‘เพื่อผู้เปราะบาง’ หายท้อ-หายทุกข์ ‘วิถีซ่อมสร้างสุข..ฟื้นฟูชีวิต’ ปิดช่องว่าง-เปิด ‘พื้นที่แห่งโอกาส’

‘เพื่อผู้เปราะบาง’ หายท้อ-หายทุกข์ ‘วิถีซ่อมสร้างสุข..ฟื้นฟูชีวิต’ ปิดช่องว่าง-เปิด ‘พื้นที่แห่งโอกาส’

อุปสรรคใหญ่ของ “กลุ่มเปราะบาง” อย่าง “ผู้พิการ-ผู้สูงอายุ” หนีไม่พ้น “ข้อจำกัดในชีวิต” เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักจะ “ต้องพึ่งพิงผู้อื่น” เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นอกจากนั้นคนกลุ่มนี้ยังประสบปัญหาด้านการเงิน เพราะไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพได้เหมือนคนทั่วไป จึงทำให้ผู้เปราะบางเหล่านี้เผชิญกับ “ความทุกข์ในชีวิต”

อุปสรรคใหญ่ของ “กลุ่มเปราะบาง” อย่าง “ผู้พิการ-ผู้สูงอายุ” หนีไม่พ้น “ข้อจำกัดในชีวิต” เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักจะ “ต้องพึ่งพิงผู้อื่น” เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นอกจากนั้นคนกลุ่มนี้ยังประสบปัญหาด้านการเงิน เพราะไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพได้เหมือนคนทั่วไป จึงทำให้ผู้เปราะบางเหล่านี้เผชิญกับ “ความทุกข์ในชีวิต” ที่จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือ ทั้งจากครอบครัว ชุมชน และสังคม อย่างไรก็ตาม จากกรณีปัญหาดังกล่าว เรื่องนี้กรณีนี้ก็ได้มีความพยายามที่จะช่วยเหลือด้วยการ “ปิดช่องว่าง” ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อ “สร้างพื้นที่แห่งโอกาส” ให้กับผู้เปราะบางเหล่านี้ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไป “ถอดรหัสกลไกช่วยเหลือผู้เปราะบาง” ที่ว่านี้ ซึ่งจะเป็นอย่างไรบ้างนั้นลองมาติดตามกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีโอกาสติดตามคณะผู้บริหาร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.พร้อมด้วย นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการและ นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษากลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ ที่ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของ “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลา” โดยมี นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 12 สงขลา นำคณะเยี่ยมชม

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หรือ อบจ.สงขลา โดยกองทุนดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการ ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือชุมชนที่มีกลุ่มผู้เปราะบางซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ ดูแลในเรื่องของสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการ ส่งเสริมเรื่องของทักษะทางอาชีพ ที่พบว่าเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญของผู้เปราะบางเหล่านี้ จนทำให้ในหลาย ๆ ครั้งคนกลุ่มนี้ต้องขาดโอกาส-ต้องขาดรายได้ แต่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร หรืออาศัยกลไกใดเพื่อให้ความช่วยเหลือ ทำให้รู้สึกทุกข์ทรมานและทดท้อในชีวิต ซึ่งจากกรณีปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้เปราะบาง ทางจังหวัดได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เปราะบางเหล่านี้ โดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. ผ่านกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานต่าง ๆ

รวมถึงการก่อตั้ง “ศูนย์ซ่อมสร้างสุขเพื่อคนพิการ” และ “ศูนย์สร้างสุขเพื่อผู้สูงอายุ” ขึ้น เพื่อ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้พิการและผู้สูงอายุให้ดีขึ้น

