'พัฒนา'ลดเหลื่อมล้ำ 'พลังคนพิการ' ขาดแรงงาน'ช่วยได้'

'พัฒนา'ลดเหลื่อมล้ำ 'พลังคนพิการ' ขาดแรงงาน'ช่วยได้'

’ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการ“ ผ่านการ ’พัฒนาฝีมือแรงงาน“ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เป็นการ ลดความเหลื่อมล้ำ

“ยุทธศาสตร์ในปี 2561 มีโรดแม็พเพื่อขับเคลื่อนงานด้านคนพิการอย่างต่อเนื่อง โดยจะพัฒนาศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมอาชีพคนพิการแห่งแรกในอาเซียน ซึ่งจะเป็นต้นแบบและศูนย์กลางในการขับเคลื่อนคนพิการของอาเซียนอย่างครบวงจร” ...เป็นการระบุไว้โดย สมคิด สมศรี อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ที่ได้เปิดเผยนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านคนพิการในปี 2561 โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และพัฒนาประเทศในระยะยาวภายใต้ยุค “ประเทศไทย 4.0”

หวังถึงขั้นผลักดัน “ไทยเป็นฮับ” ทางด้านนี้

ด้วยการ “ยกระดับทักษะฝีมือให้คนพิการ”

ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในไทยและในอาเซียน

กับ “แนวคิด” ดังกล่าวนี้ ย่อมถือเป็น “เรื่องดี” ที่ทางภาครัฐ รัฐบาล พยายามที่จะ ’ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการ“ ผ่านการ ’พัฒนาฝีมือแรงงาน“ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เป็นการ ลดความเหลื่อมล้ำ อีกวิธีหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมียุทธศาสตร์นี้ออกมาจึงมีเสียงตอบรับจากคนพิการดังอึงมี่

อย่างไรก็ตาม เรื่อง “การพัฒนาฝีมือคนพิการ” นั้น ก่อนที่หน่วยงานภาครัฐจะขยับตัวครั้งใหญ่ ในระดับ “อุดมศึกษา” ใน “สถาบันการศึกษา” หลายแห่ง ก็มีการผลักดันเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งแม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่มีหลาย ๆ จุดก็เยอะได้ ยกตัวอย่างเช่นที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งมี โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มาตั้งแต่ปี 2556 และจนถึงขณะนี้มีคนพิการที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 102 คน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นรุ่นที่ 4 ที่มีการฝึกอบรม โดยในจำนวนนี้มีคนพิการที่ได้งานทำแล้วกว่า 36 คน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการฯ ระบุไว้ว่า... ทางมหาวิทยาลัยมีความตั้งใจที่จะปรับปรุงและพัฒนาโครงการให้ดีขึ้นทุกปี ซึ่งหลักสูตรการฝึกอบรมที่จัดขึ้น ออกแบบตามความต้องการของผู้ประกอบการเอกชน ที่มีความต้องการรับคนพิการเข้าทำงานในส่วนสำนักงาน ซึ่งนอกจากการฝึกอบรมทักษะฝีมือแล้ว ยังเสริมเรื่องการฝึกอาชีพเสริมที่เหมาะสมด้วย เช่น สอนทำขนม สอนปั้นดินดอกไม้ประดิษฐ์ รวมทั้งให้มีการฝึกงานจริงในสถานประกอบการ โดยมุ่งเน้นที่จะทำให้คนพิการได้มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ สามารถใช้ความสามารถ พึ่งพาตนเองได้

ทางประธานโครงการฯ นี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า... โครงการฯนี้จะมีทั้งอาจารย์ และพนักงาน ร่วมกันเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมให้ และยังมีการเสริมเรื่องของ ทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะความรู้คอมพิวเตอร์ ทักษะอินเทอร์เน็ตเข้าไป เพื่อให้คนพิการที่เข้ารับการอบรมเกิดทักษะและสามารถที่จะนำไป ใช้ประกอบอาชีพได้จริง ๆ

ทั้งนี้ จริง ๆ โครงการฯ นี้ก็เกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ที่มีการ กำหนดให้สถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงานในอัตรา 100:1 แต่ที่ผ่านมาเนื่องจากคนพิการบางส่วนยังขาดทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ จึงมีการจัดทำหลักสูตรดังกล่าวขึ้น โดยการฝึกอบรมแบ่งเป็นทักษะด้านวิชาการ ความรู้พื้นฐานทั่วไป ความรู้ด้านวิชาชีพ และนอกจากอบรมในห้องเรียน 4 เดือน คนพิการยังจะได้ฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ 2 เดือน เพื่อเพิ่มทักษะทางสังคม

’การปรับตัว เพื่อการสร้างความมั่นใจ ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ การที่คนพิการได้ฝึกงานจริง ๆ ในสถานประกอบการจริง จะช่วยทำให้เขาสามารถปรับตัวได้รวดเร็วมากขึ้น โดยสำหรับค่าใช้จ่ายนั้น ทางผู้ประกอบการจะเป็นผู้สนับสนุน“ ...เหล่านี้ก็เป็นข้อมูลโดยสังเขป ที่ทางประธานโครงการฯ นี้แจกแจงไว้

ฟังจากทางโครงการฯ แล้ว ลองมาฟัง “คนพิการ” เปิดใจกันบ้าง ว่า... โครงการรูปแบบนี้ ได้ผลหรือไม่??-คนพิการได้ประโยชน์หรือไม่?? เริ่มจาก สาคร สำคัญควร อายุ 19 ปี จาก จ.บุรีรัมย์ ที่ประสบอุบัติเหตุเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ต้องตัดแขนทั้ง 2 ข้าง แต่เขาก็คิดว่า... ความพิการไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต จึงตัดสินใจเข้าฝึกอบรมที่โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ พัทยา และรุ่นพี่ที่เคยเข้าฝึกอบรมในโครงการได้แนะนำให้สมัครเข้าร่วมโครงการดังที่ระบุมาข้างต้น โดยหลังผ่านการคัดเลือก เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำงานด้านเอกสารของสำนักงาน นอกจากนั้น ยังมีโอกาสฝึกงานที่แผนกบุคคลของบริษัท ฮงเส็ง การทอ จำกัด โดยทำหน้าที่จัดทำระบบฐานข้อมูลของพนักงาน และทำบัตรพนักงาน

’หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม ทำให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ และการได้ทำงานร่วมกับคนปกติ ยังช่วยทำให้ผมมีความมั่นใจมากขึ้นด้วยครับ“ ...สาครกล่าวไว้ ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย เดือนกันยายน 2560 ของทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุไว้ว่า ...ไทยมีคนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15-60 ปี) อยู่ที่ 819,550 คน แต่ยังมีคนพิการที่ยังไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพ มากถึง 330,339 คน ...นี่ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย ซึ่งถ้าหากสามารถที่จะทำให้คนพิการเหล่านี้มีงาน หากทำให้หาเลี้ยงตัวเองได้ด้วยความสามารถที่ตนมีอยู่...

ไม่เพียงจะ ’ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม“ ได้

ยัง ’ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน“ ด้วย

ทุกภาคส่วนร่วมมือกันยิ่งมากก็จะยิ่งดี!!!

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/article/616976

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 21 ธ.ค.60
วันที่โพสต์: 21/12/2560 เวลา 11:48:20 ดูภาพสไลด์โชว์ 'พัฒนา'ลดเหลื่อมล้ำ 'พลังคนพิการ' ขาดแรงงาน'ช่วยได้'