จุฬาฯร่วมสถาบันราชานุกูลและองค์กรต่างๆดันงานวิจัยเพื่อคุณภาพชีวิตผู้บกพร่องทางสติปัญญา

จุฬาฯร่วมสถาบันราชานุกูลและองค์กรต่างๆ

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ 2017 IASSIDD 4th Asia-Pacific Regional Congress ภายใต้แนวคิด “พัฒนาอย่างยั่งยืน กลมกลืนในสังคม” ซึ่งสถาบันราชานุกูล ร่วมกับคณะ ครุศาสตร์ จุฬาฯ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และองค์กรต่างๆ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้อง Convention Hall โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท เพื่อส่งเสริมการวิจัยและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการดูแลผู้พิการทางสติปัญญา

นายอานันท์ กล่าวว่า การค้นหากลยุทธ์และรูปแบบของการพัฒนาและสนับสนุนผู้พิการทางสติปัญญา ผ่านนโยบายภาครัฐที่สอดคล้องกับระบบการให้บริการจากทุกภาคส่วนของสังคมมีความสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การที่ผู้พิการได้รับการยอมรับ ไม่ถูกละเลย ทั้งในเรื่องนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิต การสนับสนุนให้พึ่งพาตนเองได้ คุณภาพของครอบครัว การจ้างงานและมีอาชีพ ตลอดจนการเข้าถึงโอกาสและการยอมรับทางสังคม

จุฬาฯร่วมสถาบันราชานุกูลและองค์กรต่างๆ

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสนใจศึกษาในเรื่องเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษมาเป็นเวลากว่า 30 ปี เริ่มต้นที่คณะครุศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ซึ่งมีคณาจารย์คอยดูแลเด็กที่มีความสามารถพิเศษในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษที่ประเทศไทยได้จัดการประชุม IASSIDD ระดับเอเชียแปซิฟิกเป็นครั้งแรก โดยคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพร่วม ปัจจุบันประเทศไทยให้การสนับสนุนเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาซึ่งมีความสามารถที่โดดเด่นในด้านอื่นๆ โดยโรงเรียนสาธิตจุฬาฯได้ให้โอกาสนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้เรียนร่วมกับนักเรียนปกติ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเป็นปกติ มีคุณค่าเป็นที่ยอมรับในศักยภาพและความสามารถที่โดดเด่น

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือมีพัฒนาการล่าช้าคือการเข้าถึงและได้รับการตรวจพบได้เร็วที่สุด เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ที่ผ่านมามีกระบวนการและกิจกรรมในการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ โดยพ่อแม่มีบทบาทในการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กให้ได้เรียนรู้ รวมทั้งให้เด็กเข้าสู่กระบวนการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ครูผู้สอน ฯลฯ การประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกในการการดูแลเด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือมีพัฒนาการล่าช้าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ศ.ดร.ฟิลลิป เดวิดสัน มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตกรรม แห่งเมืองโรเชสเตอร์ (University of Rochester School of Medicine and Dentistry) ประธาน IASSIDD กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ 2017 IASSIDD 4th Asia Pacific Regional Congress มีผลงานวิจัยที่เป็นต้นแบบนวัตกรรมซึ่งจะมีผลต่อการผลักดันคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสติปัญญามากกว่า 100 เรื่อง เช่น ผลงานวิจัยที่สะท้อนลักษณะสำคัญของธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสังคม ซึ่งต้องไม่เน้นเพียงเรื่องของการจ่ายค่าจ้าง แต่ยังต้องเป็นงานที่มีความหมายในการให้โอกาสแก่ผู้พิการได้เรียนรู้ทักษะด้านอาชีพ และทักษะที่สังคมยอมรับหรือเห็นคุณค่า รวมถึงยังช่วยพัฒนาสัมพันธภาพทางสังคมของผู้พิการทางสติปัญญาด้วย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่บ่งบอกว่าพี่น้องของผู้พิการทางสติปัญญาเป็นอีกส่วนในครอบครัวที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาความเครียด และปัญหาคุณภาพชีวิต รวมทั้งเกิดความห่างเหินจากพ่อแม่ สังคมจึงต้องให้ความสำคัญต่อการเกื้อหนุนผู้พิการทางสติปัญญาในรูปแบบที่มองครอบครัวเป็นศูนย์กลางอย่างเป็น องค์รวม

ขอบคุณ... http://.eduzones.com/content.php?id=190494 .

ที่มา: eduzones.com /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 17 พ.ย. 60
วันที่โพสต์: 17/11/2560 เวลา 11:04:40 ดูภาพสไลด์โชว์ จุฬาฯร่วมสถาบันราชานุกูลและองค์กรต่างๆดันงานวิจัยเพื่อคุณภาพชีวิตผู้บกพร่องทางสติปัญญา