สุดช็อก! บอคเซียทีมชาติ ไร้หน่วยงานดูแล พึ่งเบี้ยคนพิการ 800 ยังชีพ

สุดช็อก! บอคเซียทีมชาติ ไร้หน่วยงานดูแล พึ่งเบี้ยคนพิการ 800 ยังชีพ

"เอกราช แจ่มจ้อย" นักกีฬาบอคเซียทีมชาติไทย ไร้หน่วยงานดูแล อาศัยเพียงเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท อุปกรณ์การแข่งขันเก่าชำรุด วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน...

วันที่ 24 พ.ย.60 ร.อ.อดิเรก ใจอารีย์ หน.ชุดปฏิบัติการมวลชน มทบ.ที่ 35 พร้อมคณะ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยม นายเอกราช แจ่มจ้อย นักกีฬาบอคเซียทีมชาติไทย ซึ่งเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนน ที่บ้านเลขที่ 4 หมู่ 2 ต.น้ำริด อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

นายเอกราช แจ่มจ้อย อายุ 28 ปี พร้อมด้วย นางไหม เณรแก้ว อายุ 44 ปี มารดา นำเหรียญรางวัลที่ได้จากการแข่งขันในประเทศต่างๆ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย และสาธิตวิธีการเล่นบอคเซียให้สื่อมวลชนดูด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตพลิกผันว่า หลังเรียนจบการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ก็ต้องมาประสบอุบัติเหตุโดยตนซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เพื่อนซึ่งเมาสุราแล้วเกิดเหตุรถตกถนน ตนกระเด็นไปตกคูน้ำ เพื่อนไม่เป็นอะไรมากและขับรถกลับบ้านไปโดยปล่อยให้ตนนอนแช่น้ำอยู่ตั้งแต่เวลา 02.00 – 07.00 น. จึงมีคนมาพบและนำส่งเพื่อรักษาตัวที่ รพ.อุตรดิตถ์นาน 6 เดือน ไม่สามารถขยับร่างกายได้ จากนั้นแพทย์จึงส่งต่อไปรักษาตัวที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ อีก 2 เดือน จึงสามารถขยับร่างกายได้บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่ที่นี่ทำให้ตนได้มีโอกาสได้รู้จักกับ นายสมนึก วุฒิเฟย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ จ.เชียงใหม่ ชักชวนเข้าสู่วงการกีฬาบอคเซีย

“ลุงสมนึกชวนสมัครเป็นนักกีฬาบอคเซีย ก็ตัดสินใจสมัครเลย ทั้งที่ไม่รู้จักกีฬาชนิดนี้มาก่อน สนามแรกได้ลงสนามกีฬาแห่งชาติ 2555 ที่ จ.ขอนแก่น แต่ด้วยความไม่พร้อมทั้งการเตรียมตัว และอุปกรณ์ในการเล่น จึงไม่ได้รางวัลใดกลับมา แต่ได้ประสบการณ์จากการแข่งขันกับนักกีฬาทีมชาติ จากนั้นจึงสนใจอย่างจริงจัง ครอบครัวก็สนับสนุน โดยแม่เป็นผู้ช่วยในการแข่งขัน ส่วนป้านำเงินที่ขายข้าวได้ทั้งหมด 15,000 บาท มาซื้อรางบอคเซียให้ และอาจารย์ดารณี คชศรีสวัสดิ์ ครูชำนาญการ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตกรุงเทพ และผู้เชี่ยวชาญกีฬาบอคเซีย สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย สนับสนุนลูกบอคเซียให้ 1 ชุด จึงได้ลงคัดตัวเข้าเล่นทีมชาติ และสามารถติดทีมชาติเข้าร่วมการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ 2557 ที่ประเทศพม่า สามารถคว้าเหรียญเงินประเภทคู่ และทองแดงประเภทเดี่ยวมาได้สำเร็จ และได้เงินอัดฉีดมาประมาณ 30,000 บาท ซึ่งทำให้รู้สึกภาคภูมิใจอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการแข่งขัน หรือการเก็บตัวก็จะไม่มีรายได้ นอกจากเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท และขณะนี้อุปกรณ์การเล่นก็เริ่มเก่าชำรุด ซึ่งส่งผลต่อทิศทางบอล จึงอยากได้รับการสนับสนุนเพราะราคาค่อนข้างสูง ซึ่งครอบครัวไม่มีเงินซื้อ” นายเอกราช กล่าว

ด้าน นางใหม่ เณรแก้ว กล่าวว่า ในปี 2552 ตนสูญเสียสามีในเดือนมีนาคม ต่อมาในเดือนกันยายน ลูกชายก็มาประสบอุบัติเหตุ ต้องนอนโรงพยาบาลนานเกือบปี ตนเองจึงต้องเลิกขายของและมาดูแลลูกชายซึ่งไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งการกิน การอาบน้ำ การขับถ่าย รวมถึงการแข่งขันกีฬาบอคเซีย รายได้หลักจึงมาจากการแข่งขันกีฬา แต่ก็ไม่แน่นอน เพราะหากไม่มีการเก็บตัว หรือแข่งขันก็จะไม่มีรายได้ ในขณะที่รายจ่ายมีทุกวัน ทั้งผ้าอ้อมผู้ใหญ่ สำลี กระดาษชำระ แผ่นรองทำความสะอาด ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านกีฬาหรือคนพิการเข้ามาช่วยเหลือ โดยปัจจุบันต้องลงแข่งในนามนักกีฬาของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะในจังหวัดอุตรดิตถ์ไม่มีการแข่งขันนักกีฬาคนพิการในระดับต่างประเทศ

สำหรับผู้ต้องการสนับสนุนอุปกรณ์การแข่งขันกีฬา หรือค่าใช้จ่ายให้แก่ นายเอกราช แจ่มจ้อย สามารถโอนเงินได้ที่บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี นายเอกราช แจ่มจ้อย เลขที่บัญชี 384-0-14136-2

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/content/1134920

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 27 พ.ย.60
วันที่โพสต์: 27/11/2560 เวลา 11:21:43 ดูภาพสไลด์โชว์ สุดช็อก! บอคเซียทีมชาติ ไร้หน่วยงานดูแล พึ่งเบี้ยคนพิการ 800 ยังชีพ