ผู้พิการเล่าชีวิตสุดช้ำ ตีแผ่ช่องโหว่ระเบียบรัฐ หวังร่วมร่างรธน.ใหม่
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (แยกคอกวัว) เขตพระนคร กรุงเทพฯ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ #ConforAll จัดงาน “ConforAll ปักธงส่งต่อ สสร.เลือกตั้ง” ส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เกี่ยวกับการจัดออกเสียงประชามติ เพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ เขียนธงสนับสนุนข้อเสนอ Con for All และการติดสติ๊กเกอร์ทำโพลสำรวจความเห็นว่า ’ท่านเห็นด้วยกับคำถามประชามติที่ประชาชนเสนอหรือไม่‘ นอกจากนี้ ยังมีการออกบูธจากเครือข่ายต่างๆ
บรรยากาศเวลา 16.30 น. มีวงเสวนา “Con for All Talk: รัฐธรรมนูญในฝัน” โดยตัวแทนเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อาทิ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อดีตกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, นายพายุ บุญโสภณ หรือ ’พายุดาวดิน‘ กลุ่มราษฎร โขง ชี มูน และอีสานใหม่, น.ส.พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือดวง กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก, นายฉัตรชัย พุ่มพวง หรือแชมป์ สหภาพคนทำงาน, นายนนทวัฒน์ เหลาผา กลุ่ม We Watch, ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ, น.ส.ลลิตา เพ็ชรพวง โครงการนักนวัตกรรมสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ มูลนิธิโกมลคีมทอง และนายอธิพันธ์ ว่องไว ผู้พิการ ตัวแทนโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา
ในตอนหนึ่งของการเสวนา นายอธิพันธ์กล่าวว่า หลังเลือกตั้งมีคำพูดบนโซเชียลว่า สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ตนรู้สึกดีใจมากพรรคสีส้มชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ความหวังหายไปภายในพริบตา วันนี้ตนอยากมาเล่าว่าตนเป็นผู้พิการรุนแรง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่รัฐไทยไม่สามารถจัดสวัสดิการให้แก่ตน และเพื่อนคนพิการอีกล้านคน
“ประเทศไทยมีคนพิการ 2 ล้านกว่าคน ที่จดทะเบียนกับ พม. โดยมีคนพิการทางการเคลื่อนไหว 1 ล้านกว่าคน มีคนพิการที่ต้องการใช้ผู้ช่วยประมาณ 7 แสนคน เยอะไหม เยอะ ผมพิการตั้งแต่กำเนิด พ่อแม่เลิกกันตั้งแต่พ่อแม่ยังเล็ก ผมอยู่กับยายกับแม่ ผมอาบน้ำเองไม่ได้ ต้องให้ยายให้แม่ช่วยทุกอย่าง ทุกคนทราบไหมว่าตอนที่ผมอยู่กับแม่ ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าผมพิการ เพราะครอบครัวมีความเข้าใจเกี่ยวคนพิการ ทำให้ผมสามารถใช้ชีวิตได้ ให้ผมออกไปเที่ยว ออกไปหาเพื่อนได้
สมัยก่อนยุค 90s ตื่นเช้ามาอยากไปเล่นกับเพื่อน ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองพิการ จนวันหนึ่งแม่เสียชีวิตจากการเป็นโรคซึมเศร้า ผมอายุประมาณ 12-13 ปี ยายต้องหาเงินเลี้ยงผม ไม่มีใครอยากทำผิด แต่เมื่อเศรษฐกิจหรือสวัสดิการไม่ดี เขาต้องเลือกไปทำสิ่งผิดกฎหมาย ด้วยการขายยาเสพติด จนยายติดคุกและเสียชีวิตในคุก” นายอธิพันธ์เผย
นายอธิพันธ์กล่าวว่า ตนต้องมาอยู่กับพ่อโดยที่พ่อไม่เคยดูแลมาก่อน เขาก็พยายามผลักไสทุกอย่าง ให้ไปอยู่กับญาติทางแม่ แต่ไม่ใครเอา ใครจะอยากดูแลคนพิการอย่างตน พอมาอยู่กับพ่อตอนอายุ 13 อยู่มา 5 ปี ตนถึงเข้าใจว่าผู้พิการเป็นอย่างไร
