สนข.ตั้งธงขนส่งสาธารณะผู้โดยสารต้องเข้าถึงทุกรูปแบบ

สนข.ตั้งธงขนส่งสาธารณะผู้โดยสารต้องเข้าถึงทุกรูปแบบ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นและประชาสัมพันธ์ โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านคมนาคมขนส่งสำหรับทุกคน ภายใต้แนวคิด “OTP: We make the best for all” ครั้งที่ 1 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ว่าโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสังคมไทยที่ได้ก้าวสู่งสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น กระทรวงคมนาคมมีภารกิจหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการบริการด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ และการเชื่อมโยงภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการระบบคมนาคมคนขนส่งได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ทำให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม รวมถึงเน้นการพัฒนาเพื่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พฤติกรรมการเดินทาง จึงเป็นภารกิจสำคัญตามยุทธศาสตร์คมนาคม 20ปี (พ.ศ.2561-2580) ของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สำหรับยุทธศาสตร์ 20ปี ประกอบด้วย 1.การเพิ่มประสิทธิภาพในระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ 2.การยกระดับขนส่งเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย 3.การเข้าถึงคนของคนทุกกลุ่มในการใช้บริการคมนาคม ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของกระทรวงคมนาคม

“โดยปี 2559 สนข.ได้ทำการศึกษามาตรฐานอาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบคมนาคม เช่น ท่าอากาศยาน ท่าเทียบเรือ สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟ รวมถึงป้ายจอดรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งการให้บริการทั้งหมดจะต้องมีมาตรฐาน และสามารถให้บริการกับกลุ่มผู้โดยสารสูงอายุและผู้พิการได้ รวมถึงการศึกษามาตรฐานยานพาหนะ เช่น รถโดยสาร รถไฟ เรือโดยสาร รวมถึงเครื่องบินแต่เครื่องบินไม่ค่อยมีปัญหาเพราะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ICAO ขณะนี้ได้ทำการศึกษาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) สำหรับในการเร่งปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ยานพาหนะ รวมทั้งการบริการ โดยยึดหลัก Universal Design ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายด้านการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแผนแม่บทฯ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้นำการพัฒนาให้ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการไปอย่างมีมาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานต้องดำเนินการศึกษารายละเอียดร่วมกัน สำหรับระยะเวลาศึกษาโครงการเริ่มตั้งแต่ มีนาคม 2561-มีนาคม 2562 โดยใช้งบประมาณ 37ล้านบาท ซึ่งหากโครงการได้สรุปรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)”นายชัยวัฒน์ กล่าว

สำหรับพื้นที่และสถานที่ต้นแบบมี 4แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ พื้นที่จังหวัดเชียงราย สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 / ภาคตะวันออก พื้นที่จังหวัดชลบุรี ท่าเรือเกาะลอย /ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่จังหวัดขอนแก่น สถานีรถไฟทางคู่ขอนแก่น /และภาคใต้ พื้นที่จังหวัดภูเก็ต ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ส่วนการคัดเลือกทั้ง 4 จังหวัดนั้น เป็นการคัดเลือกจากความเหมาะสมและยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวที่ครบ ซึ่งขณะนี้ที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการลงพื้นที่ และจะประเมินราคาก่อนจะจัดทำร่างทีโออาร์คัดเลือก และคาดว่าในเดือนตุลาคม 2561 จะประกาศเพื่อเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมและจะได้ผู้สนใจในโครงการประมาณต้นปี 2562

ขอบคุณ... http://www.banmuang.co.th/news/economy/124256

ที่มา: banmuang.co.th /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 06 ก.ย.61
วันที่โพสต์: 10/09/2561 เวลา 10:43:58 ดูภาพสไลด์โชว์ สนข.ตั้งธงขนส่งสาธารณะผู้โดยสารต้องเข้าถึงทุกรูปแบบ