3 สถาบัน พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ ‘รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียงผ่านมือถือ’

3 สถาบัน พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ ‘รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียงผ่านมือถือ’

บุคลากร 3 สถาบัน ร่วมวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ 'รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียงผ่านมือถือ'

ผลงานนี้ใช้ชื่อว่า PMK - Electric Power Wheelchair Control by Voice มุ่งเป้าหมายสำคัญคือต้องการให้ผู้พิการอัมพาตช่วงบนและครึ่งล่าง (Quadriplegia) ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือกันของ ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ร่วมกับรศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ปทุมธานี พร้อมด้วย พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี และพ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า รวมถึงนายนพรัตน์ เย็นใจ นายรัฐภูมิ บุญศิริ และนายสุทธิพงศ์ กลิ่นหอม นักศึกษาสาขาแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี

3 สถาบัน พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ ‘รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียงผ่านมือถือ’

พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ เผยว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลมีผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตจากการสู้รบ โดยบางรายได้รับบาดเจ็บครึ่งล่าง (Paraplegia) และบางรายได้รับบาดเจ็บหรืออัมพาตช่วงบนและครึ่งล่าง (Quadriplegia) ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยในลักษณะนี้ให้สามารถนั่งอยู่บนรถเข็นและสามารถสั่งการได้ โดยผู้ป่วยสามารถสั่งงานขับเคลื่อนรถเข็นไฟฟ้าให้เคลื่อนที่ภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้านได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดีอีกด้วย

ด้าน ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ อธิบายเสริมว่า รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียงผ่านมือถือนี้ จะทำงานผ่านมือถือระบบ Android ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากการใช้ไมโครโฟน เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีและการใช้มือถือจะอยู่ใกล้ตัวเรามาก สำหรับการทำงานจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนรถเข็น (Hardware) ส่วนควบคุม (Control) และส่วนซอฟต์แวร์ (Software) มีหลักการทำงานคือ เมื่อผู้ป่วยสั่งงานด้วยเสียงพูดเช่น เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา และหยุด มีผลทำให้มือถือที่ติดต่อระบบ Bluetooth ส่งค่าสัญญาณลอจิก 1 และ 0 ไปที่ไมโครคอนโทรเลอร์ (Microcontroller) หลังจากนั้นไมโครคอนโทรเลอร์จะส่งสัญญาณเอาต์พุตออกไปที่ชุดขับมอเตอร์ (DC Drive) และมีผลทำให้สามารถควบคุมทิศทางการหมุนตามทิศทางที่ต้องการได้

ขณะที่ พ.อ.รศ.นพ.สุธี กล่าวเสริมว่า ในอนาคตจะมีการนำไปใช้กับผู้ป่วยราชการสนามที่ได้รับบาดเจ็บและถูกปลดประจำการให้ได้ใช้อุปกรณ์ชุดนี้สั่งการอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านได้เช่น เปิด-ปิดไฟฟ้า ต่อไป ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม โทร.086 882 1475

นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้พิการมีความสะดวกสบาย สามารถช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นได้ตามต้องการ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

ขอบคุณ... http://www.thaipr.net/education/862877

ที่มา: thaipr.net /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 28 พ.ค.61
วันที่โพสต์: 31/05/2561 เวลา 10:41:00 ดูภาพสไลด์โชว์ 3 สถาบัน พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ ‘รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียงผ่านมือถือ’