‘ดร.ขวัญ หารทรงกิจพงษ์’ มุ่งมั่นส่งเสริมสังคมไทยเข้าใจออทิสซึ่ม

‘ดร.ขวัญ หารทรงกิจพงษ์’

คอลัมน์ : รุ่นใหม่ไฟแรง – แม้ความตั้งใจของสาวรุ่นใหม่ไฟแรง ดร.ขวัญ หารกิจพงษ์ ให้คะแนนเต็มร้อยไปที่อยากเป็นล่าม จึงขอคุณพ่อคุณแม่ พงษ์ศักดิ์-อุทัยวรรณ หารทรงกิจพงษ์ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.นครหลวงไทย และอดีต ผอ.อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปเรียนต่อชั้น ม.ปลายที่โรงเรียนโอลด์ฟิลด์ สคูลรัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจในวิชาชีววิทยาและจิตวิทยาเป็นพิเศษ เนื่องจากความตั้งใจอันดับต่อมาอยากเป็นจิตแพทย์ แต่เมื่อไม่ถนัดวิชาฟิสิกส์ในระดับปริญญาตรีจึงเลือกเรียนจิตวิทยา ที่ ม.คาร์เนกีเมลลอน เมืองพิตเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย และด้วยความโชคดีก่อนเข้าเรียนเคยได้ลองเรียนมาก่อน จึงรู้ตัวเองว่าชอบด้านนี้เมื่อได้เข้ามาเรียนจริงยิ่งคลิกมาก

ระหว่างเรียนมีโอกาสพบเด็กๆออทิสติก ที่ป่วยเป็นโรคออทิสซึ่มด้วยความรักเด็กเป็นพื้นฐานและความสงสัยการเกิดโรคในเด็ก จึงศึกษาโรคนี้อย่างจริงจังและทันทีที่เรียนจบปริญญาตรีสาวเก่งคนนี้เรียนต่อปริญญาโทและเอกด้านจิตวิทยาคลินิกที่แคลิฟอร์เนีย โปรเฟสชั่นนอล ไซโคโลจี และเข้าฝึกงานสถานที่ต่างๆตามที่มหาวิทยาลัยส่งไปควบคู่กัน ซึ่งในสถานที่ฝึกงานแต่ละแห่ง ดร.ขวัญ ได้ช่วยดุแลและบำบัดผู้เป็นโรคออทิสซึ่มช่วงนั้นเหมือนได้ทำงานจริง ได้ใช้ทักษะความรู้ที่เรียนมา เพราะสาขาที่เรียนเป็นสาขาที่ต้องทำงานคู่กับคนไข้ ซึ่งยากกว่าที่คิดเพราะต้องใช้ทักษะการพูดคุย ต้องแก้ปัญหาเฉพาะ แต่เมื่อได้ทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้งานว่าต้องเตรียมตัว มีขั้นตอนอย่างไรที่จะรับมือกับคนไข้

เรียนจบ ดร.ขวัญเข้าทำงานเป็นนักจิตวิทยาคลินิก และนักพฤติกรรมบำบัดในโรงพยาบาลเด็ก ที่ซานฟานซิสโก ประมาณ 4 ปี และก่อนตัดสินใจกลับเมืองไทยได้ไปหาความรู้เพิ่มเติมด้านจิตวิทยาสมองและการศึกษาที่ ม.ฮาร์วาร์ด 1 ปี ระหว่างนั้นในช่วงซัมเมอร์กลับมาเมืองไทยจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนๆตั้งชมรมเมืองไทยเข้าใจออทิสซึ่มอะแวเนส ไทยแลนด์ หรือเมืองไทยเข้าใจออทิสซึ่ม ให้คนไทยเข้าใจโรคนี้มากขึ้นและสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม ปัจจุบัน ดร.ขวัญ เป็นกรรมการและที่ปรึกษาให้แก่มูลนิธิเดอะเรนโบว์รูม กลุ่มที่ตั้งโดยคุณพ่อคุณแม่เด็กพิเศษ ใช้การเล่าสู่กันฟังและมีเจ้าหน้าที่ด้านจิตวิทยาให้ความรู้ รวมถึงตั้งศูนย์พัฒนาการเด็กลิตเติ้ลสเปราท์เป็นเสมือนโรงเรียนที่พัฒนาเด็กพิเศษตั้งแต่ขวบครึ่ง-12ปี อาทิ ปัญหาทางพฤติกรรม สมาธิสั้นและให้คำปรึกษาแก่คุณพ่อครูแม่ หลังตั้งศูนย์ฯ มากว่า 1 ปี มีทีมงานครูทั้งชาวไทยและต่างชาติพร้อมหลักสูตรที่ยึดโมเดลจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานมาและเห็นว่าเป็นโมเดลในการบำบัดเด็กฝึกพัฒนาเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเด็กแต่ละคนออกแบบหลักสูตรไม่เหมือนกันแล้วแต่ความต้องการของเด็กๆ

