หนุ่มพิการไม่ขอแพ้โชคชะตา ทนสู้ชีวิตสู่เจ้าของร้านทำทอง

หนุ่มพิการไม่ขอแพ้โชคชะตา ทนสู้ชีวิตสู่เจ้าของร้านทำทอง

“ช่างนัท” หนุ่มพิการใจสู้ ชีวิตเริ่มจากศูนย์สู่เจ้าของร้านทำทอง “ช่างนัทสุพรรณ” ร่างกายพิการแต่ไม่พิการใจ เพราะคนเราเลือกเกิดไม่ได้ สู้ อดทน มุมานะ ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตากว่าจะมาถึงวันนี้

คนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะทำชีวิตให้ดีได้ “นิยายชีวิต” สัปดาห์นี้ขอเสนอเรื่องราวของหนุ่มพิการใจสู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา นายสิวนัท แสงสำราญ หรือ ช่างนัท อายุ 32 ปี ชาวต.ท่าระหัด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งพิการโดยกำเนิด มือ เท้า กระดูกสันหลังผิดรูป สู้บากบั่นจากศูนย์สู่เจ้าของร้านทำทอง เลี่ยมพระ เครื่องประดับมูลค่าหลักล้าน ฝีมือขึ้นชื่อระดับต้นๆ ของเมืองสุพรรณบุรี

หนุ่มพิการไม่ขอแพ้โชคชะตา ทนสู้ชีวิตสู่เจ้าของร้านทำทอง

“ช่างนัท” เกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างลำบากมี พี่น้อง 3 คน โดยตัวเองเป็นลูกคนกลาง ตั้งแต่เด็กไม่ได้เรียนหนังสือและไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กคนอื่นๆ เคยถูกล้อถึงปมด้อยมาตั้งแต่เด็กแต่ไม่ท้อมีครอบครัวคอยเป็นกำลังใจให้สู้ชีวิต คิดและตั้งใจเสมอว่าต้องทำชีวิตให้ดีให้ได้ ไม่ว่าสภาพร่างกายจะเป็นยังไงแต่ใจต้องสู้ ใครจะดูถูกเราก็ปล่อยเขา แต่เราอย่าดูถูกตัวเอง เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

เดิมทีครอบครัวของช่างนัทนั้น พ่อแม่มีอาชีพรับเจียรนัยพลอยหาเงินเลี้ยงลูก แต่พอทั้งสองอายุมากขึ้นสายตาไม่ดีจึงไม่สามารถรับงานได้อีกและเลิกทำไปในที่สุด ส่วนช่างนัทแม้จะเป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือแต่ชอบเรียนรู้อยู่เสมอเมื่อสนใจอะไรจะค้นคว้าให้ถึงแก่น ด้วยความที่เป็นคนขยันไม่ชอบอยู่นิ่งเฉยจะหางานรับจ้างทำตั้งแต่เด็กโดยไม่เกี่ยงงานและไม่กลัวจะเหนื่อยยากเพียงขอให้ได้เงินใช้และจุนเจือครอบครัวก็พอ

ตั้งแต่อายุ 12 ปี ช่างนัท เริ่มทำงานเป็นช่างเย็บผ้าโหลส่งโรงงาน รับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า และรับซื้อ-ขายของเก่า แต่รายได้ก็ไม่ดีมากนัก จนกระทั่งอายุ 18 ปี ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ในขณะที่เดินหางานทำอยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรีก็ได้เล็งเห็นอาชีพหนึ่งซึ่งคิดว่าน่าจะสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวได้นั่นคืออาชีพช่างเลี่ยมกรอบพระพลาสติก

หนุ่มพิการไม่ขอแพ้โชคชะตา ทนสู้ชีวิตสู่เจ้าของร้านทำทอง

แต่ในตอนนั้นไม่มีทุนพอที่จะซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำแต่ยังโชคดีที่มีอดีตนายก อบต.ตะค่า ได้ช่วยเหลือนำชื่อขึ้นทะเบียนคนพิการจึงได้เงินจากเบี้ยยังชีพผู้พิการ 3,000 บาท ก่อนจะนำไปซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ใช้เวลาฝึกฝนลองผิดลองถูกจนชำนาญงานจึงเปิดร้านรับเลี่ยมพระอยู่ใต้ถุนบ้านไม้ของครอบครัว

เริ่มจากลูกค้าที่รู้จักมาจ้างเลี่ยมกรอบพระเพียงไม่กี่คน ไม่นานก็มีลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยฝีมือทำชิ้นงานที่มีคุณภาพ ราคาถูก ส่งงานไว และความซื่อสัตย์ที่มีต่อลูกค้าทำให้คนพูดกันไปปากต่อปาก แต่ถึงอย่างไรช่างนัทก็ไม่ยอมหยุดอยู่แค่นี้เวลาผ่านไปก็พัฒนาฝีมืออยู่ตลอดและเรียนรู้ที่จะเลี่ยมงานทองคำเพิ่มเติม จึงศึกษาจากช่างในวงการแกะกรอบพระและศึกษาด้วยตนเองจนชำนาญ

ด้วยความเชื่อของช่างนัท ที่ว่าคนเราไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ถ้าหยุดอยู่กับที่ก็เท่ากับถอยหลัง เมื่อจังหวะชีวิตมาถึงก็ต้องเดินหน้า จึงตัดสินใจลงทุนกู้เงินมาซื้อเครื่องรีดทองและทองคำแท่งมารับงานทองเพิ่มขึ้น กระทั่งมีงานเลี่ยมทองมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้ขยายมาเปิดร้าน ช่างนัทสุพรรณ ภายในหมู่บ้านจัดสรร พีพี-9 ปัจจุบันมีพนักงานภายในร้าน 5 คน รับงานทำทองแฮนด์เมด เครื่องประดับเพชร กรอบพระทองคำ เลสข้อมือทองคำมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านบาท ไม่นานกิจการดีขึ้นเรื่อยๆ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวปีละหลักล้านบาท

ท้ายนี้ ช่างนัท ขอฝากเรื่องราวชีวิตของตัวเองเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้พี่น้องคนพิการทุกชีวิต อย่าย่อท้อต่ออุปสรรค อย่าคิดว่าตนเองนั้นมีปมด้อยหรือเป็นภาระให้สังคม ถึงแม้ร่างกายจะพิการแต่อย่าพิการใจ สู้ อดทน มุมานะจะประสบผลสำเร็จในชีวิตสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/article/791328

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 23 ส.ค.63
วันที่โพสต์: 25/08/2563 เวลา 10:25:28 ดูภาพสไลด์โชว์ หนุ่มพิการไม่ขอแพ้โชคชะตา ทนสู้ชีวิตสู่เจ้าของร้านทำทอง