ส่วนจะใช้งานได้ดีแค่ไหน? ชุมชนได้ประโยชน์มากเท่าใด? กรณีนี้ต้องมาฟัง “เสียงสะท้อน” กันดู เริ่มจาก ไพเจน มากสุวรรณ์ นายก อบจ. สงขลา ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบกับภารกิจนี้ ที่เล่าว่า กองทุนฟื้นฟูฯ ที่เกิดขึ้น ได้มีการทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ได้แก่… “ศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน” เพื่อที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยเหลือความพิการต่าง ๆ ให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการให้บริการต่าง ๆ อาทิ การซ่อมบำรุง การยืม-คืนอุปกรณ์ รวมถึงรับบริจาค ซึ่งศูนย์นี้จะทำงานร่วมกับ 14 องค์กรภาคีเครือข่าย โดยที่ปัจจุบันนี้มีทั้งหมด 3 แห่งที่ได้ดำเนินการแล้ว คือที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ที่วิทยาลัยการอาชีพนาทวีที่เทศบาลเมืองสะเดา และมีอีกแห่งที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

“ศูนย์สร้างสุขชุมชน” หรืออีกชื่อคือ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ ได้มีการตั้งศูนย์นี้ใน 16 อำเภอ รวม 19 แห่ง ขณะนี้ได้เปิดให้บริการไปแล้ว 11 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการจัดสร้างอีก 8 แห่ง ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะมีบริการทำกายภาพ การนวด การฝึกเดิน ทั้งยังมีบริการให้ยืมอุปกรณ์นำกลับไปใช้หรือฝึกได้อีกด้วย

สุดท้ายคือ “โครงการบ้านสร้างสุขชุมชน” ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือในเรื่องของการปรับสภาพบ้านหรือที่อยู่อาศัย เพื่อให้สะดวกกับการใช้ชีวิตของกลุ่มเปราะบาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น …นี่เป็นที่มาและรายละเอียดของ “กิจกรรมช่วยผู้เปราะบาง” ในพื้นที่นี้ ซึ่งทางนายก อบจ.สงขลา ได้ให้ข้อมูลไว้

ขณะที่ เอก ขวัญพรหม ในฐานะผู้จัดการศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน ประจำวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ได้เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า ฝันอยากทำงานจิตอาสามานานแล้ว แต่ไม่มีเวลา ภายหลังเกษียณอายุราชการ ก็เดินหน้าสานความฝันการเป็นจิตอาสาทันที โดยเริ่มจากไปเป็นไวยาวัจกรวัด อีกทั้งยังใช้เวลาว่างที่มีไปเรียนวิชาสารพัดช่างต่าง ๆ โดยนำทักษะความรู้ที่ได้เรียนมาใช้เปิดร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าบริการในราคาถูกให้กับชาวบ้าน โดยไม่ได้หวังกำรี้กำไร แต่ทำเพื่อแก้เหงา จากนั้นจึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน จนต่อมาได้ทราบจากกรุ๊ปไลน์เพื่อนช่วยเพื่อนว่ามีการขออาสาสมัครเพื่อมาทำหน้าที่เป็นช่างประจำศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชนที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ก็เลยอาสามาทำงานภารกิจนี้ทันที ซึ่งศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชนแห่งนี้เปิดได้ประมาณ 3 ปีแล้ว โดยจะดูแลเกี่ยวกับการซ่อมกายอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น วีลแชร์, เตียงนอน, เบาะรองนั่ง, เบาะรองนอน นอกจากนั้นก็มีงานซ่อมบำรุงนอกสถานที่ อาทิ ไปซ่อมอุปกรณ์ให้ถึงที่บ้านผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง ให้แบบฟรี ๆ ซึ่งที่ผ่านมางานบริการที่ทำอยู่ทั้งหมดของศูนย์นี้จะอยู่ที่เดือนละประมาณ 40-50 เคส ที่จะแตกต่างกันไปหลาย ๆ ระดับตามความยากง่าย

“พอสมัครรับภารกิจนี้ ทาง อบจ.สงขลา ก็แต่งตั้งให้ผมเป็นผู้จัดการของศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน โดยทำหน้าที่ดูแลช่าง และสอนงานคนอื่น ตลอดจนจัดทำรายงานการทำงานของช่างแต่ละคน ซึ่งงานทั้งหลายทั้งปวงที่ทำนี้ ผมไม่ได้รับค่าแรงใด ๆ นะครับ มาด้วยใจล้วน ๆ ไม่ได้เงิน แถมมีแต่เสียเงินด้วย (หัวเราะ) เช่น บางทีเบาะคนพิการขาดเราก็ซ่อมให้เขาฟรี ๆ บางทีแฟนก็มีบ่นบ้างว่าทำไมผมต้องไปทำงานทุกวัน ผมก็บอกภรรยาว่าเป็นความตั้งใจ ทำแล้วสบายใจ ถือเป็นความสุขใจในบั้นปลายของชีวิต ภรรยาเขาก็เลยยอมปล่อยให้ผมมาทำงานนี้ และที่ภูมิใจที่สุด นอกจากได้ช่วยเหลือคนเปราะบางแล้ว คือการที่ตัวผมได้สอนวิชาความรู้ทางอาชีพให้กับคนกลุ่มนี้ แล้วเขาสามารถนำไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงดูแลตัวเองได้” เอก ผจก.ศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชนคนเดิม บอกเล่าเรื่องนี้ พร้อมรอยยิ้มอย่างมีความสุข

ขณะที่ สมพงษ์ อุทัยแจ่ม ช่างประจำศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ซึ่งก็เป็นผู้พิการ ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาของความพิการของตัวเขาว่า เกิดจากอุบัติเหตุขณะทำงาน โดยเดิมทีเขามีอาชีพเป็นช่างไฟฟ้า ซึ่งขณะที่กำลังเดินสายไฟแรงสูงปรากฏเขาถูกไฟช็อตจนหมดสติตกลงมาจากเสาไฟ ภายหลังฟื้นขึ้นมาพบว่าเขากระดูกสันหลังหัก ซึ่งหลังผ่าตัดและนอนดูอาการอยู่ที่โรงพยาบาล 6 เดือน ก็กลับมาพักฟื้นที่บ้านต่ออีก 1 ปี โดยเขาเผยความรู้สึกเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องกลายเป็นคนพิการว่า ช่วงแรกท้อแท้ชีวิตมาก และเอาแต่หมกตัวอยู่ภายในบ้าน ไม่ยอมออกไปไหน เพราะรู้สึกอายที่ต้องพิการ โชคดีที่ได้กำลังใจที่ดีจากครอบครัว ที่คอยพูดและเอาใจใส่ทุกอย่าง แต่ก็สลัดความคิดท้อแท้ไม่ได้ เพราะจากที่เป็นผู้นำครอบครัวหาเลี้ยงดูคนอื่น ก็ต้องมาพึ่งพิงคนอื่นในทุก ๆ เรื่อง จึงตัดสินใจว่าจะพยายามปรับตัวให้ได้ โดยเริ่มจากการช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด จากนั้นก็วางแผนที่จะไปเรียนอาชีพที่โรงเรียนพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี โดยหวังว่าจะนำความรู้และทักษะที่ได้เรียนมาใช้ประกอบอาชีพช่วยเหลือครอบครัว

“ผมไปสอบคัดเลือกเพื่อประเมินวุฒิ ก็สอบได้ จนได้เข้าเรียนที่นั่น หลังเรียนจบก็ได้ไปทำงานที่ศูนย์เพาเวอร์บาย แต่ทำได้ระยะหนึ่งก็ตัดสินใจลาออกมาอยู่บ้าน เนื่องจากมีภาวะแผลกดทับติดเชื้อเรื้อรัง (ติดเชื้อในกระดูก) จนทำให้ทำงานไมไหว” เขาเล่าให้ฟังเรื่องนี้ พร้อมบอกอีกว่า หลังต้องลาออกจากงานเดิมที่ทำอยู่ เพราะภาวะเจ็บป่วยจากแผลกดทับ ตอนนั้นเขาต้องพักฟื้นอยู่ประมาณปีกว่า ๆ จนต่อมาถูกชวนให้มาทำงานที่ศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ โดยตอนแรกเป็นพนักงานคีย์ข้อมูลเข้าระบบ ต่อมาก็ได้ช่วยงานข้างนอก โดยเป็น “สารพัดช่าง” ให้กับทางศูนย์ฯ “ตอนนี้ผมทำเป็นหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ซ่อมรถเข็น โมดิฟายรถเข็นใหม่ นอกจากนี้ก็ยังเป็นช่างเย็บได้สารพัดอย่าง เช่น เย็บเบาะ เย็บผ้า เย็บหนัง หรือเย็บถุงน้ำยาล้างไตทำเป็นเบาะลมสำหรับผู้ป่วยติดเตียงใช้นอนป้องกันแผลกดทับ”