“ออกจากบ้านไม่ได้ กินเยอะไม่ได้เดี๋ยวท้องเสีย แม้ช่วงนั้นเป็นวัยรุ่น แต่เราต้องไปอาบน้ำอยู่หน้าบ้าน หน้าห้องตัวเอง แล้วมีคนเดินผ่าน ความรู้สึกที่เราอาย เราเป็นมนุษย์ที่มีร่างกายเป็นของเราที่ต้องปกป้อง เราต้องอาบน้ำเดือนละครั้ง ไม่สามารถอาบบ่อยได้เพราะไม่มีคนยก ท้องเสียขึ้นมา ต้องรอจนกว่าพ่อกลับมาบ้าน แล้วรอจนกว่าเขาจะมีเวลาทำความสะอาดเรา
เราต้องนอนอยู่กับอุจราระ บางทีทั้งวันทั้งคืน จนวันหนึ่งที่อายุ 18-19 ปี ผมออกมาทำงาน ได้ออกมาใช้ชีวิตอิสระ ผมรู้จักระบบผู้ช่วยคนพิการมีการจัดการอย่างไร มันแตกต่างจากพ่อแม่ดูแลเราอย่างไร ช่วยให้เรามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราอยากอาบน้ำ แปรงฟัน อยากกินกาแฟก็ทำได้ โดยมีผู้ช่วยทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น” นายอธิพันธ์เผย
นายอธิพันธ์กล่าวว่า วันหนึ่งเราต้องเรียนรู้การทำงานหาเงิน เพื่อจ้างให้เขามาช่วย ทุกท่านทราบไหมว่าเราสามารถขอผู้ช่วยจากรัฐได้ แต่ตามกฎหมายระบุว่าต้องมีความยากจน ตนเคยไปขอผู้ช่วย แต่เขาบอกว่าคุณทำงาน ไม่ได้ยากจน คุณสามารถจ้างเองได้
“ต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่นรวมถึงประเทศในยุโรป เมื่อมีผู้พิการ 1 คน รัฐจะมีผู้ช่วยให้ โดยผู้พิการรุนแรงที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ จะมีผู้ช่วย 3 คน ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ประเทศไทยผู้ช่วย 1 คนต้องช่วยผู้พิการ 3 คน แล้วยังไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน
สิ่งที่ผมอยากจะพูดวันนี้ ผมมีคำถามฝากไปถึงหน่วยงานของรัฐ ผมมีคำว่า ถ้าวันหนึ่งผมทำงานไม่ไหวใครจะช่วยผม ถ้าวันหนึ่งผมไม่มีเงินจ้างผู้ช่วย แล้วใครจะดูแลผม ถ้าวันหนึ่งผมแก่ตัว ไม่มีแรงทำงาน ไม่มีเงินใครจะดูแลผม พ่อแม่ผมเสียไปหมดแล้ว” นายอธิพันธ์กล่าว
นายอธิพันธ์กล่าวว่า ตนออกมาวันนี้เพราะอยากมีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ทำทุกคนสามารถเข้าไปเขียนได้ ตนอยากให้ทุกคนคิดว่าถ้าแก่ตัว ไม่มีลูก ไม่ได้ทำงานราชการ ขายของแต่วัน วันหนึ่งแก่ตัวไปไม่มีสวัสดิการอะไร ไม่มีคนดูแล พวกเราต้องอยู่สถานสงเคราะห์หรือ
“มีช่วงหนึ่งผมไม่มีเงิน ท้อกับชีวิต ไม่มีผู้ช่วย เคยโทรไปที่กรมประชาสงเคราะห์ บอกว่ามารับผมไปหน่อย มาช่วยหน่อยผมไม่ไหว เขาบอกว่าสถานสงเคราะห์เต็ม สุดท้ายสวัสดิการผู้ช่วยไม่ได้แก้ให้ผู้พิการอย่างเดียว แต่จินตนาการว่าวันหนึ่งถ้าเราเป็นผู้พิการ เราอาจจะแก่ตัวลง ไม่มีลูกไม่มีหลาน แต่ให้มีลูกมีเต้าเขาก็ต้องทำมาหากิน ซึ่งประเทศเราไม่มีสวัสดิการ แล้วคนหาเช้ากินค่ำล่ะ” นายอธิพันธ์กล่าว
นายอธิพันธ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนจึงอยากให้ระบบผู้ช่วยเกิดได้จริง ไม่ว่าจะสำหรับผู้พิการ หรือไม่พิการ อยากให้รัฐมีสวัสดิการสำหรับมีผู้ช่วยตรงนี้ และสุดท้ายอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่และเลือกตั้ง ส.ส.ร.ใหม่ ทำให้กลุ่มผู้พิการรากหญ้าเข้าไปเป็นตัวแทนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และเลือกตั้ง ส.ส.ร. 100 เปอร์เซ็นต์