‘โลกโกลาหล’ แต่ฉันพลัดหลงในความเงียบ ชะตากรรมของ ‘มนุษย์ตกสำรวจ’ ในวันที่ความสะดวกเป็นของ ‘คนปกติ’

‘โลกโกลาหล’ แต่ฉันพลัดหลงในความเงียบ ชะตากรรมของ ‘มนุษย์ตกสำรวจ’ ในวันที่ความสะดวกเป็นของ ‘คนปกติ’

ถ้าเป็นคุณ ... จะรู้สึกอย่างไร !!? หากต้องถูกกักขังอยู่ในตัวของคุณเอง

ไม่ได้ยินเสียงพูด อ่านหนังสือไม่ออก ขณะที่โลกภายนอกกำลังสุดโกลาหลจากวิกฤตโควิด-19

แน่นอน ใครก็รักชีวิต, ตัวคุณก็เช่นกัน แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อระบบถูกออกแบบมาเพื่อคนปกติเป็นส่วนใหญ่

การเข้าถึงบริการสุขภาพ การเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรค การเข้าถึงชุดตรวจต่างๆ ต้องใช้ “แอปพลิเคชัน”

“มีเพียงคนหูหนวกที่รู้หนังสือเท่านั้นที่จะเข้าถึงแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ ถ้าคนไหนไม่รู้หนังสือ ก็จะถูกตัดออกไป” นี่คือคำบอกเล่าของ “ครูส้ม” หรือ นางเกษร ใหม่ดี ครูจากศูนย์การศึกษาพิเศษ จ. กาญจนบุรี ซึ่งอีกบทบาทหนึ่งคือ “ล่ามภาษามือ”

“ครูส้ม” เล่าให้ “The Coverage” ฟังว่า การเข้าถึงการคัดกรอง-การเข้าถึงวัคซีน เป็นปัญหาใหญ่ในกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ว่ากันเฉพาะใน จ.กาญจนบุรี พบว่าผู้พิการทางการได้ยินราว 70% จะไม่รู้หนังสือ

ขณะที่การเข้ารับบริการจะต้องกรอกแบบฟอร์ม หรือใช้แอปพลิเคชันสมัคร ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาย่อม “ไม่เข้าใจ” และ “เข้าไม่ถึงบริการ” ในท้ายที่สุด

“ค่อนข้างยากที่คนหูหนวกจะเข้าถึงข้อมูลหรือแอปฯ ต่างๆ เหล่านี้ ทั้งหมดต้องใช้ล่ามเป็นคนทำให้”

หากไม่มีล่ามภาษามือคอยช่วยเหลือ เขาเหล่านั้นก็จะกลายเป็น “คนตกสำรวจ” โดยทันที

“ที่คนหูหนวกได้ฉีดวัคซีน ก็เพราะล่ามภาษามือช่วยประสาน ลงทะเบียน พาไปฉีด หากไม่มีล่ามภาษามือคอยช่วย ถึงวันนี้ผู้พิการที่ไม่รู้หนังสือในจังหวัดกาญฯ ก็คงจะยังไม่ได้ฉีดวัคซีน”

นอกจากนี้ การเข้าถึงข่าวสารต่างๆ ผ่านโทรทัศน์ก็ยังนับเป็นเรื่องยากสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน เนื่องจากรายการข่าวบางรายการไม่มีล่ามภาษามือ แม้บางรายการจะมีตัวหนังสือวิ่ง แต่ทว่าบางคนก็ยังไม่เข้าใจ

ฉะนั้น ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ รวมถึงสถานการณ์ปกติ การสื่อสารข่าวทางโทรทัศน์ควรจะมีล่ามทุกช่อง-ทุกรายการ แต่จะดีมากหากมีตัวหนังสือและล่ามภาษามือควบคู่กัน อย่างข่าวเรื่องการรับชุดตรวจฟรี คนกลุ่มนี้ก็เพิ่งจะรู้ได้ไม่นานว่ามีการแจกชุดตรวจโควิดฟรี

“มีคนหูหนวกใน จ.กาญจนบุรี ประมาณ 10% ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย” ครูส้ม ระบุ แต่ถือว่าสถานการณ์ยังค่อนข้างดี เพราะจนถึงขณะนี้ มีผู้พิการทางการได้ยินเพียงแค่รายเดียวเท่านั้นที่ติดเชื้อโควิด-19

ครูส้ม อธิบายต่อไปว่า ตามธรรมชาติของผู้พิการทางการได้ยินจะเป็นคนที่วิตกกังวล และหวาดระแวง ฉะนั้นเมื่อคนกลุ่มนี้ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางโควิด-19 ก็ค่อนข้างจะป้องกันตนเองอย่างดีมาก บวกกับการติดต่อสื่อสารที่ใช้ภาษามือเป็นหลัก จึงไม่มีการเปิดหน้ากากอนามัยคุยกัน นั่นทำให้โอกาสที่จะโดนสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย เป็นไปได้ยาก

สำหรับการขอรับบริการล่ามภาษามือของผู้พิการทางการได้ยิน ในส่วนของผู้ที่ไม่รู้หนังสือนั้น ส่วนมากจะไปขอรับบริการที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) รวมไปถึงสายด่วน 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ก็จะไม่ค่อยมีคนโทรมากนัก เนื่องจากยังจำเป็นต้องใช้คนหูดีเพื่อช่วยในการสื่อสาร ซึ่งก็เป็นเรื่องยากสำหรับคนกลุ่มนี้

ส่วนผู้ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรืออ่านหนังสือได้ ก็จะติดต่อไปที่โครงการศูนย์ถ่ายทอดและการสื่อสารสำหรับคนหูหนวก (TTRS) ของ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

ครูส้ม เสนอว่า อยากให้มีการจองล่ามภาษามือผ่านทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะจะทำให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถเข้าถึงล่ามภาษามือได้ง่าย เพราะคนที่อยู่ในอำเภอไกลๆ การจะจองล่ามต้องจองผ่าน พมจ. จังหวัด ซึ่งค่อนข้างลำบาก

อย่างไรก็ดีถ้าเปิดโอกาสให้ อบต. หรือ อปท. ท้องถิ่นสามารถขยายจุดบริการจองล่ามได้เยอะขึ้น และกระจายไปตามชุมชนได้ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการทางการได้ยินได้รับข่าวสารอย่างทั่วถึงมากกว่านี้

“ถ้าเขาไม่สามารถจองล่ามได้ เขาจะไม่ได้รับสิทธิอะไรทั้งนั้นในเรื่องของการใช้ชีวิต” ครูส้ม ย้ำ

ขอบคุณ... https://www.thecoverage.info/news/content/2411

ที่มา: thecoverage.info /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 26 ก.ย.64
วันที่โพสต์: 27/09/2564 เวลา 11:03:51 ดูภาพสไลด์โชว์ ‘โลกโกลาหล’ แต่ฉันพลัดหลงในความเงียบ ชะตากรรมของ ‘มนุษย์ตกสำรวจ’ ในวันที่ความสะดวกเป็นของ ‘คนปกติ’