หนุ่มกระเหรี่ยงตาบอดใจดี ยึดคำสอนร.9 ช่วยคนยากไร้

พอลร์ ผู้พิชิตไพร พิการาบอด ใจสู้ยึดคำสอนร.9 สร้างอาชีพและช่วยคนยากไร้

เรื่องจริงของคนใจกุศล...หนุ่มกระเหรี่ยงตาบอด เก็บตัวเงียบนาน 2 ปี ฮึดสู้สานฝันจนจบป.ตรี ผันชีวิตตามคำสอนในหลวงร.9 ช่วยเหลือเด็กยากไร้

ชีวิตของคนๆ หนึ่งที่ต้องประสบพบเจอแต่ความโหดร้าย ถ้าเราไม่เป็นเขา หรือไม่ตกอยู่ในความทุกข์นั้น เราจะไม่มีวันรับรู้ได้ถึงความรู้สึกนั้นเลย เช่น ชาวเขา “ปกาเกอะญอ” หรือหนุ่มชาวกระเหรี่ยงคนนี้ “พอลร์ ผู้พิชิตไพร” วัย 40 ปี ป่วยเป็นโรคเรื้อรังกลายเป็นพิการ “ตาบอดสนิททั้ง 2 ข้าง” เขาจึงต้องสู้...สู้สุดกำลัง

เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย...ที่เกิดขึ้นจากคนสิ้นหวังในชีวิต เขาพลิกชะตาตัวเอง เพียงน้อมนำแนวคำสอนด้านเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเนยถั่วแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ และนำรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือมูลนิธิเด็กยากไร้ เพื่อมอบโอกาสแก่เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ

พอลร์ ผู้พิชิตไพร ชายชาวกระเหรี่ยงในวัยเด็ก

หนุ่มกระเหรี่ยงคนนี้ เล่าให้ฟังว่าตอนอายุ 1-6 ขวบ ครอบครัวอาศัยอยู่กันที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากนั้นคุณพ่อ “ศาสนาจารย์พามอ ผู้พิชิตไพร” ขณะนี้อายุ 72 ปีแล้ว ย้ายมาทำงานที่ ต.สบเปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ บ้านหลังที่อาศัยอยู่ตอนนี้ ซึ่งคุณแม่ “สุวคนธ์ ผู้พิชิตไพร” อายุ 69 ปี และพี่สาว-พี่ชาย ก็จะต้องย้ายตามลงมาด้วย

ในวัยเด็กเขาก็เป็นเด็กชาวเขาทั่วๆ ไป ที่มีความฝันว่าอยากเป็น “นักบัญชี” จึงมุ่งมั่นใช้ความเพียรอย่างที่สุด สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ได้เล่าเรียนวิชาบัญชีอย่างที่หวังไว้ เป็นความภูมิใจเพื่อสร้างฝันให้สำเร็จ แต่มรสุมที่โถมเข้ามาในชีวิต เมื่อปี 2542 ตรงกับวันสุดท้ายของการสอบปลายภาค ชั้นปีที่ 2

จู่ๆ เขามีอาการ “หนักหัว” แต่ก็อดทนสอบทำคะแนนผ่านได้ดี จากนั้นขึ้นปี 3 เพื่อนๆ ก็จะรู้เพียงว่าหยุดเรียนบ่อยครั้ง จนในปี 2544 เวลาล่วงเลยมาถึงจุดที่ต้องกลายเป็น “คนพิการ” อย่างถาวร เขาต้องยุติทุกสิ่งทุกอย่างลง เมื่อดวงตาบอดสนิท เพื่อนๆ ในห้องตกใจว่า “อยู่ๆ ทำไมพอลร์ตาบอด” แล้วที่ผ่านมาที่มานั่งเรียนด้วยกันทุกวัน มองเห็นแค่ 10% เองหรือ???

“วันนั้นเป็นวันสอบปลายภาคปี 3 ตื่นลืมตาขึ้นมาพบว่า ตาขวามองไม่เห็นแล้ว ต้องให้เจ้าหน้าที่อ่านข้อสอบให้ฟัง ผมก็แสดงวิธีทำตามโจทย์ และจะสลับกันแบบนี้จนสอบวันสุดท้ายเสร็จ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอหมอแนะนำว่าลองศึกษาการใช้ชีวิตแบบคนตาบอดดู ในใจก็คิดแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเรา”

ความฝันดับลง...มองไม่เห็นแล้ว เขาเสียใจมากเมื่อรู้ว่าป่วยเป็น โรคเบเซ็ท (Behcet's) อาการเรื้อรังที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เขายื่นใบลาออก เพราะทำใจเรียนต่อไม่ได้ เก็บตัวอยู่แต่ในห้องมากว่า 2 ปี “จิตใจมันไม่อยู่กับเนื้อตัว ทรุดทั้งร่างกายจิตใจ เก็บตัวอยู่แต่ในห้องในความมืด ไกลสุดที่ผมเดินคือห้องน้ำกับเตียงนอน”