สมพงษ์ ระบุ

ทั้งนี้ สมพงษ์ ตัวแทนของ “ศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน” ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลา ของ สปสช. บอก “ทีมวิถีชีวิต” ว่า “แม้เงินเดือนตรงจุดนี้ที่ได้รับนั้น อาจจะดูน้อยมากกว่าตอนทำงานที่เก่า แต่งานนี้ทำแล้วกลับให้ความสุขใจกับเราได้มากกว่า เพราะได้ทำงานอยู่ใกล้ ๆ บ้าน ทำให้ได้อยู่ใกล้ ๆ กับครอบครัว ที่สำคัญการได้กลับมาทำงานมีรายได้อีกครั้ง ทำให้ชีวิตที่เคยสิ้นหวังไปแล้วนั้น…

กลับมามีพลังสู้ชีวิตอีกครั้ง”

‘พลังชุมชน’ กลไก ‘ซ่อมสร้างสุข’

“กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด นับเป็นอีกกลไกสำคัญในการช่วยฟื้นฟูดูแลสุขภาพของคนไทย โดยกลไกดังกล่าวจะดำเนินการร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล ซึ่งทาง สปสช. ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ อบจ. 58 แห่งทั่วประเทศ เพื่อตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ละจังหวัดขึ้นมา” …นี่เป็นหลักใหญ่ใจความจากการระบุของ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. โดยในส่วนของพื้นที่สงขลา ที่ดำเนินงานภายใต้ อบจ.สงขลา ทาง นพ.จเด็จ บอกว่าเป็นอีกพื้นที่ที่โดดเด่น ทั้งการดำเนินภารกิจตามวัตถุประสงค์กองทุนฟื้นฟูฯ และความโดดเด่นในการแสวงหาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย จนทำให้พื้นที่นี้สามารถบูรณาการการดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในทุก ๆ มิติ

“ที่สงขลาได้ตั้งศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชนไปแล้ว 3 แห่ง โดยให้บริการแก่ผู้เปราะบาง ซ่อมบำรุงและยืม-รับคืนกายอุปกรณ์ นอกจากนี้ยังได้มีการตั้งธนาคารสร้างสุขชุมชนในโรงพยาบาล 17 แห่งทั่ว จ.สงขลา โดยกลไกนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุ ให้เกิดความสะดวกในการเข้ายืมหรือคืนกายอุปกรณ์ ส่วนการดำเนินงานอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็คือ การจัดตั้งศูนย์ผลิตสร้างสุขชุมชนเพื่อผลิตกายอุปกรณ์กับเครื่องช่วยความพิการอื่น ๆ ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ตรงกับความต้องการใช้งานจริง ๆ ของกลุ่มผู้เปราะบางในพื้นที่ ตลอดจนมีโครงการบ้านสร้างสุขชุมชน เพื่อปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นจะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่พักให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตอีกด้วย” …เลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลทิ้งท้าย

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/articles/1451489/

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 12 ก.ย.65
วันที่โพสต์: 12/09/2565 เวลา 10:28:33 ดูภาพสไลด์โชว์ ‘เพื่อผู้เปราะบาง’ หายท้อ-หายทุกข์ ‘วิถีซ่อมสร้างสุข..ฟื้นฟูชีวิต’ ปิดช่องว่าง-เปิด ‘พื้นที่แห่งโอกาส’