเห็นคุณค่าในตัวเอง และการยังมีชีวิตอยู่

ชีวิตที่ไม่หยุดพลิกผัน

ในอดีตน้องป๊อบก็เหมือนเด็กอีกหลายๆ คน ที่พ่อแม่นำมาฝากเลี้ยงไว้กับยาย แล้วคอยส่งเงินมาให้ไม่ขาด แต่เมื่อเธออายุได้ 5 ขวบ ความพลิกผันครั้งแรกก็เกิดขึ้น เมื่อพ่อแม่แยกทางกัน เงินที่ส่งมาจากแม่เพียงอย่างเดียวก็ลดลง ทำให้เธอต้องออกไปช่วยยายทำงานรับจ้างเก็บถั่ว เก็บข้าวโพดในวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เพื่อหารายได้เพิ่ม

และไม่นาน ความพลิกผันครั้งที่ 2 ก็ตามมา เมื่อเธออายุได้ 7 ขวบ แม่ก็นำน้องสาวที่เกิดจากสามีใหม่ของแม่ มาฝากให้ตายายเลี้ยง ก่อนที่จะนำน้องมาฝากเลี้ยงอีกในปีถัดไป ทำให้ยายก็ต้องหยุดทำงานรับจ้างทั่วไป มาดูแลน้องที่ยังเล็ก เหลือแค่เธอกับตาที่ต้องช่วยกันหาเงินเลี้ยงครอบครัว ส่วนยายต้องรอจนน้องทั้ง 2 คน โตพอเข้าโรงเรียน ถึงจะกลับไปทำงานรับจ้างได้

ความพลิกผันครั้งถัดมา คือ ตอนเธอเข้าม.1 ตาก็ประสบอุบัติเหตุ มอเตอร์ไซค์ชนกับมอเตอร์ไซค์อย่างรุนแรง จนสมองกระทบกระเทือนอย่างหนัก ทำให้บางทีตามีอาการเหม่อลอย ไม่สามารถทำงานได้ปกติ ที่บ้านเลยขาดรายได้หลักจากตา เหลือยายทำงานอยู่คนเดียว นั่นจึงเป็นแรงกระตุ้นให้เธอออกจากบ้านที่พิจิตร ไปหางานทำไกลถึงนครปฐม และเจอความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

“ทุกปิดเทอม หนูจะไปช่วยงานแม่ที่โรงงานร่ม มัดเสื้อกันฝน ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท แต่ช่วงปิดเทอม ม.2 หนูขี่มอเตอร์ไซค์จะไปซื้อน้ำที่ฝั่งตรงข้าม ระหว่างข้ามถนน รถคันแรกเบรกให้แล้ว แต่รถคันที่สองแซงขึ้นมาอย่างเร็ว เลยชนหนูกระเด็น หลังไปกระแทกกับขอนไม้ พยายามลุกก็ลุกไม่ขึ้น แม่เลยพาส่งโรงพยาบาล หมอให้เอ็กซเรย์ เอามือจิ้มที่ขา ถามว่ารู้สึกอะไรไหม แต่หนูไม่รู้สึกอะไรเลย มันชาๆ ตอนนั้นรักษาอยู่ได้ประมาณเดือนหนึ่ง แม่ไม่มีตังค์จ่ายค่ารักษา เลยต้องส่งตัวกลับไปที่พิจิตร”

ระหว่างนั้นป๊อบก็ยังขยับตัวไม่ได้ แต่คิดว่าเดี๋ยวก็หาย แต่ท้ายที่สุดแล้ว เธอก็แอบได้ยินผู้ใหญ่คุยกันว่า ตัวเองจะไม่มีวันหายเป็นปกติ เพราะไขสันหลังอักเสบ และกระดูกคอทับเส้นประสาท ทำให้กลายเป็นอัมพาตทั้งตัว ขยับได้แค่คอ ซึ่งตอนกลับมาอยู่บ้าน เธอต้องใส่อุปกรณ์พยุงคอ สายรัดข้อมือ ข้อเท้า และท่อสำหรับปัสสาวะ และมียายคอยดูแลตลอด ทั้งป้อนข้าว อาบน้ำ ยายเลยไปทำงานไม่ได้อีก ทำให้รายได้ของบ้าน มีเพียงเงินจากแม่ที่ส่งมาให้ รวมกับเบี้ยเลี้ยงคนชรา และเบี้ยเลี้ยงคนพิการเท่านั้น

“ตอนนั้นช็อก และเสียใจมาก สงสารยาย หนูร้องไห้ตลอด ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดว่าถ้าตัวเองตายไป ครอบครัวคงจะดีขึ้น จนหมอที่ดูแลให้พบจิตแพทย์ และกินยารักษา ก็ทำให้เครียดน้อยลง” เธอบอกเล่าถึงความเจ็บปวดในอดีต

ถุงผ้าจากปลายพู่กัน ชีวิตต้องสู้ของ “น้องป๊อป” สาวอัมพาตทั้งตัวที่ต้องหาเลี้ยงยายและน้อง

