พลังโหวต "คนพิการ"...สะเทือนพรรคการเมือง

พลังโหวต "คนพิการ"...สะเทือนพรรคการเมือง

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐภาคีของ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ” (CRPD) ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า “ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน” หมายความว่า รัฐไทยต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนพิการเหมือนคนปกติทั่วไป ถ้าคนปกติไปเลือกตั้งได้คนพิการก็ต้องได้รับการอำนวยความสะดวกให้ไปเลือกตั้งเช่นกัน...

ที่ผ่านมาจำนวนตัวเลข “คนพิการ” ในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ตัวเลขแบบเป็นทางการ หมายถึงผู้พิการที่ไปลงทะเบียนมีใบรับรองความพิการจากสถานพยาบาล แยกความพิการออกเป็นลักษณะต่างๆ เช่น ความพิการทางการเห็น ความพิการทางสติปัญญา ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ความพิการทางการเรียนรู้ ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ความพิการทางออทิสติก ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม

ปัจจุบันมีผู้พิการแบบเป็นทางการ 1.9 ล้านคน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1 แสนคน

ส่วนตัวเลขแบบไม่เป็นทางการนั้น คือการเปรียบเทียบกับตัวเลขมาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลกที่ประเมินว่าผู้พิการมีสัดส่วนร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมดของแต่ละประเทศ ดังนั้นตัวเลขผู้พิการในประเทศไทยอาจสูงถึงเกือบ 10 ล้านคน เนื่องจากคนพิการส่วนใหญ่ที่ไปขึ้นทะเบียน มักเป็นผู้มีลักษณะที่มองเห็นความพิการได้ชัดเจน เช่น พิการทางสายตา หูหนวก ทุพพลภาพหรือสูญเสียอวัยวะบางส่วน ส่วนคนพิการที่ไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนนั้น เป็นกลุ่มคนพิการที่สืบเนื่องจากความเจ็บป่วย อายุมาก หรือผู้พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม

หากนำตัวเลขผู้พิการแบบไม่เป็นทางการมาพิจารณา คาดการณ์ว่าพวกเขามีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของคนไทยจำนวน 52 ล้านคน ที่มีสิทธิไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ย้อนไปอดีตการเลือกตั้งช่วงแรกนั้น “คนพิการ” ถูกห้ามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยรัฐธรรมนูญปี 2517 ระบุว่า ผู้หูหนวกและเป็นใบ้และไม่สามารถอ่านเขียนหนังสือได้ ห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2534 ประกาศยกเลิกข้อความข้างต้น เปิดโอกาสให้ผู้พิการออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ แถมยังให้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย...

ล่าสุด พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ระบุในมาตรา 92 บังคับให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนพิการที่มาเลือกตั้ง

พลังโหวต "คนพิการ"...สะเทือนพรรคการเมือง

"เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ในการออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายจัดให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพ ทำให้คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควร อาจกำหนดให้มีการจัดที่เลือกตั้งสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ เป็นกรณีพิเศษ โดยจัดให้บุคคลนั้นได้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ สถานที่ดังกล่าว และเมื่อได้ลงทะเบียนแล้ว ให้หมดสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน..."

หมายความว่าต่อไปนี้ กกต.มีหน้าที่อำนวยความสะดวกจัดสถานที่เหมาะสมให้คนพิการหรือผู้สูงอายุได้ไปเลือกตั้งอย่างสะดวกสบายมากกว่าเดิม เช่น มีทางขึ้นรถเข็น มีเอกสารอักษรเบรลล์ และที่สำคัญคือ หากคนแก่หรือคนพิการไม่สามารถกาบัตรเลือกตั้งได้ด้วยตนเอง ก็อนุญาตให้มีผู้ช่วยส่วนตัว เช่น ญาติหรือบุคคลที่วางใจได้เข้าไปในคูหาช่วยกาบัตรแทนได้

พลังโหวต "คนพิการ"...สะเทือนพรรคการเมือง

การอำนวยความสะดวกแบบนี้ ทำให้พรรคการเมืองจะละเลยเสียงของคนพิการไม่ได้อีกต่อไป

ดังนั้นคำถามสำคัญคือ นโยบายแบบใดที่จะโดนใจคนพิการ ?!?

