"บิ๊กอู๋"สั่งตั้งคกก.สอบปมอมเงินคนพิการขีดเส้นตาย 15 วัน

"บิ๊กอู๋"สั่งตั้งคกก.สอบปมอมเงินคนพิการขีดเส้นตาย 15 วัน

“บิ๊กอู๋” สั่งตั้งคกก.สอบปมอมเงินคนพิการ ขีดเส้นตายภายใน 15 วันหวังเคลียร์แค่ในกระทรวง พร้อมแจง “ก.แรงงาน” เอี่ยวแค่ ม.35 จากการร้องเรียน

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่กระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการ ตามมาตรา 33 ที่กำหนดให้ต้องมีการจ้างงานคนพิการ แต่ปรากฏว่าตัวเลขการจ้างงานไม่ตรงกับสิทธิของผู้พิการจริง และมาตรา 35 ที่ต้องให้สถานประกอบการจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนในกรณีที่ไม่จ้างงาน แต่มีจัดโครงการจัดฝึกอบรมผู้พิการและเรียกรับหัวคิวเพื่อแลกเปลี่ยนกับการผ่านการฝึกอบรม ซึ่งสร้างความเสียหายถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้กระทรวงแรงงานมีภารกิจที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)

ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้นจะมีความเกี่ยวข้องใน 3 ส่วน คือ 1.การจัดหางานให้คนพิการมีงานทำตามมาตรา 33 ซึ่งตามกฎหมายนั้นได้ระบุว่าสถานประกอบการต้องรับคนพิการเข้าทำงานสัดส่วน 1 ต่อ 100 คน ซึ่งจากการตรวจสอบจำนวนในส่วนนี้พบว่ามีอยู่ 64,576 คน โดยในจำนวนนี้ผู้ประกอบการได้รับแรงงานเข้าไปสู่การทำงานอยู่ที่ประมาณ 36,315 คน ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2561 ยังมีแรงงานที่ขึ้นทะเบียนคนพิการที่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างผ่านกรมการจัดหางาน จำนวน 1,979 คน และบรรจุงาน จำนวน 1,565 คน

ในส่วนที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องของการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 โดยที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถจ้างผู้พิการให้เข้าทำงานได้ ก็ที่จะต้องหักเงินในส่วนของค่าจ้างผู้พิการเข้ากองทุนดังกล่าว ในอัตราส่วนคนละ 109,500 บาทต่อปี ซึ่งในส่วนนี้มีจำนวนที่แจ้งเข้ามากว่า 14,623 คน เมื่อพิจารณายอดรวมแล้วจะตกอยู่ที่ 1,500 ล้านบาทต่อปี ส่วนขั้นตอนการส่งเงินกองทุนนั้นจะเป็นการส่งจากสถานประกอบการเข้ากองทุนโดยตรง โดยที่กระทรวงแรงงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ 3 ในปี 2561 กระทรวงแรงงานได้รับเงินกองทุนสนับสนุนเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับภารกิจเกี่ยวผู้พิการอยู่ที่ 1,170,000 บาท ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ ตามมาตรา 35 ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการผ่อนผันจากการส่งเงินสมทบในส่วนของการจ้างงานคนพิการเข้ากองทุน แต่สามารถที่จะส่งเสริมให้ผู้พิการมีอาชีพมากขึ้นผ่านการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ โดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ

ในส่วนนี้มียอดผู้พิการในการขออนุมัติโครงการต่างๆกว่า 12,499 คน ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงแรงงานอาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนของหลักสูตรของการฝึก และการขออนุมัติ โดยที่การดำเนินการทุกอย่างตนขอยืนยันว่าเป็นไปตามกฎระเบียบของกฎหมายโดยที่จะคำนึงถึงสิทธิ และมูลค่าที่ให้แก่คนพิการครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ หรือไม่ จากนั้นก็จะทำหนังสืออนุญาตโดยที่ส่งรายชื่อของสถานประกอบการ และรายชื่อของผู้พิการไปยังกระทรวง พม. เพื่อให้คณะกรรมการในส่วนของ พม.ลงพื้นที่ไปตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งทางกระทรวงแรงงาน โดยกรมจัดหางานไม่ได้ทำเพียงฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางการแก้ปัญหานั้น กระทรวงแรงงานจึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องขึ้น โดยที่มอบให้นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในคณะกรรมการตรวจสอบชุดดังกล่าว พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบภายใน 15 วัน โดยที่การตรวจสอบครั้งนี้เป็นการส่วนตรวจสอบภายในกระทรวงแรงงานก่อน หากมีหน่วยงานหรือกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องก็จะต้องว่ากันอีกครั้ง

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/politics/666917

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 ก.ย.61
วันที่โพสต์: 20/09/2561 เวลา 13:04:23 ดูภาพสไลด์โชว์ "บิ๊กอู๋"สั่งตั้งคกก.สอบปมอมเงินคนพิการขีดเส้นตาย 15 วัน