ไทยเตรียมลงนามหนุนเพศแม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน

ไทยเตรียมลงนามหนุนเพศแม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน

อาเซียนส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค รัฐบาลเห็นชอบความร่วมมือเตรียมลงนามในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

10 ส.ค.2565 – น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ซึ่ง ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาว่าด้วยการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และยืดหยุ่นในการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 11 ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาในเดือน พ.ย.นี้

สำหรับร่างปฏิญญาฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีในภูมิภาคอาเซียน อาทิ 1.ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีและเด็กผู้หญิง 2.ส่งเสริมพลังทางเศรษฐกิจของสตรีและการพัฒนาผู้ประกอบการสตรีในอาเซียน โดยการสร้างระบบและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออานวยต่อการสร้างศักยภาพ เสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และศักยภาพของผู้ประกอบการสตรีในภูมิภาค 3.เน้นย้ำถึงความสำคัญของสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยประกันสิทธิและการเข้าถึงของสตรีในด้านการศึกษาและฝึกอบรม การเป็นผู้นำ บริการสุขภาพและบริการด้านการเงินอย่างเท่าเทียม และ 4.การสร้างความยั่งยืนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้ประกอบการสตรีที่ต้องการความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการสตรีในภูมิภาค

อาทิ 1. กำหนดอุปสรรคเชิงสถาบันและเชิงโครงสร้างที่สตรีต้องเผชิญ โดยเฉพาะสตรีพิการและสตรีที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางในการจะเป็นผู้ประกอบการ และการเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจในวงกว้าง

2. เสริมสร้างนโยบายและกรอบกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสตรี เช่น บริการด้านการเงินและแหล่งทุน การเข้าถึงตลาดทั้งสาธารณะและเอกชน รวมถึงตลาดออนไลน์

3. ส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่สตรีเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้นำธุรกิจ ช่วยสร้างโอกาสในการจ้างงาน การลงทุนในธุรกิจ หรือการลงทุนในองค์กรที่เสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ปรับปรุงพัฒนาชีวิตของสตรี

4. ส่งเสริมมาตรการให้สตรีปรับตัว รับมือ และฟื้นตัวจากวิกฤตโรคโควิด-19 สนับสนุนให้สตรีเริ่มต้นธุรกิจใหม่และหลากหลาย เพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

5. เก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์แบบเพศภาวะ สร้างแผนปฏิบัติการ และการติดตามความก้าวหน้าของธุรกิจที่มีสตรีเป็นเจ้าของและสตรีผู้นำ

6. ส่งเสริมแนวทางที่ตอบสนองทางเพศภาวะ ซึ่งจะครอบคลุมบทบาทของผู้ประกอบการสตรีเพื่อความก้าวหน้าในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะสตรีพิการและสตรีที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางในการช่วยเหลือทางวิชาการ การพัฒนาศักยภาพทั้งในกิจกรรมฝึกอาชีพ บริการด้านการค้าและการเงิน และการสนับสนุนทางการตลาดและการเปิดโอการฝึกอบรมด้านดิจิทัล

และ 7. ตระหนักและให้คุณค่างานการดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง และงานในครัวเรือนของสตรี โดยมีนโยบายการคุ้มครองทางสังคมและโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมความรับผิดชอบร่วมกันและความสมดุลของชีวิตการทำงานภายในครัวเรือนและครอบครัว

ขอบคุณ... https://www.thaipost.net/economy-news/197396/

ที่มา: thaipost.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 10 ส.ค.65
วันที่โพสต์: 10/08/2565 เวลา 09:50:03 ดูภาพสไลด์โชว์ ไทยเตรียมลงนามหนุนเพศแม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน