เปิด "บ้านยิ้มสู้" ชวนเปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง"

เปิด "บ้านยิ้มสู้" ชวนเปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง"

มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการเปิดบ้านยิ้มสู้นำเสนอบทบาท ภารกิจ และผลการดำเนินงานในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิการตลอด 19 ปี

ดำเนินการมากว่า 19 ปี มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ โดย ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้โอกาสดีจัดกิจกรรม “เปิดบ้านยิ้มสู้” ณ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซ.อรุณอัมรินทร์ 39 เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอบทบาท ภารกิจ และผลการดำเนินงานของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิการ พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ชวนคนไทยร่วมเปลี่ยน “ภาระ” ให้กลายเป็น “พลัง” ผ่าน “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” มุ่งสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ ตั้งเป้ายกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการอย่างยั่งยืน

เปิด "บ้านยิ้มสู้" ชวนเปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง"

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการมีกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการทุกกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็นการทำงานใน 5 ด้านคือ โครงการบ้านเด็กยิ้มสู้ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมและทักษะพื้นฐานให้กับเด็กเล็กผู้พิการทุกประเภทโดยเฉพาะกลุ่มออทิสติก และบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กกลุ่มนี้สามารถไปเรียนรวมกับเด็กทั่วไปได้, โครงการหอศิลป์ยิ้มสู้ ที่ต้องการให้สังคมไทยรับรู้ว่าผู้พิการมีความสามารถและทำอะไรได้มากกว่าที่คิด และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในด้านต่างๆ ของผู้พิการ

เปิด "บ้านยิ้มสู้" ชวนเปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง"

โครงการศูนย์ถ่ายทอดและการสื่อสารสำหรับคนหูหนวก (ทีทีอาร์เอส) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียที่สามารถพัฒนานวัตกรรมล่ามภาษามือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อช่วยให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินและสื่อความหมาย สามารถสื่อสารกับคนปกติได้ โดยปัจจุบันมีตู้ TTRS กระจายอยู่ทั้งหมด 180 จุดทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการสูงถึง 18,000 ครั้งต่อเดือน และยังถือว่าเป็นศูนย์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค โดยมีล่ามภาษามือมากที่สุดถึง 36 คนคอยให้บริการ, ศูนย์บริการคนพิการ ไว้เพื่อจัดหางานให้กับคนพิการ ทำสื่อคนพิการทางการได้ยิน ลงชุมชนเยี่ยมคนพิการตามบ้าน และศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน รวมร้านกาแฟ ด้านอาหารและบริการ ศูนย์อาเซียนแม่ริม ด้านการเกษตร

เปิด "บ้านยิ้มสู้" ชวนเปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง"

เปิด "บ้านยิ้มสู้" ชวนเปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง"

ปัจจุบันคนพิการร้อยละ 39.04 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 39.28 รับจ้างทั่วไป เมื่อรวมอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไปจะมีมากถึงร้อยละ 78.32 จะเห็นได้ว่าคนพิการส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่ตามหมู่บ้าน ตำบล และชนบทต่าง ๆ และจะประกอบอาชีพการเกษตรและรับจ้างทั่วไปเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่ามีรายได้ที่ตำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือใด ๆ ที่รัฐจัดให้ และเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ของคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุนี้ในการก้าวสู่ปีที่ 19 ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมศักยภาพผู้พิการ ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างให้เขามีรายได้ สร้างให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือให้คนพิการก้าวพ้นความยากจน สามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง "ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน" ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยมองเห็นว่าทางออกหรือแนวทางที่จะสามารถช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจนและไม่มีอาชีพที่แน่นอนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามรถก้าวพ้นความยากจนได้นั้น จะต้องให้ผู้พิการและครอบครัวได้ประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นอาชีพที่สามารถมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และผู้พิการสามารถทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี

ที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องขายได้ มีรายได้เพียงพอกับการดูแลตนเองและคนในครอบครัว จึงได้มีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้พิการขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “ยิ้มสู้” เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการ โดยปัจจุบันได้นำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในห้างแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือและมีแผนที่จะขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการสนับสนุนสินค้าต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ยิ้มสู้ ก็เท่ากับกว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะได้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้พิการนั่นเอง

ปัจจุบันศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน มีพื้นที่คับแคบ และไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมอาชีพต่าง ๆ ให้กับผู้พิการ ดังนั้นในปี 2561 มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงมีเป้าหมายเปลี่ยน “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” ในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะมีพื้นที่มากถึง 33 ไร่ สามารถรองรับผู้พิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงต้นปี 2561 จะจัดกิจกรรม “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน” (No One Left Behind) เป็นครั้งแรกของประเทศที่คนตาบอดจะปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ เป็นระยะทางรวมกว่า 867 กม. หาทุนเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อ.เชียงดาว

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/women/615725

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 13 ธ.ค.60
วันที่โพสต์: 14/12/2560 เวลา 10:54:49 ดูภาพสไลด์โชว์ เปิด "บ้านยิ้มสู้" ชวนเปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง"