รับมือ‘สังคมสูงอายุ’ วช.‘วิจัย-นวัตกรรม’สร้างคุณภาพชีวิต

รับมือ‘สังคมสูงอายุ’ วช.‘วิจัย-นวัตกรรม’สร้างคุณภาพชีวิต

รับมือ‘สังคมสูงอายุ’

วช.‘วิจัย-นวัตกรรม’สร้างคุณภาพชีวิต

ปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์”

โดยจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงขึ้นถึงร้อยละ 20 จากปี 2563 ที่มีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน จากจำนวนประชากรรวม 66.5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด

สังคมสูงวัยเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและผู้คนมีอายุยาวขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรในปัจจุบันมีผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าว เพื่อให้เกิดความพร้อมของคนทุกช่วงวัยเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณค่า พึ่งพาตนเองได้

น.ส.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช.เล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากการเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” จึงมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้กับสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้สังคมไทยที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสังคมคุณภาพ โดยมีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นต่างๆ ได้แก่

1.การเตรียมความพร้อมก่อนสูงวัย เช่น นวัตกรรมเพื่อการออมและการลงทุนสำหรับเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้เป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพด้านการเงิน มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และสามารถพึ่งพาตนเองได้

2.การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้สูงอายุที่ยัง Active ให้มีศักยภาพ และสามารถช่วยเหลือสังคมได้ เช่น การเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ที่สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจให้เข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในภาครัฐและภาคเอกชน

3.การเตรียมพร้อมของสังคม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ของคนทุกวัย เช่น การสร้างทัศนคติ กลไกที่เชื่อมต่อและมาตรการที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างพลังผู้สูงอายุ

4.การเตรียมความพร้อมด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น นวัตกรรม Smart Community ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการและการปรับปรุงบ้านให้กับผู้สูงอายุ เป็นต้น

5.สนับสนุนให้มีนวัตกรรมที่เหมาะสม ทั้งในด้านการช่วยเหลือ สนับสนุน ดูแลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิต โดยต้องเป็นนวัตกรรมที่ตรงตามความต้องการ มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้ (ราคา)

“นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ต้องมีการพัฒนามาจากโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน (ผู้สูงอายุและผู้พิการ) และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยต้องมีความเป็นไปได้ทางด้านเทคโนโลยี และผ่านการทดสอบมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุและคนพิการต้องสามารถเข้าถึงได้ทั้งด้านราคาและคุณภาพ และอาจสามารถนำไปขยายผลหรือสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ที่สำคัญต้องรองรับการใช้ชีวิตของประชากรสูงวัยที่ควรเป็น เช่น นวัตกรรมด้านการแพทย์ Telemedicine ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยได้แบบ Real-time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ VDO conference เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือนวัตกรรมที่ช่วยในการดูแลผู้สูงอายุ โดยสามารถช่วยลดภาระ ผ่อนแรงของผู้ดูแลผู้สูงอายุ และช่วยให้การดูแลผู้สูงอายุสามารถทำได้ง่ายขึ้น” น.ส.วิภารัตน์ระบุ

ขณะนี้ วช.มีงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ อาทิ นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงไฟฟ้าพร้อมแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือเพื่อควบคุมเตียงแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุติดเตียงได้รับการดูแลตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกในการป้องกันการเกิดแผลกดทับที่ต้องพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง และยังสามารถลดการทำงานของผู้ดูแลผู้ป่วยได้

นวัตกรรมด้านทันตกรรมผลิตภัณฑ์กลาสเซรามิกชนิดไมกาที่มีความทนทานและมีสีใกล้เคียงกับฟันจริง เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยสามารถเข้ารับการรักษาได้

นวัตกรรมที่ช่วยด้านการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ อย่างเก้าอี้ย้ายตัวจากเตียงเพื่อการขับถ่ายและอาบน้ำ และอุปกรณ์ย้ายตัวจากรถยนต์สู่รถเข็น

นวัตกรรมที่ช่วยให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ช่วยเหลือตนเองได้ เช่น มอเตอร์ไซค์สามล้อไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการทางการเคลื่อนไหว โดยใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน สามารถชาร์จไฟได้ที่บ้าน หรือสถานีชาร์จไฟฟ้า เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุและผู้พิการได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ยานพาหนะที่ทำให้สามารถเดินทางได้ตามความต้องการ เป็นต้น

“ผลงานบางส่วนเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีการนำไปทดลองในสถานที่จริงและมีการติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์จริง เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สมบูรณ์ อันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้สูงอายุและคนพิการ” น.ส.วิภารัตน์กล่าว

ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2984610

ที่มา: matichon.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 14 ต.ค.64
วันที่โพสต์: 14/10/2564 เวลา 11:28:07 ดูภาพสไลด์โชว์ รับมือ‘สังคมสูงอายุ’ วช.‘วิจัย-นวัตกรรม’สร้างคุณภาพชีวิต