สถิติคนพิการและความแตกต่างมิติพื้นที่
๑
ความเสี่ยงพิการเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกครอบครัว ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเป็นผู้ใหญ่และสูงวัย ยิ่งอายุยืนยาวอัตราการพิการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในโลกปัจจุบันมีความก้าวหน้าของข้อมูลสนเทศ จากการจดทะเบียนผู้พิการจำแนกรายประเภทและรายจังหวัดนำมารายงานต่อสาธารณชน ในโอกาสนี้ขอนำข้อมูลสถิติผู้พิการมาวิเคราะห์พร้อมข้อสังเกตและตอบคำถาม เช่น จำนวนผู้พิการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด? อัตราการพิการต่อประชากรแตกต่างกันระหว่างพื้นที่หรือไม่
๒
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลข้อมูลสถิติคนพิการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียงเป็นรายจังหวัดในช่วงเวลา 11 ปี 2555-2565 จำแนกลักษณะการพิการ 9 ประเภท ตั้งแต่การมองเห็น การได้ยิน พิการทางร่างกาย ด้านจิตใจและสติปัญญา ตารางที่ 1 แสดงสถิติคนพิการในภาพรวมพบว่า ก) จำนวนผู้พิการ (ตัวเลขจดทะเบียน) เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจด้วยอัตราการเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 5.3 ต่อปี ข) เกือบ 50% ของผู้พิการ มีปัญหาพิการด้านร่างกาย (การเคลื่อนไหว) รองลงมาคือการพิการด้านการได้ยินหรือสื่อความหมาย และการพิการทางสายตาดังรูปภาพที่ 2
๓
นักวิจัยค้นคว้าต่อไปว่า อัตราส่วนคนพิการ (ต่อประชากรรายจังหวัด) แตกต่างกันหรือไม่? นำมาเรียงลำดับมากน้อย พร้อมกับเสนอข้อสังเกตในรูปภาพที่ 3 แสดง 20 จังหวัดที่มีสัดส่วนผู้พิการมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดลำพูน ชัยภูมิ แพร่ ฯลฯ โดยมีข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน อัตราส่วนระหว่าง 4% ถึง 6%
ในรูปภาพที่ 4 ระบุ 20 จังหวัดที่อัตราส่วนคนพิการน้อยที่สุด สัดส่วน 1.7% ถึง 2.8% 5 จังหวัดที่อัตราคนพิการน้อยกว่า 2% มีห้าจังหวัดได้แก่ภูเก็ต นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ระยอง ปทุมธานี
๔
จากข้อมูลข้างต้นพบว่ามีเรื่องราวที่ควรสืบค้นต่อหลายประเด็นด้วยกัน เช่น การพิการด้านร่างกาย/การเคลื่อนไหวน่าจะเกิดจากสาเหตุอุบัติเหตุจราจรหรือการเป็นโรคเรื้อรัง? และข้อคิดเชิงนโยบาย หนึ่ง แนวทางลดสถิติผู้พิการจะทำได้อย่างไร ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การให้ความรู้ประชาชน การออกกำลังกาย เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค และป้องกันอุบัติภัย สอง ในกลุ่มเด็กพิการ หน่วยงานรัฐ เช่น ศูนย์การศึกษาพิเศษในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานและองค์กรปกครองท้องถิ่น มีส่วนช่วยพัฒนาเด็กพิการได้รับการศึกษาอบรมตามศักยภาพอย่างไร และมีตัวเลขสถิติที่สะท้อนความสำเร็จมากน้อยเพียงใด สาม มาตรการสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐ/เอกชน จ้างงานผู้พิการตามกฎหมายประสบความสำเร็จเพียงใด สี่ การประชาสัมพันธ์ให้สังคมทราบว่า คนพิการสามารถพัฒนาตนเอง มีความรู้ความสามารถและเป็นผู้มีชื่อเสียงทำประโยชน์ให้สังคมได้ นักกีฬาคนพิการไทยได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศในการแข่งขันกีฬานานาชาติจำนวนมาก
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4321835