ขณะเดียวกันการทำหน้าที่ยังครอบคลุมไปถึงการเลือกเทรนพนักงานและครูด้วยตัวเองเพราะเราเป็นคนรู้ทุกอย่างก็ต้องค่อยๆ สอนเพื่อจะได้ถ่ายทอดไปสู่เด็กได้อย่างถูกต้อง อาทิ การพัฒนาการระยะแรกเริ่ม กิจกรรมบำบัด การเรียน การอ่าน ฝึกพูด กลุ่มเข้าสังคม กลุ่มการเรียนรู้ กลุ่มเตรียมพร้อมในการเรียน รวมถึงวางเป้าหมายทิศทางของศูนย์ฯ แต่การทำงานเมื่อมาทำเป็นธุรกิจย่อมมีปัญหาเพราะไม่เคยเรียนเรื่องการบริหารการจัดการงานบัญชี เรื่องเอกสารต่างๆ เรียกได้ว่ากว่าจะถึงวันนี้ต้องล้มลุกคลุกคลานพอสมควรภายใต้หลักการทำงานต้องสนุก ต้องรักเด็กเป็นพื้นฐาน การทำงานร่วมกับเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องค่อยๆสอน เวลาดุต้องไม่ดุจากอารมณ์ แต่สอนให้รู้ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ บอกให้รู้ไม่ใช่ให้กลัวการอยู่กับเด็กๆ ต้องใช้ทั้งพลังความคิด พลังใจ และพลังกายมาก ทุ่มเททุกอย่าง หากเหนื่อย พลังงานหมดก็หยุดพักผ่อนเพื่อชาร์จพลัง

ส่วนคุณพ่อให้กำลังใจว่า อยากจะทำอะไรก็ทำให้ดีที่สุด ตัวเรามีความรู้ มีทักษะที่ใครก็ไม่สามารถเอาไปได้ ถ้าสามารถแนะนำอะไรใครได้ก็ทำไป คุณแม่ก็ช่วยแนะนำเรื่องการบริหาร เรื่องบัญชี แต่ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องมากนักเพราะอยากให้ทำเอง สำหรับเป้าหมายในชีวิตอยากให้ศูนย์ลิตเติ้ลสเปราท์อยู่ตัว และนำโปรแกรมนี้ไปสร้างประโยชน์ให้เป็นผลได้มากที่สุด ส่วนชมรมต่างๆ ก้อยากทำกิจกรรมให้มากกว่านี้ เพื่อสร้างความเข้าใจคนในสังคมและการดูแลเด็กๆ ได้อย่างถูกวิธี

ที่มา: เดลินิวส์รายวัน/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 25 เม.ย.56
วันที่โพสต์: 26/04/2556 เวลา 02:12:48 ดูภาพสไลด์โชว์  ‘ดร.ขวัญ หารทรงกิจพงษ์’ มุ่งมั่นส่งเสริมสังคมไทยเข้าใจออทิสซึ่ม