จากคนที่มองว่าตัวเองเป็นภาระ สู่เสาหลักของบ้าน

เมื่อถามว่าไปจากคนที่ท้อแท้กับชีวิตในวันนั้น กลายมาเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ดูแลทั้งยายและน้องๆ ได้อย่างไร เธอก็เล่าย้อนไปถึงตอนที่ได้เรียนหนังสือกับครูสอนคนพิการในจังหวัด ซึ่งตอนแรกเธอก็คิดว่าคงทำอะไรไม่ได้ เพราะขยับตัวไม่ได้เลย แต่ครูคอยให้กำลังใจ จนเธอสามารถค้นพบความสามารถหนึ่งของตัวเองได้ นั่นคือ การระบายสีถุงผ้า ด้วยสีน้ำ

“ตอนแรกใช้สีไม้ แต่มันฝืด ก็จะเจ็บปาก บางทีปากก็เป็นแผล แต่สีน้ำมันลื่นกว่า ก็เลยทำได้ พอทำได้ก็เริ่มคิดว่าอยากมีรายได้เหมือนคุณครูที่ระบายสีกระเป๋าขายอยู่แล้ว เลยขอให้ครูสั่งกระเป๋าผ้าจากในเน็ตมา เพื่อระบายสี แล้วโพสต์ขายในเน็ต ก็มีคนมาอุดหนุนบ้าง แต่ได้กำไรไม่เยอะ เพราะต้นทุนสูง หนูได้ชิ้นละ 6 บาท”

ระหว่างที่ขายถุงผ้ามาได้ 1 ปี แม่ก็ตรวจเจอว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ทำให้ไม่สามารถทำงานหนักได้ และส่งเงินมาให้ไม่ได้อีกแล้ว ป๊อปจึงกลายเป็นรายได้หลักเดียวของบ้านไปโดยปริยาย

เท่านั้นยังไม่พอ เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่นาน ตาที่มีอาการทางสมองกำเริบหนักขึ้น เริ่มพังข้าวของในบ้าน อาละวาด จนยายกลัวว่าทำร้ายหลาน เลยพากันหนีไปอยู่ศาลากลางหมู่บ้าน ซึ่งมีผนังด้านเดียว ไฟหนึ่งดวง และหลังคากระเบื้องแตก กันแดดกันฝนแทบไม่ได้

แต่ป๊อบในวัย 17 ปีก็ไม่ได้ท้อแท้อีกต่อไปแล้ว เพราะเธอกลับยิ่งรู้สึกว่าต้องดูแลน้องกับยายให้อยู่สบายกว่านี้ จึงไม่เคยหยุดระบายสีถุงผ้าขาย จนกลายเป็นข่าว มีคนมาอุดหนุนเยอะขึ้น และสามารถเก็บเงินต่อเติมบ้านได้ก้อนหนึ่ง

ปัจจุบัน ตาได้ไปรักษากับจิตแพทย์แล้ว ส่วนเธอ ยาย และน้องๆ ก็ได้กลับไปอยู่บ้านเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมีลุงย้ายกลับมาอยู่ด้วย โดยอาชีพระบายสีถุงผ้าขายก็ยังคงทำอยู่ แต่รายได้น้อยลง เพราะมีคนมาอุดหนุนกระเป๋าน้อยลง ส่วนรายได้ของลุงก็เฉลี่ยแค่วันละ 300 บาท ทำให้บางวันครอบครัวยังต้องอยู่กันแบบอดอยาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เพราะตอนนี้ป๊อปกายภาพบำบัดจนสามารถยกแขนขวาได้นิดหน่อย ยังขยับข้อมือกับนิ้วไม่ได้ แต่เริ่มกินข้าวเองได้แล้ว

“หนูจะทำอาชีพนี้ต่อไป และจะพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะอยากเก็บเงินซื้อเครื่องปรินต์ลายบนถุงผ้าเอง เพื่อลดต้นทุน ไม่ต้องซื้อจากคนอื่น แล้วก็ต่อเติมบ้านให้ยายกับน้องๆ ได้นอนสบายขึ้น อยากให้น้องๆ ได้อยู่ดี กินดี เรียนสูงๆ” ป๊อบบอกทิ้งท้าย

“เมื่อไม่ได้เกิดมาพร้อมความสมบูรณ์แบบ และโชคชะตายังพลิกผันหลายครั้ง คนที่เคยท้อแท้ จึงลุกขึ้นสู้อีกครั้ง เพื่อให้ครอบครัวได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นี่คือเรื่องราวของป๊อบ หญิงสาววัย 19 ปี ที่อยากเป็นพลังให้หลายคนเดินหน้าต่อไป

ติดตามชมเรื่องราวของเธอ พร้อมให้กำลังใจว่าความฝันที่เธอวาดไว้จะสำเร็จได้ไหม ในรายการปัญญาปันสุข 2023

ขอบคุณ... https://workpointtoday.com/panyapunsook-2023-ep09/

ที่มา: workpointtoday.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 7 มี.ค.66
วันที่โพสต์: 7/03/2566 เวลา 10:52:54 ดูภาพสไลด์โชว์ ถุงผ้าจากปลายพู่กัน ชีวิตต้องสู้ของ “น้องป๊อป” สาวอัมพาตทั้งตัวที่ต้องหาเลี้ยงยายและน้อง