สถานสงเคราะห์เด็ก

กระทั่งวันที่ฟ้าเปิด แสงสว่างส่องลงมาถึงจิตใจของ หนุ่มชาวกระเหรี่ยง คนนี้ ในตอนนั้นเขาอายุย่างเข้า 27 ปีแล้ว ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็น “มิชันนารี” นั่งคุยปลอบใจเขา หัวอกคนเป็นพ่อปวดใจไม่น้อยไปกว่าลูก แต่พ่อได้สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกชาย พาเข้าฟื้นฟูจิตใจที่ศูนย์การศึกษาพิเศษเขต 8 จ.เชียงใหม่ ใช้ระยะเวลาเพียง 2 เดือน เขาผลักตัวเองให้หลุดพ้นจากวงเวียนความคิดที่จมอยู่กับอดีตแสนโหดร้าย จนสามารถเป็น 1 ใน 2 คน ที่สอบคัดเลือกผ่านจากคนพิการ 18 คน ได้เข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรี จนจบในวิชาชีพครุศาสตร์บัณฑิต เอกภาษาอังกฤษ

แต่ทว่าสภาพร่างกายไม่พร้อม จึงไม่มีที่ไหนรับเข้าทำงาน ความเป็นจริงกับความฝันมันไม่ได้ไปด้วยกัน เพราะความฝันไปต่อไม่ได้แล้ว “นักบัญชีต้องใช้สายตาจับผิดตัวเลข” ความพยายามจึงถูกปฏิเสธด้วยคำว่า “เดี๋ยวจะติดต่อกลับไป” ซึ่งก็ไม่เคยได้รับการติดต่อกลับมา

พ่อของเขาพูดประโยคนี้ “คนเราถ้าจะอยู่ก็ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์” แม้จะต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม เขาคิดว่าต่อจากนี้จะอยู่ได้อีกกี่ปีถึงจะตาย อายุ 30 กว่าปีแล้ว จะดูแลพ่อแม่อย่างไร ทำให้เห็นอีกมุมหนึ่งของความกตัญญู แม้จะพิการแต่ก็ไม่เคยหายไปแม้แต่น้อย และเขายังมีสติปัญญาที่จะทำอย่างอื่นได้ ในปี 2551 เขาเริ่มจากเครื่องทำน้ำเต้าหู้ที่มีอยู่ในบ้าน ดัดแปลงให้เป็นเตาอบและเครื่องบดถั่ว คิดสูตร “เนยถั่ว” เพราะจะมีนักเรียนอเมริกัน เข้ามาเป็นอาสาละแวกใกล้เคียง และมีมิชันนารีที่เป็นชาวต่างชาติ

มูลนิธิการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะในชีวิต

ที่สำคัญเขาน้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ปรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต “พระองค์ทรงนำเรื่องที่คนอื่นคิดว่ายาก มาทำให้เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ที่มีทุกวันนี้ได้เพราะยึดแนวคำสอนของพระองค์ท่าน รายได้ส่วนหนึ่งก็จะนำไปดูแลเด็กในมูลนิธิ

โดย พอลร์ ยังดูแลมูลนิธิการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะในชีวิต ซึ่งมีเด็กยากไร้ในความดูแลชายหญิงจำนวน 35 คน สอนให้เด็กๆ รู้สึกว่าการให้และการแบ่งปันเป็นสิ่งที่ควรทำ รู้จักทำงานและต้องขยัน ดูแลซึ่งกันและกัน เป็นเสมือนพี่คอยสอนน้องๆ ให้รู้จักหน้าที่มีสัมมาคารวะ เคารพผู้ใหญ่ จบออกไปมีงานทำ เด็กๆ ก็จะกลับมาเยี่ยมมูลนิธิฯ

“ในการใช้ชีวิตทุกวันนี้ ผมยึดในคำสอนในหลวงรัชกาลที่ 9 พวกเราใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการบริหารธุรกิจ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ผมจะใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ เป็นสิ่งที่นำทางให้ก้าวต่อไป ทำให้ผมมีแรงใจที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ ภายใต้ความกดดันมากกว่าคนอื่นครับ”

....................................................

คอลัมน์ : นิยายชีวิตอาทิตย์สไตล์

โดย “ทวีลาภ บวกทอง”

ขอบคุณภาพ : CNXNews

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/article/602821

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 8 ต.ค.60
วันที่โพสต์: 9/10/2560 เวลา 11:09:54 ดูภาพสไลด์โชว์ หนุ่มกระเหรี่ยงตาบอดใจดี ยึดคำสอนร.9 ช่วยคนยากไร้