"สุพรธรรม มงคลสวัสดิ์" มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ กล่าวถึงนโยบายคนพิการกับพรรคการเมืองว่า ช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาครั้งนี้ มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองกล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับคนพิการน้อยมาก ทั้งที่คนพิการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและมีจำนวนไม่น้อย จากตัวเลขคนมาลงทะเบียนมีบัตรคนพิการและผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียน เชื่อว่าอาจมีถึง 10 ล้านคนได้ เนื่องจากนิยามของผู้พิการของสากลนานาชาติ ได้รวมถึงผู้สูงอายุหรือคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองให้ดำรงชีวิตแบบคนทั่วไปได้ เช่น คนเป็นโรคหัวใจ คนป่วยโรคไต โรคประจำตัวอื่นๆ

"นโยบายพรรคการเมืองที่คนพิการอยากเห็น คือ การสนับสนุนอาชีพและการทำงาน เป็นเรื่องปากท้องไม่ใช่แค่เรื่องเงินอุดหนุนรายเดือนเท่านั้น และที่สำคัญคือนโยบายเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกองทุนคนพิการที่ตอนนี้มียอดสะสมอยู่ไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทพรรคการเมืองควรพูดว่าจะมีนโยบายในการบริหารจัดการเงินกองทุนนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเรื่องนโยบายเงินอุดหนุนรายเดือนนั้น อยากให้ประเมินอุดหนุนตามความเป็นจริง เพราะคนพิการมีหลายกลุ่ม หากเป็นกลุ่มช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลยควรให้มากหน่อยไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ส่วนที่พอช่วยเหลือตัวเองมีงานทำบ้างอาจประมาณ 1,000 บาท"

นายสุพรธรรมอธิบายต่อว่า คนพิการหลายล้านคนในสังคมไทยมีความหลากหลายและแตกต่างกันทางครอบครัวและทางเศรษฐกิจ ดังนั้นนโยบายเกี่ยวกับคนพิการควรให้คนพิการเข้าไปมีส่วนร่วมในการคิดและทำ ในอดีตที่ผ่านมาพรรคการเมืองหลายพรรคมีโครงการช่วยเหลือคนพิการที่ดีและมีประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่ขึ้นกับหัวหน้าพรรคหรือนักการเมืองแต่ละบุคคลมากกว่าว่า ใครสนใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เช่น พรรคชาติไทยสมัยคุณบรรหารจะสนใจช่วยคนพิการหลายเรื่อง หรือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ก็มีโครงการช่วยเหลือ แต่ถ้าพิจารณาจากภาพรวมแล้วยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนยกสถานะให้คนพิการในสังคมไทยมีความเป็นอยู่ที่เหมาะสม หรือดำรงชีวิตแบบช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด

พลังโหวต "คนพิการ"...สะเทือนพรรคการเมือง

“เชื่อว่าถ้ามีพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริงจัง ไม่ใช่แค่นโยบายสัญญาปากเปล่า แต่ต้องแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมว่ามีโครงการช่วยยกระดับชีวิตของคนพิการให้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนแบบไหน หากคนพิการมีอาชีพมีรายได้ ไม่เป็นภาระครอบครัว พวกเราก็คือส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศไทยได้ด้วย ตอนนี้ กกต.พยายามทำหน่วยเลือกตั้งให้คนพิการสามารถไปลงคะแนนเสียงได้ด้วย แต่อยากให้ช่วยคิดว่าการอำนวยความสะดวกแค่ในหน่วยเลือกตั้งไม่พอ ต้องคิดถึงการเดินทางจากบ้านมาถึงหน่วยเลือกตั้งด้วยว่าจะทำอย่างไร และไม่ควรปล่อยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากคนพิการ เช่น บางหมู่บ้านจัดรถบริการรับส่งคนพิการคนป่วยคนแก่ให้ไปยังหน่วยเลือกตั้ง โดยคาดหวังให้ไปลงคะแนนเสียงให้นักการเมืองคนใดคนหนึ่งเป็นการตอบแทน” ตัวแทนเครือข่ายคนพิการกล่าวเตือน

หนึ่งในนโยบายสากลของพรรคการเมืองที่พัฒนาแล้วทั่วโลก และเป็นนโยบายที่โดนใจคนพิการอย่างแรงคือ “สิทธิในการเดินทาง” ต้องให้คนพิการกับคนปกติมีสิทธิใช้ระบบขนส่งมวลชนทัดเทียมกัน เนื่องจากคนพิการหลายล้านคนในประเทศไทย พวกเขามีความสามารถในการเรียนหนังสือได้ และทำงานได้ด้วย แต่เมื่อระบบขนส่งไม่รองรับการเดินทางของผู้พิการ ทำให้พวกเขาก็ไม่สามารถไปทำงานได้ เพราะเข้าไปในอาคาร สถานที่ทำงานไม่ได้

ในต่างประเทศยานพาหนะหรือระบบขนส่งมวลชน ถูกกำหนดให้ก่อสร้างในรูปแบบที่อำนวยความสะดวกให้คนพิการด้วย เพราะ “การเดินทาง” คือปัญหาใหญ่ของผู้พิการ เป็นจุดสำคัญในการตัดสินใจของครอบครัวว่าจะให้พวกเขาได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน หรือได้ไปทำงานหรือใช้ชีวิตในสังคม ถ้าไม่มีญาติหรือคนในครอบครัวสามารถช่วยพวกเขาในการเดินทางได้ พวกเขากลายสภาพเป็นผู้พิการหรือผู้สูงอายุที่ถูกกักขังไว้ในบ้านทันที

ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้พิการในประเทศไทย มีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการเดินทางอย่างทัดเทียมเช่นกัน

โดยวันที่ “27 พฤศจิกายน” ของทุกปี เครือข่ายคนพิการถือเป็น “วันพิทักษ์สิทธิคนพิการไทย” เนื่องจากวันนั้นเมื่อ 23 ปีที่แล้ว หรือปี 2538 พี่น้องคนพิการกว่า 500 คนได้ออกมารวมตัวกันที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เรียกร้องให้สังคมรับรู้ว่าพวกเขาถูกละเมิดสิทธิในการเดินทางอย่างไร แม้เวลาผ่านไป 23 ปี พวกเขายังไม่ย่อท้อ มีการรวมพลังออกมาเรียกร้องสิทธิอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ทั้งกิจกรรมการปราศรัย การยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อพรรคการเมือง การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และการยื่นฟ้อง รฟม. ต่อศาลปกครองกลาง

“ธีรยุทธ สุคนธวิท” ประธาน ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) เล่าให้ฟังว่า ในอดีตพวกเราออกมาเรียกร้องให้รถไฟฟ้าบีทีเอสสร้างลิฟต์ให้ครบทุกสถานี เพราะคนพิการไม่สามารถไปใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งมวลชนได้เหมือนคนปกติทั่วไป หลังจากต่อสู้ขึ้นศาลนานกว่า 10 ปี ในที่สุดวันที่ 21 มกราคม 2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครและบีทีเอส จัดให้มีลิฟต์สำหรับผู้พิการทุกสถานี และต้องเสร็จภายใน 1 ปี แต่จนถึงวันนี้ กทม.ไม่ได้สนใจรับผิดชอบในการบังคับบีทีเอสรีบสร้างลิฟต์ให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยตามคำสั่งศาลให้ครบ 23 สถานี และไม่จัดทำอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ความพิการ นอกจากนี้ยังไม่ดูแลการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เพราะมีลิฟต์ขึ้น-ลงแค่ฝั่งถนนเดียว ทำให้คนพิการใช้วีลแชร์ไม่สามารถเข้า-ออกสถานีจากอีกฝั่งถนนได้เหมือนคนทั่วไป

ขณะนี้คนพิการต้องลงจากทางเท้าไปเข็นรถบนพื้นถนนที่มีรถวิ่งสัญจรไป-มา ทำให้เสี่ยงถูกรถชนจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต พวกเขาจึงต้องออกมารวมตัวกันอาศัยบารมีศาลปกครองเพื่อมีคำสั่งบังคับให้ กทม.และ รฟม. ช่วยเร่งจัดสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่ทำตามต้องจ่ายค่าเสียหายในการเดินทางที่ไม่สะดวกของคนพิการ โดยมีคดีตัวอย่างกำลังฟ้องร้องกันแล้ว จากการคำนวณค่าเสียหายเป็นเงินวันละ 1,000 บาทต่อโจทก์ 1 คน ตัวอย่างคดีที่มีผู้ยื่นฟ้องศาลจำนวน 5 คน คิดเป็นเงิน 16.8 ล้านบาท

ปฏิบัติการ “23 ปี สิทธิที่ยังไม่เป็นจริง การต่อสู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด” คือคำประกาศเครือข่ายคนพิการในประเทศไทย พร้อมมีข้อเสนอพรรคการเมืองนำไปเป็นนโยบาย 2 ข้อ ได้แก่ 1.ให้พรรคการเมืองมีแนวปฏิบัติชัดเจนว่าจะเร่งรัดแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมในระบบขนส่งมวลชนอย่างไร โดยให้คนพิการที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านระบบขนส่งมวลชน นักวิชาการ และผู้ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

2.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการที่มีกระจัดกระจาย ให้รวบรวมเป็นกฎหมายการจัดสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์บริการสาธารณะอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อคนพิการ แต่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อข้างต้น น่าสนใจและเป็นประโยชน์ยิ่งนัก และโปรดอย่าลืมว่าตัวเลขผู้พิการอย่างไม่เป็นทางการของประเทศไทยมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหลัก 10 ล้านคน

หากพรรคการเมืองไหนให้ความสนใจรับฟัง และมีความตั้งใจจริงในการนำไปทำเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม เชื่อว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากผู้พิการอย่างแน่นอน !

ขอบคุณ... http://www.komchadluek.net/news/scoop/354021 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: komchadluek.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 29 พ.ย.61
วันที่โพสต์: 30/11/2561 เวลา 10:20:59 ดูภาพสไลด์โชว์ พลังโหวต "คนพิการ"...สะเทือนพรรคการเมือง