สส.ก้าวไกล ร่วมกิจกรรม “Create an Inclusive Society” เนื่องในวันคนพิการสากล
แนะรัฐเปลี่ยนวิธีคิดต่อคนพิการ จากการ “สงเคราะห์” เป็น “สิทธิ”
สร้างอารยสถาปัตย์-ระบบการศึกษาที่เอื้อต่อทุกคน
เนื่องในวันคนพิการสากล 3 ธันวาคมที่ผ่านมา Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล ได้จัดกิจกรรม “Create an Inclusive Society ร่วมออกแบบสังคมที่ทุกคนใฝ่ฝันไปพร้อมกับ สส.ก้าวไกล” โดยมีตัวแทนจากภาคประชาสังคม กลุ่มคนพิการ และ สส.พรรคก้าวไกล ได้แก่ ศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ สมาชิกกลุ่ม “ก้าวกรีน”, พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สส.กรุงเทพฯ (เขตคลองสามวา) และ สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี (เขต 7) ร่วมแสดงความเห็นและแบ่งปันประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม
ศนิวารเริ่มต้นด้วยการสะท้อนถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคและความท้าทายต่อการดำรงชีวิตของคนพิการในปัจจุบัน ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะทางเท้า ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของคนพิการ 2) การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เช่น เพลิงไหม้ หรือน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันแผนการซ้อมรับมือภัยพิบัติไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนพิการมากนัก และ 3) พื้นที่สีเขียวในเมือง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีเพิ่มเพื่อลดปัญหามลพิษ และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิการ
ในด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอาคารของหน่วยงานรัฐ ศนิวารเสนอว่า ต่อจากนี้ ภาครัฐต้องกำหนด TOR ให้รองรับอารยสถาปัตย์ (Universal Design) และควรอนุมัติเงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไปปรับปรุงโครงสร้างและอาคารเดิมให้เป็นอารยสถาปัตย์ด้วย นอกจากนี้ การจัดทำนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐต่อจากนี้ควรให้คนพิการเข้าไปมีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็น เพื่อสร้างนโยบายที่โอบรับความหลากหลายของทุกคนในสังคม
ในด้านการศึกษา พิมพ์กาญจน์เสนอว่า ปัจจุบันคนพิการเข้าถึงระบบการศึกษาได้ยากลำบาก เพราะมีโรงเรียนที่พร้อมรองรับน้อย โดยจากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง มีเพียง 158 แห่งเท่านั้นที่มีครูการศึกษาพิเศษ และในระดับประเทศมีนักเรียนที่มีความพิการและต้องการช่วยเหลือพิเศษถึง 300,000 คน แต่กลับมีครูการศึกษาพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการเพียง 7,000 คน
พิมพ์กาญจน์ยกตัวอย่างสถิติเกี่ยวกับการเข้าถึงการศึกษาของคนพิการ โดยระบุว่า มีเด็กพิการกว่าร้อยละ 80 จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา แต่เมื่อขึ้นระดับมัธยมศึกษาจะเหลือเด็กพิการเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น และมีเพียงร้อยละ 1 ที่เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเดินทางไปเรียน ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ไปจนถึงความไม่พร้อมของโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา จนกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สร้างบาดแผลและผลกระทบให้กับนักเรียนที่มีความพิการ
สุดท้าย สหัสวัตแสดงความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของคนพิการในสังคมไทยทุกวันนี้คือการที่รัฐมองเห็นคนไม่เท่ากัน มองคนพิการว่าเป็นบุคคลน่าสงสารที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ จนละเลยแง่มุมด้าน “สิทธิ” ที่คนพิการควรจะได้รับในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องปรับวิธีคิดใหม่ โดยต้องทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิและทรัพยากรต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับคนทุกคน
เช่น การออกแบบและสร้างอารยสถาปัตย์ในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้คนพิการไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้วีลแชร์ ผู้พิการทางสายตา หรือผู้พิการทางการได้ยิน สามารถใช้ชีวิตประจำวันบนพื้นที่สาธารณะได้อย่างไม่ติดขัด รวมถึงการสร้างระบบการศึกษาที่เอื้อให้ทุกคนเข้าถึงได้ ทั้งนี้ เพื่อยืนยันในหลักการว่าคนพิการมีศักยภาพ สามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนทุกคน ก้าวสู่สังคมที่โอบรับความหลากหลายร่วมกัน
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
ขอบคุณ... https://shorturl.asia/Yt291